xs
xsm
sm
md
lg

‘โอบามา’ชูนโยบายการต่างประเทศแบบสัจนิยม-เสรีนิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการกล่าวสุนทรพจน์รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2009 อย่างเป็นทางการที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์เมื่อวันพฤหัสบดี(10) ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯได้ประกาศให้ทราบกันอย่างชัดเจนถึงทัศนะของเขาที่มีต่อโลก เนื้อหาของสิ่งที่เขาพูดออกมาทำให้สมควรจัดเขาเข้าอยู่ในพวกที่มีแนวคิดแบบนักสัจนิยม(realist) และนักสากลนิยมชนิดเสรีนิยม (liberal internationalist ) ซึ่งเป็นสกุลความคิดที่มีอิทธิพลครอบงำนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา –อย่างน้อยก็จวบจนกระทั่งถึง “สงครามระดับโลกเพื่อต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย” ของประธานาธิบดีอเมริกันคนก่อนหน้าเขา
จากการกล่าวยืนยันในพิธีอันทรงเกียรติดังกล่าว ว่า “ปีศาจร้ายมีตัวตนอยู่ในโลกเราจริงๆ” และ “ย่อมจะมีหลายๆ ครั้งที่ชาติต่างๆ พบว่าการใช้กำลังไม่เพียงเป็นสิ่งจำเป็นเท่านั้นหากยังมีความชอบธรรมในเชิงศีลธรรมอีกด้วย” โอบามาก็กำลังสะท้อนเสียงเพรียกแบบสัจนิยม ซึ่งเป็นที่โปรดปรานเป็นพิเศษมานานแล้วของพวกผู้วางนโยบายชาวพรรครีพับลิกัน

ขณะเดียวกัน การที่เขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างบรรดาสถาบันระหว่างประเทศ ซึ่งออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้ป้องกันสงคราม (โดยที่เขาชี้ว่า ความคิดเช่นนี้เองที่ทำให้ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน ของสหรัฐฯได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเช่นกัน) ตลอดจนเพื่อใช้ “พิทักษ์คุ้มครองสิทธิมนุษยชน, ป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, จำกัดอาวุธที่มีอันตรายร้ายแรงที่สุด” ก็เป็นการก้องกังวานหลักความเชื่อแบบนักสากลนิยมชนิดเสรีนิยม ซึ่งบรรดาประธานาธิบดีอเมริกันที่เป็นชาวพรรคเดโมเครตนับตั้งแต่วูดโรว์ วิลสันเป็นต้นมาทีเดียว ต้องแสดงความเชื่อถือศรัทธา อย่างน้อยก็ในทางวาจา

การที่เขาอ้างอิงคำพูดของ จอห์น เอฟ เคนเนดี ซึ่งเห็นกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้ที่นำเอา 2 สำนักคิดนี้มาผสมผสานเข้าด้วยกัน เป็นต้นว่า ในช่วงที่สุนทรพจน์ของโอบามาพูดถึง การทำงาน “เพื่อไปสู่สันติภาพ ชนิดที่มุ่งผลในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น และไปให้ถึงได้จริงๆ มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้โดยมิใช่อาศัยการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของมนุษย์อย่างฉับพลันทันควัน หากแต่อิงอยู่กับการวิวัฒนาการในสถาบันต่างๆ ของมนุษย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป” การกล่าวเช่นนี้สร้างความกระจ่างชัดเจนขึ้นมาว่า ในบรรดากิจการทั้งหลายของโลกนั้นโอบามาคิดว่าอะไรเป็นภารกิจสำคัญที่สุดของเขา ซึ่งก็คือ การทำให้เกิด “การวิวัฒนาการในสถาบันต่างๆ ของมนุษย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป” นั่นเอง ทั้งนี้ในสุนทรพจน์คราวนี้ เขายังกล่าวซ้ำถึงสิ่งนี้เพื่อเป็นการตอกย้ำอีกด้วย

ถึงแม้ประมาณครึ่งหนึ่งของสุนทรพจน์นี้ จะถูกอุทิศเพื่อการปกป้องแก้ต่างให้แก่การใช้กำลัง แต่กระนั้น โอบามาก็ได้อาศัยสุนทรพจน์นี้เพื่อทำให้เป็นที่แจ่มแจ้งเช่นกันว่า เขาปฏิเสธไม่ยอมรับส่วนประกอบหลักๆ ของสิ่งที่เรียกกันว่า “ลัทธิบุช” (Bush Doctrine) ซึ่งเป็นชุดหลักการแนวคิดด้านการต่างประเทศที่มีอิทธิพลครอบงำทำเนียบขาว ในช่วงแห่งการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีชาวเทกซัสผู้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยแรกของเขา

