xs
xsm
sm
md
lg

1 ปี โอบามากับการเป็น“สัญลักษณ์แห่งความหวังและการเปลี่ยนแปลง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป็นเวลาเกือบ 1 ปีเต็มแล้วที่ “ บารัค ฮุสเซน โอบามา ที่ 2 ” ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำ ของอภิมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐฯ ในฐานะประธานาธิบดีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกในประวัติศาสตร์ 233ปีของประเทศ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดทั้งปี 2009 ไม่มีผู้นำของโลกคนใดที่จะได้รับความสนใจ จับจ้อง และติดตามจากผู้คนทั่วโลกมากไปกว่าประธานาธิบดีวัย 48 ปีของสหรัฐฯผู้นี้อีกแล้ว
ชัยชนะอย่างถล่มทลายของโอบามา เหนือ จอห์น ซิดนีย์ แม็คเคน นักการเมืองอาวุโสผู้มากประสบการณ์จากพรรครีพับลิกันในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อช่วงปลายปี 2008 และการเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯคนที่ 44อย่างเต็มตัวตั้งแต่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนในสหรัฐฯ ต่างพากันเชื่อมั่นว่า “ยุคแห่งความหวัง และการเปลี่ยนแปลง” ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งภายใต้การนำของโอบามาและพรรคเดโมแครต หลังจากที่ต้องทนทุกข์กับ “ ช่วงเวลาแห่งความขมขื่น”นานถึง 8 ปีเต็มภายใต้การปกครองของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู.บุชแห่งพรรครีพับลิกัน
อย่างไรก็ตาม ในจังหวะที่โอบามาก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ พร้อมด้วยกระแสแห่งความคาดหวังทั้งหลายนั้นก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เศรษฐกิจอเมริกันซึ่งได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในโลกกำลัง “จมปรักดำดิ่งลงสู่หุบเหว” จากผลของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ “ Great Depression ” เมื่อทศวรรษ 1930 เป็นต้นมาเช่นกันจนทำให้มีผู้กล่าวว่าช่วงเวลาของ “การฮันนีมูนอันหวานชื่น”ของโอบามาหลังชนะการเลือกตั้งได้สิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันแรกที่เขาเป็นประธานาธิบดีอย่างเต็มตัว โดยตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา โอบามาต้องเผชิญกับบททดสอบจากปัญหาทั้งภายในและภายนอกประเทศมากมาย เช่น การแก้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย การว่างงาน การปฏิรูประบบประกันสุขภาพ การทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน และการดำเนินนโยบายต่างประเทศในยามที่ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯในสายตาชาวโลกอยู่ในภาวะที่ “ตกต่ำถึงขีดสุด ”จาก “นโยบายอันไม่พึงประสงค์”ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาลบุช
ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันล่าสุดที่จัดทำโดย “แกลลัป โพลล์” ระบุว่า คนอเมริกันขณะนี้มีความเชื่อมั่นในตัวโอบามาลดน้อยลง และยังมีมุมมองในเชิงบวกต่อโอบามาที่ลดน้อยลงอย่างน่าตกใจเช่นกัน โดยผลสำรวจระบุว่า โอบามาเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนจากการประเมินผลงาน “เฉพาะในช่วง 1 ปีแรก” เพียงร้อยละ 53 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นคะแนนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับคะแนนในช่วงขวบปีแรกของผู้นำสหรัฐฯ คนอื่นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เช่น ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู.บุช ที่ได้คะแนนในช่วงขวบปีแรกถึงร้อยละ 87 , ประธานาธิบดีจอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี ได้ร้อยละ 79, หรือแม้แต่อดีตประธานาธิบดีผู้อื้อฉาวอย่างริชาร์ด นิกสันก็ยังได้คะแนนในช่วงปีแรกหลังรับตำแหน่งเมื่อปี 1969สูงถึงร้อยละ 67
