xs
xsm
sm
md
lg

ททท.จับมือเอกชนปั้นท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(4ม.ค.53)ในวันแรกของการทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)  นายสุรพล เศวตเศรนี  ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) แถลงถึงนโยบายและแผนของการทำงานว่า จะทำงานร่วมกับภาคเอกชนท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยเตรียมจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง ททท.และภาคเอกชน จัดวาระการประชุมและพบปะ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งเพื่อเช็คความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพร้อมแนวทางส่งเสริมและแก้ไขปัญหา  นอกจากนั้น ภายในเดือนก.พ.53 จะตั้งคณะกรรมการแก้ไขปรับปรุงแผนวิสาหกิจประจำปี 2555-2558 รวมถึงปรับแผนวิสาหกิจที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน(2551-2554) ให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

“แผนวิสาหกิจที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นการประมาณการณ์จากสถานการณ์ท่องเที่ยวของปี 2550 ซึ่งเป็นยุคที่ท่องเที่ยวสดใส แต่ปัจจุบัน จากปัจจัยลบรอบด้านทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ โรคระบาด ภัยธรรมชาติ และ สถานการณ์ทางการเมือง ได้กระทบให้พฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป ดังนั้น ททท.จำเป็นต้องปรับแผนให้มีความทันสมัยและมองไปข้างหน้า โดยเนื้อหาหลักๆที่จะเน้นเป็นพิเศษ  คือเรื่องของเป้าหมายการจัดกิจกรรม การโอนถ่ายงานด้านการตลาดไปสู่องค์กรส่วนท้องถิ่น ตามนโยบายการกระจายอำนาจของรัฐบาล”  

ขณะเดียวกันแผนครบรอบ 50 ปีททท.ในปี 2553 จะทำงาน ภายใต้สโลแกน เมืองไทยใครๆก็รัก  มีกิจกรรมแบ่งตามแต่ละฝ่ายงาน เน้นการส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร และ การทำงานเพื่อสังคม เช่น ฝ่ายบริหาร ทำโครงการ กรีนบิวดิ้ง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ดูแลเรื่องตราสัญลักษณ์ และ จัดทำแสตมป์ ฝ่ายสินค้าท่องเที่ยวจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ฝ่ายตลาดในประเทศ จัดทำคู่มือ 50เส้นทางความสุข  จัดทำหนังสือท่องเที่ยวอักษรเบลสำหรับผู้พิการทางสายตา เป็นต้น  ส่วนตลาดต่างประเทศ จัดเมกกะแฟมทริป และงานกาล่าดินเนอร์แก่สื่อมวลชนต่างประเทศ

ในส่วนของแผนปฎิบัติการประจำปี สำหรับตลาดในประเทศ ยังคงให้แต่ละภูมิภาคนำเสนอเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในพื้นที่ของตัวเอง มาเป็นจุดขายในการที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น ภาคกลาง เที่ยวถวิลหาอดีต ภาคตะวันออก เที่ยวสนุกทุกระดับ เป็นต้น  ส่วนกิจกรรมด้านงานส่งเสริมการขายประเภท คอนซูเมอร์แฟร์ จะร่วมกับเอกชนกำหนดจำนวนงานที่จะส่งเสริมการขายในแต่ละฤดูให้เหมาะสม  ภาระกิจงานหลักของ ททท.จะผลักดันเพียง  3 กิจกรรมหลักให้ขึ้นสู่เวิลด์อีเวนต์ ได้แก่ เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษา และ เทศกาลลอยกระทง ส่วนกิจกรรมนอกเหนือจากนี้ ททท.จะเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนตามความเหมาะสม เน้นใช้สื่อที่ททท.มีอยู่แล้วในการช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์  ส่วนกิจกรรมเทศกาลเที่ยวไทย 5 ภาค ปีนี้ อาจลดเหลือไม่ถึง 5 ภาค โดยเลือกเฉพาะภาคที่ต้องการส่งเสริมเท่านั้น

สำหรับแผนปฎิบัติการในตลาดต่างประเทศ  แบ่งตลาดออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ขยาย รักษา และ กู้ฟื้น ซึ่งเป็นการแบ่งตามสถานการณ์ของตลาด ไม่ได้แบ่งตามหลักภูมิศาสตร์ กล่าวคือ กลุ่ม ขยาย คือ ตลาดที่ไม่ถูกกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น  อาเซียน เอเชียใต้ จอร์ห์แดน อิหร่าน  ตลาดรักษา คือ รักษาฐานไม่ให้ลดลง  เช่น โอเชเนีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เวียดนาม และ ตลาดกู้ฟื้น คือตลาดที่ปี 2552 กระทบหนัก เช่น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี  ตลาดนี้มีฐานนักท่องเที่ยวมากประเทศละกว่า 1 ล้านคน แต่ลดลงไปเพราะความไม่มั่นใจในการเมืองของประเทศไทย ซึ่งหากเหตุการณ์ปกติก็จะพลิกฟื้นได้โดยเร็ว  ซึ่งทั้งแผนในประเทศและต่างประเทศเป็นแผนที่ทำต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ตอกย้ำภายใต้สโลแกน อะเมซิ่งไทยแลนด์ และ เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก

***ปีใหม่ท่องเที่ยวเงินสะพัด 3.2 พันลบ.***
นายสุรพล ยังได้สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา โดยตลอด 4 วัน (31ธ.ค.52- 3 ม.ค.53) มีจำนวนนักท่องเที่ยวโทรศัพท์ถามข้อมูลท่องเที่ยวมากถึง 1 หมื่น ราย โดยทุกแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สมุย  เป็นต้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวหน้าแน่น อัตราเข้าพักโรงแรมเฉลี่ย 90% คาดว่า เฉลพาะช่วง 4 วัน เงินสะพัดมากถึง  3.2 พันล้านบาท แบ่งเป็น จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.1 พันล้านบาท และ นักท่องเที่ยวคนไทย 2.1 พันล้านบาท  

ทั้งนี้ จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ในช่วงเดือนธ.ค.52 ที่ทุกพื้นที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงคาดว่าตลอดปีนักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้ 14 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 5.05 แสนล้านบาท  สำหรับปี 2553 หากไม่มีสถานการณ์รุนแรงที่จะเข้ามากระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คาดว่าจะสามารถทำตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติได้สูงถึง 15.5 ล้านคนเติบโตจากปี 2552 ราว 5% สร้างรายได้  6 แสนล้านบาท เพิ่มจากเป้าหมาย ที่ ททท.กำหนดไว้ในแผนว่าปี 2553 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14 ล้านคน รายได้ 5.3 แสนล้านบาท  ส่วนตลาดในประเทศ ยังคงเป้าหมายเดิม คือ 90 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้  4.3 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น