xs
xsm
sm
md
lg

ยื้อสอบก๊าซรั่ว!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้ว่าฯระยองถกเครียดกว่า 2 ชั่วโมงหาต้นตอก๊าซรั่วจากโรงงานในนิคมฯมาบตาพุด แต่ก็ยังหาที่มาของปัญหาไม่พบ สั่งตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง โดยให้ตำรวจร่วมตรวจสอบด้วย ด้านกรรมการสิทธิฯแฉ! มีขบวนการดิสเครดิต คกก.4 ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด สอดไส้ผ่านโครงการ วอน "นายกฯ" ช่วยปราม ต่างชาติชะลอลงทุน รอชัดเจนแก้ปัญหามาบตาพุด

เมื่อเวลา 17.20 น.วานนี้ (15 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุวิระ ทรงเมตรา รอง ผบช.ภ.2 พล.ต.ต.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ผบก.ภ.จ.ระยอง นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ชุดตรวจกลิ่นก๊าซได้มีการประชุมคณะทำงานติดตามตรวจสอบกรณีก๊าซรั่วในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง

ภายหลังการประชุมนายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้ออกมาเปิดเผยผลการประชุมว่า คณะทำงานติดตามตรวจสอบเพื่อหาแหล่งที่มาของต้นตอก๊าซรั่วทั้ง 3 ชุด ประกอบด้วย ตัวแทนการนิคมอุตสาหกรรมฯ กรมควบคุมมลพิษ เทศบาลเมืองมาบตาพุด ตัวแทนชุมชน และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ได้ร่วมกันตรวจสอบโรงงานต่างๆ ตามทิศทางลมของวันที่เกิดเหตุก๊าซรั่ว โดยเข้าตรวจสอบโรงงานรวมทั้งสิ้น 17 โรงงานในพื้นที่ต้องสงสัย รัศมี 3 กิโลเมตร แบ่งเป็นโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 12 โรงงาน นอกนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 5 โรงงานแล้ว แต่ยังไม่พบที่มาของก๊าซรั่วดังกล่าว

"คณะทำงานติดตามตรวจสอบดังกล่าวจะยังคงทำการตรวจสอบต่อไป โดยมีเป้าหมายที่เป็นโรงงานในรัศมีใกล้เคียงกับจุดที่ได้รับกลิ่นก๊าซที่หน้าโรงไฟฟ้าโกลว์ ซึ่งจะได้ทำการตรวจสอบให้ลงลึกในรายละเอียดมากกว่าครั้งแรก โดยมีตำรวจร่วมเป็นคณะทำงานติดตามตรวจสอบฯ ทำการตรวจสอบในครั้งนี้ด้วย" นายสยุมพร กล่าว

ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้จะเน้นในด้านการป้องกันมากขึ้น โดยจะมีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจติดตามตรวจสอบกรณีเกิดเหตุก๊าซรั่ว 24 ชั่วโมง พร้อมผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทางชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เริ่มตั้งแต่วันนี้ (15 ธ.ค.) เป็นต้นไปและจะมีการประชุมเตรียมความพร้อมของศูนย์ฯ ดังกล่าวนัดแรกในวันที่ 18 ธ.ค.นี้

ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การดำเนินการตรวจสอบโรงงานนั้นได้วิเคราะห์สาเหตุทางเทคนิค ก็ยังไม่มีบ่งชี้สิ่งผิดปกติ อย่างไรก็ตาม จะดำเนินการสอบสวนรายละเอียดเพิ่มเติมอีก 2-3 แห่ง คาดว่าจะมีประเด็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นที่เกิดขึ้น รวมทั้งประเด็นทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับทางด้านภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศของพื้นที่ ในขบวนการที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้อากาศที่กดต่ำลง ทำให้การระบายก๊าซจากปล่องโรงงานผลิตไฟฟ้านั้นอาจเกิดปัญหาในการที่จะถูกกดอยู่ในระดับพื้นดิน ซึ่งเป็นอีกประเด็นทางด้านเทคนิค ทางการนิคมฯรับที่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลการประกอบการศึกษา

ทางด้าน พล.ต.ต.สุวิระ ทรงเมตรา รอง ผบช.ภ.2 กล่าวว่า จุดที่มีกลิ่นก๊าซมี 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกบริเวณถนนเนินพะยอม ชุมชนบ้านบน เทศบาลเมืองมาบตาพุด ชุมชนบ้านบ้านล่าง และบริเวณถนนไอ 5 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้รวบรวมพยานหลักฐานในทิศทางที่อยู่เหนือลม การเกิดเหตุครั้งนี้ต้องมีผู้รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ฝากประชาชนแจ้งเบาะแส ในวันเกิดเหตุมาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับผ็กระทำผิดได้หรือไม่อยู่ที่ประชาชนแจ้งเบาะแสด้วย

