xs
xsm
sm
md
lg

เอาผิดบริษัทน้ำเมา ฟัน 65 คดี ทุกยี่ห้อโดนถ้วนหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สธ.ฟันบริษัทเหล้าทำผิดกฎหมายล็อตแรก 65 คดี สิงห์อ่วม 39 ลีโอ 11 ช้าง 14 อาซาฮี 1 ทั้งปฏิทินหวิว เสื้อ รถยนต์ ลานเบียร์กิจกรรมส่งเสริมการขายมิวสิคเฟสติวัลกางร่มโชว์ยี่ห้อก็โดน ส่วน “น้องตั๊น”ทายาทสิงห์-นางแบบผิดหรือไม่ อยู่ที่ตำรวจสอบสวนต่อ ขณะที่ “หมอสมาน” เผยเตรียมฟันปฏิทินวาบหวิวเบียร์เชียร์รายต่อไป เร่งทยอยฟ้องอีก 400 กรณีที่มีร้องเรียนเข้ามา

วานนี้(21ธ.ค.)ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมคณะอนุกรรมการร่างกฎกระทรวง ประกาศและระเบียบตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และคณะอนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ครั้งที่ 5/2552 เพื่อสรุปผลการพิจารณาความผิดของ บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในกรณีแจกปฏิทินวาบหวิวมีโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบริษัทน้ำเมาอื่นๆ ที่กระทำผิดทั้งหมดส่งมอบให้กับตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)โดยมี ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ และนักกฎหมายร่วมประชุม

นายมานิต นพอมรบดี รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีมติแจ้งความดำเนินคดีอาญาบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรายที่ผิดกฎหมายโฆษณาชัดเจน ครั้งแรก 65 คดี จากทั้งหมดที่มีการร้องเรียน 500 กรณี ประกอบด้วย ปฏิทิน เสื้อ ลานเบียร์ รถ ป้ายโฆษณาประเภทกล่องไฟโดยเฉพาะร้านอาหารตามต่างจังหวัด ป้ายโฆษณาที่เป็นรูปกระป๋องเบียร์ที่ชัดเจน การจัดมิวสิคเฟสติวัลซึ่งมีซุ้มแจกเบียร์ มีร่มที่มียี่ห้อชัดเจน โดยคดีที่ผิดมากที่สุด คือ ป้ายโฆษณาเพราะมีสัญญาลักษณ์และภาชนะที่ชัดเจน ถือว่าเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 วรรค 1 ข้อหาโฆษณาชัดเจน

**ฟ้องกราวรูด 65 คดีโดนถ้วนหน้า

ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและนิเทศศาสตร์ได้เห็นพ้องกันว่า มีข้อมูลยืนยันหนักแน่นเพียงพอสำหรับการสั่งฟ้อง โดยเบื้องต้นได้ดำเนินการทำสำนวนดำเนินคดีกับ 65 คดีก่อน โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 14 ก.พ.2551จนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็นฐานความผิดเรื่องปฏิทิน 2 รายได้แก่ ผลิตภัณฑ์ลีโอ ทั้งปฏิทินของปี 2009 และปี 2010 ฐานความผิดเรื่องลานเบียร์ 5 รายได้แก่ สิงห์ 3 คดี และช้าง 1 คดี อาซาฮี 1 คดี นอกจากนี้ยังมีฐานความผิดการจัดงานมิวสิคเฟสติวัล 2 คดีของสิงห์และช้าง ฐานความผิดด้วยการโฆษณาบนรถยนต์ 5 คดี และเสื้อ 5 คดี และที่พบมากสุด คือ ป้ายไฟนีออนโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 46 คดี แบ่งเป็นสิงห์ 25 คดี ช้าง 12 คดี และลีโอ 9 คดี

“ในส่วนของความผิดของ 400 กว่าคดีที่เหลือ จะดำเนินการแจ้งความเอาผิดกล่าวโทษทางอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นล็อตๆ ต่อไป ขอยืนยันว่า ดำเนินการเอาผิดกับทุกบริษัทเท่าเทียมกัน เพราะในส่วนของปฏิทินยี่ห้อเชียร์ จะดำเนินการแจ้งความต่อไปเช่นกัน แต่ส่วนจะเอาผิดกับเหล่านางแบบ หรือผู้นำปฏิทินเหล่านี้ไปแจกจ่ายอย่างกรณีของน.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี อดีตข้าราชการการเมืองประจำสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนั้น คงเป็นหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะลงลึกในรายละเอียดในชั้นการสอบสวนว่าสาวไปถึงใครที่เกี่ยวข้องบ้าง”นพ.สมาน กล่าว