นอกจากนั้น ผลสำรวจยังระบุว่าตลอดเวลาเกือบ 1 ปีที่เข้ามาอยู่ในทำเนียบขาว “โอบามาสอบตก” อย่างไม่เป็นท่าในการดำเนินนโยบายหลักใน 3 เรื่อง คือ การปฏิรูประบบประกันสุขภาพซึ่งได้คะแนนจากชาวอเมริกันเพียงร้อยละ 46 , การทำสงครามในอัฟกานิสถานที่ได้คะแนนร้อยละ 46 เช่นกัน, และการดำเนินนโยบายเพื่อควบคุมการใช้จ่ายของภาครัฐฯ ซึ่งโอบามาได้คะแนนเพียงร้อยละ 31 เท่านั้น
ด้านรอเบิร์ต แอล. กัลลุชชี อดีตคณบดีของ “ Edmund A.Walsh School of Foreign Service” แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานของ “มูลนิธิแมคอาร์เธอร์” ในนครชิคาโกระบุว่า แม้ในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา โอบามาอาจจะโดนโจมตีอย่างหนักในหลายประเด็น แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็น “ ผลงานชิ้นโบว์แดง” ของโอบามา คือ การทำให้ชาวอเมริกันรู้สึกว่า ตัวเองมีความปลอดภัยมากขึ้นจากการคุกคามของขบวนการก่อการร้าย และการช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ในสายตาชาวโลกที่ “ต่ำเตี้ยติดดิน” ในสมัยบุช ให้กลับมาได้รับการยอมรับอีกครั้ง ทั้งจากบรรดาชาติพันธมิตรและชาติที่ถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูอย่างอิหร่าน หรือคิวบา ซึ่งผลสำรวจความเห็นของหลายสำนักยืนยันว่าผู้คนในประเทศเหล่านี้ชื่นชมในตัวโอบามา มากกว่าผู้นำคนใดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสหรัฐฯ นอกจากนั้น การแสดงภาวะผู้นำของโอบามาในการผลักดัน “ความตกลงโคเปนเฮเกน” ในช่วงนาทีสุดท้ายของการประชุมสุดยอดสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เพิ่งปิดฉากไปที่เดนมาร์ก ก็ถือเป็นผลงานที่โดดเด่นอีกชิ้นหนึ่งของโอบามาในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน
กัลลุชชียังระบุว่า การกล่าวสุนทรพจน์สำคัญทั้ง 4 ครั้งของโอบามานับตั้งแต่รับตำแหน่ง คือ ที่กรุงไคโรของอียิปต์, กรุงปรากของสาธารณรัฐเชก, กรุงมอสโกของรัสเซีย, และกรุงอักกราของกานา ซึ่งแสดงถึงความตั้งใจจริงของตัวเขาในการถ่ายทอด “Obama Doctrine” ถือเป็นความสำเร็จชิ้นสำคัญอีกประการ เพราะถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่ผู้นำสหรัฐฯ ยืนยันกับชาวโลกด้วยตัวเองว่าพร้อมให้ความสำคัญต่อวิถีทางการทูตและพร้อมร่วมมือกับสหประชาชาติในการแก้ปัญหาต่างๆ แทนการ “ฉายเดี่ยวแบบไม่ฟังเสียงใคร” อย่างในสมัยรัฐบาลก่อนหน้า
ขณะเดียวกัน คงจะไม่ยุติธรรมนักหากผู้นำที่ได้ชื่อว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งความหวังและการเปลี่ยนแปลง” รายนี้จะถูกตัดสินความสำเร็จของการทำงานทั้งที่เพิ่งเข้ามาทำหน้าที่ได้ไม่ถึงปี เพราะขนาดโอบามาเองยังยอมรับกลางรายการทอล์คโชว์ซึ่งมีโอปรา วินฟรีย์ พิธีกรชื่อดังเป็นผู้ดำเนินรายการเมื่อไม่นานมานี้ว่า เขาจะให้คะแนนตัวเองจากผลงานในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมาที่ระดับ “บีบวก” เท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีความสำเร็จใดที่เป็นชิ้นเป็นอันและยังมีงานอีกหลายอย่างที่ต้องก้มหน้าก้มตาทำต่อไป ทั้งการแก้ปัญหาการว่างงาน การปฏิรูประบบประกันสุขภาพ และการพาทหารอเมริกัน “กลับบ้าน”
อย่างไรก็ตาม โอบามาคงจะไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากต้องเร่งสร้างผลงานในระยะเวลาอีก 3 ปีที่เหลืออยู่ในทำเนียบขาวเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นผู้ที่มีความคู่ควรกับการเป็น“สัญลักษณ์แห่งความหวังและการเปลี่ยนแปลง” และเหมาะสมกับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 2009 ที่ได้มาครองแบบน่ากังขา
กำลังโหลดความคิดเห็น