**แฉมีขบวนการดิสเครดิต คกก.4 ฝ่าย

วันเดียวกันที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯด้านสิทธิพลเมือง และสิทธิชุมชน แถลงข่าวกรณีสถานการณ์การแก้ไขปัญหามาบตาพุดว่า คณะอนุกรรมการสิทธิฯมีความไม่สบายใจเนื่องจากได้รับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงว่า ขณะนี้กำลังมีกระบวนการในการแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาแก้ปัญหามาบตาพุด เพื่อหวังดิสเครดิต อีกทั้งยังมีความพยายามบิดเบือนเครื่องมือและกลไกในการแก้ปัญหาจากภาครัฐ นักวิชาการ และนักธุรกิจ ดังนั้น จึงอยากฝากให้นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาช่วยปรามการกระทำที่เกิดขึ้น เพราะจะทำให้คณะกรรมการทั้ง 4 ฝ่ายไม่มีความเป็นอิสระในการทำงาน วางมาตรฐานในการดำเนินการต่างๆให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรค 2

น.พ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าว ในวันอังคารที่ 22 ธ.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสิทธิฯ จะมีการจัดสัมมนาทางวิชาการ โดยจะเชิญนักวิชาการที่มีความรู้เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต คุณภาพชุมชนและฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม นักวิชาการด้านกฎหมาย และชาวบ้านในพื้นที่ เข้ามาร่วมหารือเพื่อหวังสร้างเครื่องมือและกลไกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และภายหลังการประชุมอาจสรุปผลการสัมมนา และหากมีข้อเสนอแนะที่ดีทางคณะอนุกรรมการฯก็จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานต่อไป

“อยากให้รัฐบาลช่วยสร้างบรรยากาศให้เกิดความเป็นกลาง เพื่อให้คณะกรรมการ4 ฝ่ายทำงานได้อย่างอิสระ ไม่ถูกกดดัน ขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะสอดไส้ และมีใบสั่งให้แทรกแซงการทำงานเพื่อให้บางโครงการเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งที่เป็นโครงการอยู่ในหมวดที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุ่นแรงดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องออกมาปรามไม่เช่นนั้นคณะกรรมการ 4 ฝ่ายไม่สามารถทำงานได้ ” นพ. นิรันดร์ กล่าว

**ต่างชาติชะลอลงทุนรอดูความชัดเจน

นายทวิช เตชะนาวากุล เลขาธิการสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติต่างจับตาดูการแก้ไข ปัญหามาบตาพุดอย่างใกล้ชิด ทำให้ชะลอการลงทุน ส่งผลให้ยอดขายที่ดินในนิคมฯ สวนอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมในปีนี้อยู่ 1,200-1,500ไร่ จากเดิมที่เคยสูง ถึง 3000-4000 ไร่ในช่วงปี 2550 แต่หากปัญหามาบตาพุดสามารถแก้ไขได้เร็วภายในไตรมาสแรกปีหน้า เชื่อว่าการขายที่ดินในนิคมฯในปี 2553จะสูงกว่า  1,500 ไร่ แต่หากล่าช้าออกไป การขายที่ดินในนิคมฯปี 2553 คงใกล้เคียงปีนี้

**ทีพีซีหยุดส่วนขยายพีวีซีและวีซีเอ็ม

นายคเณศ ขาวจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้มีการหยุดผลิตในส่วนขยายเพิ่มกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซีและวีซีเอ็มแล้วตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด หลังจากได้รับหนังสือจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้กำลังการผลิตพีวีซีของบริษัทจากเดิมที่ 5 แสนกว่าตัน/ปีเหลือเพียง 4.8 แสนตัน/ปี ซึ่งการปรับลดลงของการผลิตพีวีซีและวีซีเอ็มนี้จะกระทบต่อรายได้บริษัทปีละประมาณ 2-5% จากเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายว่ามีรายได้รวม 2.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าปีนี้บริษัทมีรายได้รวม 2.4 -2.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทได้ตัดสินใจชะลอการลงทุนโครงการเพิ่มกำลังการผลิตพีวีซีอีก 3 หมื่นตัน/ปี จากเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ออกไปเป็นปลายปีหน้าแทน โดยขอรอดูความชัดเจนแนวทางการแก้ไขปัญหามาบตาพุดก่อน เนื่องจากโครงการนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น