ศูนย์ข่าวศรีราชา- โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา เผยตัวเลขผลประกอบการปี 52 ทะลุหลักพันล้านบาท โดยผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจไม่น้อยกว่า 10-12% ประกาศเดินหน้าลงทุนปี 53 อีกไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ และเตรียมเปิดศูนย์มะเร็งครบวงจรแห่งแรก หลังพบอัตราการป่วยด้วยโรคมะเร็งของคนในพื้นที่มีมากขึ้น
นายแพทย์ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมคณะผู้บริหารแถลงถึงผลการดำเนินงานในปี 2552 ว่า นอกจากจะประสบผลสำเร็จในแง่การดำเนินนโยบายตามเป้าหมาย ทั้งในเรื่องงานบริการ การพัฒนาเจ้าหน้าที่และการรักษาพยาบาลจนได้รับ 7 รางวัลสถานประกอบการที่มีการบริหารจัดการดีเด่นจากองค์กรต่างๆ
เช่น การรับรองมาตรฐานระดับสากล JCI (Joint Commission International Accreditation) ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกนอกกรุงเทพฯและแห่งแรกในภาคตะวันออกที่ได้รับ รางวัลกระบวนการคุณภาพโรง พยาบาล หรือ HA (Hospital – Accreditation) รางวัล PM Award 2009 ((Prime Minister’s Export Award) รางวัลประกาศเกียรติคุณ Best Service Providerฯลฯ
ขณะที่ตัวเลขรายได้จากการดำเนินธุรกิจยังพุ่งทะลุหลักพันล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตของยอดผู้ป่วยนอกที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 6% ส่วนผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจก็มีไม่น้อยกว่า 10-12% ของยอดรายได้ทั้งหมด ทำให้ในปี 2553 โรงพยาบาลฯวางเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพการรักษา ด้วยการทุ่มงบประมาณไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือสำหรับตรวจความผิดปกติของกระเพาะอาหารด้วยวิธีการส่องกล้องที่ไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย เครื่องมือส่องกล้องสำหรับการผ่าตัดโดยที่คนไข้ไม่เจ็บตัว และยังเตรียมจัดซื้อรถกู้ชีพเพิ่มเติม หลังพบว่าศูนย์อุบัติเหตุที่เพิ่งเปิดให้บริการครบวงจรในปี 2552 สามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้น ยังมีแผนเปิดให้บริการศูนย์รักษาโรคมะเร็ง ซึ่งจะเป็นศูนย์รักษาที่ครบวงจรแห่งแรกในภาคตะวันออก ซึ่งจะเป็นทั้งศูนย์ให้ความรู้แก่ชุมชนในการป้องกันตนจากโรคมะเร็งจากปัญหามลพิษ การดูแลชุมชนในเบื้องต้นก่อนสายเกินไปและการให้บริการรักษาภายใต้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ปัจจุบันโรงพยาบาลฯมีถึง 4 ท่าน โดยศูนย์ดังกล่าวเกิดจากผลการวิจัยที่พบว่า ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกมีแนวโน้มการป่วยด้วยโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น ทั้งจากปัญหามลพิษในพื้นที่และจากการใช้ชีวิตประจำวัน
ส่วนการเพิ่มศักยภาพในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือความต้องการพบแพทย์ในระยะปัจจุบันทันด่วนของผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ปัจจุบันนอกจากโรงพยาบาลจะมีเครือข่ายในการรักษาพยาบาลและส่งตัวผู้ป่วยทางอากาศถึง 14 โรงพยาบาลแล้ว สมิติเวช ศรีราชา ยังได้เตรียมพื้นที่ฉุกเฉินสำหรับลงจอดเฮลิคอปเตอร์ไว้ที่บริเวณค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลฯอีกด้วย