**ยันปฏิทินหวิวพฤติกรรมชัด

นพ.สมาน กล่าวด้วยว่า การกระทำกิจกรรมกรณีปฏิทิน ถือว่ามีพฤติกรรมความผิด 4 ส่วน ได้แก่ 1. เริ่มจากบริษัทเจ้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบริษัททำปฏิทินจัดแถลงข่าว มีการเผยแพร่ขายและแจก มีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้าให้เกิดมุมมองที่ดีกับสินค้า 2. การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ตอกย้ำแบรนด์ แสดงชื่อยี่ห้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งเนื้อหาปกที่มีชื่อ และในตัวนางแบบอกอันเปลือยเปล่าก็มียี่ห้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีก 3. ต่อมาเป็นการส่งเสริมการขาย สมนาคุณให้ลูกค้า ทำให้เพิ่มยอดการขาย เพราะมีการส่งเสริมการขายที่ชัดเจน และ 4.การจัดสนับสนุนให้มีกิจกรรมพิเศษ เพื่อตอบแทนลูกค้าในปีใหม่

“ทั้งนี้ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าดำเนินการอะไรได้บ้างหรือไม่ได้ ขณะนี้อยู่ที่เลขาธิการสำนักงานคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งคาดว่าเร็วๆนี้จะมีผลบังคับใช้ ในร่างดังกล่าวจะมีรายละเอียดที่ชัดเจนว่า บริษัททำอะไรได้บ้าง

ด้าน ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กล่าวว่า การพิจารณาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ส่วนใหญ่ผิดตามมาตรา 32 เพราะหากยึดตามนิยามศัพท์ใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ การทำปฏิทินถือเป็นการโฆษณาโดยตรง ลึกยิ่งไปกว่านั้นหากมีการจัดกิจกรรมก็เข้าข่ายเป็นความผิด ส่งเสริมการขาย ซึ่งโดยสามัญสำนึกของประชาชนทั่วไปการทำปฏิทินเท่ากับเป็นการโฆษณาอยู่แล้ว และหากมีการลดแลกแจกแถมถือว่ามีความผิดตามมาตรา 30(5) ด้วย โดยทั้งหมดต้องดำเนินคดีทางอาญา หากผู้ประกอบการยังยืนยันว่า ไม่ผิดกฎหมายหรือยังไม่เข้าใจ เมื่อเป็นกฎหมายใหม่ก็ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“นักธุรกิจต้องทำความเข้าใจ ไม่ใช่หาประโยชน์จากการสูญเสียทางสังคม รวมทั้งต้องรู้จักรับผิดชอบต่อสังคมด้วยไม่ใช่ค้ากำไรเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาชีพการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางพุทธศาสนาถือเป็นมิจฉาอาชีวะ เป็นอาชีพที่ไม่ดีอยู่แล้ว”ศ.นพ.วิฑูรย์กล่าว

**ชี้สังคมต้องต้านผลิตภัณฑ์

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในเดือนมกราคมปี 2553 จะเชิญผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทโฆษณา เข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกันกำหนดจริยธรรม เพื่อเป็นการใช้มาตรการทางสังคมในการควบคุมกำกับพฤติกรรม เช่น หากยังมีการทำความผิดซ้ำๆ ภาคประชาสังคมต้องเข้มแข็ง อาจใช้วิธีการบอยคอตไม่ซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นก็ได้ เนื่องจากจะใช้กฎหมายอย่างเดียวคงไม่ได้ นอกจากนี้ยังหารือกับต้นสังกัดของดารา นางแบบ ให้มีการตักเตือนดูแลกัน และให้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดกับเด็ก เยาวชน และสังคมด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมานิตได้มอบสำนวนให้กับพ.ต.ท.ดนุ กล่ำสุ่ม รองผู้กำกับกลุ่มงานกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ตัวแทนของ สตช.ที่เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ พ.ต.ท.ดนุ กล่าวว่า กรณีความผิดทั้งหลายจะดำเนินการแจ้งความเอาผิดตามพื้นที่ที่เกิดเหตุ แต่ในส่วนของปฏิทินที่พบความผิดหลายพื้นที่อาจมีการดำเนินการทำเป็นสำนวนกลางเอาผิดอีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น