“มาร์ค” ยันรัฐหนุนมติสมัชชาสุขภาพเต็มที่ แถม ปลื้ม สมัชชาสุขภาพช่วยแก้ปัญหามาบตาพุด ชี้ปัญหาวิกฤตบ้านเมืองทุกฝ่ายควรมีส่วนร่วม
วันที่ 16 ธันวาคม ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2552 ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับผลการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างจริงจัง แม้ว่าอาจจะไม่สามารถทำตามข้อเสนอสมัชชาแห่งชาติได้ครบ 100% แต่จะติดตามดูแลว่า อะไรเป็นอุปสรรค์ด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งแนวคิดจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติสามารถนำไปสู่การจัดทำนโยบายในการบริหารจัดการประเทศไทย เช่น การจัดทำงบประมาณ การทำนโยบายเข้าถึงยา การแก้ปัญหาเรื่องเอดส์ ซึ่งรัฐบาลจะเอาแนวคิดต่างๆ ไปขยายผลและทำเป็นนโยบายในการบริหารประเทศต่อไป
“ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ประสบปัญหาวิกฤต ทั่วโลกพบปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความไม่เป็นธรรมในการใช้ทรัพยากร เหตุจากสังคมกำลังปรับไปสู่สังคมเมือง สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับประเทศไทยยังมีวิกฤตทางความคิด โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ทำให้เกิดปัญหาในการพัฒนาเรื่องต่างๆ ซึ่งรัฐบาลจะพยายามคลี่คลายปัญหาให้เร็วที่สุด” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ต้องขอบคุณ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้ยกร่างหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งนำไปสู่กระบวนการพัฒนาสุขภาพคนไทยต่อไป ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ก๊าซรั่วในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นการตอกย้ำการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ได้ผล แต่ไม่มีความท้าท้ายใดที่สังคมจะแก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่จะระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเชื่อว่า กลไกของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จะทำให้เกิดกลไกแก้ปัญหาได้
“การแก้ปัญหา ทุกฝ่ายจำเป็นต้องมีความไว้วางใจในการใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นยังพบว่า เมื่อมีมุมมองที่ต่างกันก็เกิดความหวาดระแวงในการใช้ฐานข้อมูล ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองดังกล่าว เพราะข้อมูลที่เกิดขึ้นเป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย มีความน่าเชื่อถือ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 กล่าวว่า ในการจัดงานครั้งที่ 1 เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า มีความท้าทาย สำหรับการจัดงานในปีนี้ 3 อย่างคือ 1.การพัฒนาให้ผู้เข้าร่วมมีความเป็นผู้แทน ไม่ใช่ตัวบุคคล 2.การพัฒนานโยบายสาธารณะให้มีความคมชัด สามารถปฏิบัติได้จริง และ 3.การพัฒนาศักยภาพของผู้แทนกลุ่มเครือข่ายให้สามารถจัดกระบวนการสมัชชาสุขภาพในระดับพื้นที่ หรือเชิงประเด็นได้อย่างมีระบบมากขึ้น
“ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงสาธารณสุข ได้เห็นความสำคัญของเวทีสมัชชาสุขภาพ มีการผลักดันร่างยุทธศาสตร์จัดการปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ช่วยผลักดันในเชิงนโยบายให้เกิดการปฏิบัติได้จริง ไปพร้อมกับการทำงานต้นสังกัดอย่างกระทรวงสาธารณสุข”นพ.สุวิทย์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ได้มีการเสนอร่างมตินโยบายสาธารณะ 11 ประเด็น จากทั้งหมด 115 ประเด็น ประกอบด้วย 1.พัฒนากลไกการมีส่วนร่วมเพื่อสุขภาวะของเด็ก เยาวชนและครอบครัว 2.โรคติดต่ออุบัติใหม่ 3.พัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง 4.การพัฒนาระบบบริหารปฐมภูมิเพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพของประชาชน 5.การจัดการขยาดอันตรายจากชุมชนอย่างมีส่วนร่วม 6.การพัฒนาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกให้เป็นระบบบริการสุขภาพหลักของประเทศคู่ขนานกับการแพทย์แผรปัจจุบัน 7.การแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน 8.ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้ป่วย 9.แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ 10.การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และ 11.ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