ตัวอย่างเช่น นอกจากโอบามากล่าวออกมาอย่างชัดเจนถึงความซับซ้อนทางศีลธรรมซึ่งจะต้องบังเกิดขึ้นจากการหันไปใช้สงครามเป็นหนทางแก้ปัญหาแล้ว เขายังเน้นย้ำถึง “โศกนาฏกรรมของมนุษย์” ที่เป็นผลอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของสงครามอีกด้วย “สงครามในตัวมันเองนั้นไม่เคยเลยที่จะเป็นสิ่งที่รุ่งโรจน์สวยงาม” เขากล่าว “และเราจักต้องไม่ป่าวร้องสรรเสริญสงครามว่าเป็นเช่นนั้นด้วย”

เขายังปฏิเสธหลายต่อหลายครั้งไม่ยอมรับ “ลัทธิข้อยกเว้น” (exceptionalism) ชนิดที่คณะรัฐบาลบุชเคยหยิบยกขึ้นมาแก้ต่างให้แก่การกระทำของตน เป็นต้นว่า ข้ออ้างที่ว่าสหรัฐฯควรได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกจำกัดบีบรัดจากกฎหมาย, สนธิสัญญา, และอนุสัญญาระหว่างประเทศอื่นๆ ซึ่งมีผลผูกมัดชาติอื่นๆ เนื่องจากสหรัฐฯนั้นมีความเหนือกว่าชาติอื่นๆ ในทางศีลธรรม และมีบทบาทอันโดดเด่นไม่เหมือนใครในการเป็นผู้ค้ำประกันสูงสุดของสันติภาพและความมั่นคงแห่งโลก

“อเมริกานั้นไม่อาจยืนกราน หรืออันที่จริงแล้วก็คือไม่มีชาติใดเลย ที่จักสามารถยืนกรานให้ชาติอื่นๆ ต้องกระทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของท้องถนน ทว่าตัวเรากลับปฏิเสธไม่ยอมกระทำตามเสียเอง” เขาระบุไว้ในตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ “เมื่อใดก็ตามที่การใช้กำลังเป็นเรื่องจำเป็น ในเวลานั้นเราก็มีผลประโยชน์ทางศีลธรรมและทางยุทธศาสตร์ที่จะต้องผูกมัดตัวเราเองเข้ากับกฎเกณฑ์ความประพฤติที่ชัดเจนจำนวนหนึ่ง” เขากล่าวในช่วงถัดมาที่เป็นการย้ำยืนยันว่า วอชิงตันจะเคารพยึดมั่นในอนุสัญญาเจนีวา

อีกตอนหนึ่งซึ่งแสดงถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนจาก “ลัทธิบุช” ก็คือ โอบามาปกป้องแก้ต่างอย่างแข็งขันให้แก่ยุทธศาสตร์ของเขา ที่จะคบค้ามีปฏิสัมพันธ์ทางการทูตกับเหล่าศัตรูและประดารัฐบาลที่มีพฤติการณ์เลวทราม

“ผมทราบดีว่าการเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับระบอบปกครองที่กดขี่ ย่อมทำให้การแสดงความโกรธกริ้วอย่างสะอาดหมดจดและอย่างถึงอกถึงใจ ต้องเกิดการบกพร่องขาดเขินไป” เขาบอก “แต่ผมก็ทราบด้วยว่าการใช้มาตรการคว่ำบาตรลงโทษโดยไม่มีการพยายามเข้าให้ถึง(ตัวผู้ก่อปัญหา) การประณามกล่าวโทษโดยไม่มีการถกเถียงหารือนั้น เพียงสามารถเป็นการดำรงสถานะเดิมแบบอัมพาตหยุดนิ่งเอาไว้เท่านั้นเอง (โดยที่ไม่อาจทำให้เกิดการเดินหน้าอะไรได้จริงๆ)”

(เก็บความและตัดตอนจากเรื่องObama embraces realist-liberal tradition โดย Jim Lobeแห่งสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น