xs
xsm
sm
md
lg

พิษมาบตาพุดลามอสังหาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ผู้อุปถัมภ์หลัก’วัดพระธรรมกาย’ “อนันต์ อัศวโภคิน” หยิบเคสมาบตาพุดกระทบชิงโครงการจัดสรร ระวังสวล.จะยึดเป็นบรรทัดฐานเข้มหนักโครงการต่างๆ พิจารณานานกระทบต้นทุน ยันอีก3 ปี รายใหญ่ครองตลาดสูงถึง 70% รายเล็กลูกเมียน้อย แบงก์มองข้ามหัว เจ้าตลาดคอนโดฯเชื่อปี “เสือ”ตลาดอาคารชุดบูมต่อ

นายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH กล่าวถึงตลาดอสังหาฯในปี 53 ว่า วิกฤตรอบนี้ต้องบอกว่าระบบการเงินของไทยยังแข็งแรง แตกต่างจากระบบการเงินของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยยังไม่เลวร้ายนัก แต่เชื่อว่าสถานการณ์ตลาดอสังหาฯจะยังไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็ม เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งสถานการณ์ทางการเงินของสหรัฐฯ ที่ต้องการเงินมาใช้หนี้มากถึง 3.2 ล้านล้านเหรียญ หรือวิกฤตที่เกิดขึ้นในดูไบ

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าจับตามองในปีหน้าสำหรับธุรกิจอสังหาฯของไทย คือ ความเข้มงวดของการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สวล.) ของผู้ประกอบการจะมีมากขึ้น เนื่องจากกรณีของมาบตาพุดจะกลายเป็นบรรทัดฐาน ที่ทำให้คณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องสวล.นำมาเป็นหลักในการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการ ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนของการยื่นสวล.มีระยะเวลาที่นานขึ้น

“ สำหรับการทำตลาดของผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลาง คงจะยากมากขึ้น เพราะกลุ่มสถาบันการเงินจะหันมาปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่แทน พร้อมจูงใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยต่ำระยะยาว ทั้งเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำระยะยาวให้กับรายใหญ่ด้วย ผู้ประกอบการรายใหญ่จึงมีความสามารถในการลงทุนซื้อที่ดินได้ไม่น้อยกว่าปีละ 5 พันล้านบาท มีความสามารถในการเปิดตัวโครงการใหม่ได้ปีละไม่น้อยกว่า 20 โครงการ จึงเป็นเรื่องยากที่บริษัทขนาดเล็ก ขนาดกลางจะต่อสู้ได้ ซึ่งคาดว่าในอีก 3 ปีผู้ประกอบการรายใหญ่จะกินส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 70%”

 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง ต้องปรับตัวหันหานิช มาร์เก็ต และควรเริ่มศึกษาระบบการก่อสร้างแบบสำเร็จรูป(พรีแฟบ) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับรายใหญ่ได้ รวมถึง การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ เพื่อสร้างความคล่องตัวในการบริหารจัดการงาน เพราะหากรูปแบบ(ดูโมเดล)การเติบโตของผู้ประกอบการรายใหญ่ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ล้วนแล้วแต่เติบโตได้จากการลงทุนเทคโนโลยีอย่างมหาศาลในการบริหารจัดการองค์กร

ฟันธงคอนโดฯปี 53บูมต่อ 
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN กล่าวว่า ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของแอล.พี.เอ็น.ฯ แต่ยอมรับว่าเป็นปีที่เหนื่อยมาก เพราะสถานการณ์พลิกผันตลอดเวลา ต้องปรับตัวตลอดเวลา และระมัดระวังมาก เพราะคาดการณ์สถานการณ์ได้ยากมาก หากย้อนกลับไปมองเมื่อต้นปี 2551 ทุกคนมองกันว่าจะเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่หรือไม่ แต่กลับมีปัจจัยที่ไม่คาดการณ์ไว้ คือ ราคาวัสดุปรับตัวสูงขึ้นมาก และราคาน้ำมันทะลุเกินความคาดหมาย ทำให้คาดการณ์ตลาดเพื่อบริหารสต๊อกได้ยาก ประกอบกับกลางปีที่แล้วเกิดวิกฤตการเงินโลก ตลาดจึงชะลอตัวลง ผู้ประกอบการที่ปรับตัวอย่างรวดเร็วเท่านั้นจึงอยู่รอด
 
สำหรับปีนี้ ตัวเลขผู้เข้าเยี่ยมโครงการลดลงเล็กน้อย แต่อัตราการตัดสินใจต่ำมาก เพราะผู้บริโภคมองว่า
ราคาอสังหาฯน่าจะลดตัวลง สะท้อนให้เห็นว่า ความต้องการยังมี แต่ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจลงอย่างมาก แต่ในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้น และปัจจุบันถือว่าเข้าสู่สภาวะปกติ วัดจากยอดขายของคอนโดฯของบริษัทฯ 2 โครงการ คือ โชคชัย 4 และปิ่นเกล้า ที่ได้รับการตอบรับที่ดี สามารถปิดการขายได้ตามเป้าหมาย
แนวโน้มตลาดในปีหน้าจึงเชื่อว่าตลาดคอนโดฯจะปรับตัวดีขึ้นจากปีนี้มาก เพราะความต้องการที่อยู่อาศัยในเมืองยังมีสูง ในขณะที่ปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ผันผวน ยังสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความต้องการที่อยู่อาศัยจากโครงการแนวราบสู่แนวสูง
 
อย่างไรก็ตาม การที่ปัจจัยทางการเมืองยังเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อบรรยากาศการซื้อขาย เศรษฐกิจและการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ซึ่งหากปัจจัยทางการเมืองนิ่งตามการคาดการณ์ ตลาดก็จะเติบโตได้ตามการคาดการณ์เช่นกัน
 
ด้านนายวิษณุ สุชาติล้ำพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ AP กล่าวว่า หลังจากเดือนเมษายนปีนี้ สถานการณ์เริ่มดีขึ้น และยอดขายเริ่มกลับมา โดยเฉพาะโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ยอดขายในช่วงไตรมาส 3 ถือว่าดีมาก และเชื่อว่าจะขายดีต่อเนื่องในไตรมาส 4 ซึ่งสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างวางแผนเปิดโครงการใหม่จำนวนมาก
แต่ปัจจัยเรื่องการเมือง กรณีมาบตาพุด และปัจจัยนอกประเทศ ดูไบ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ก็ยังเสี่ยง ถ้าจีดีพีปีหน้าไม่เป็นไปตามคาดการณ์ที่จะเติบโต 2.7-3.5% อาจต้องคิดหนัก
 
อย่างไรก็ตาม หากมีวิกฤตรอบใหม่ในปีหน้า เชื่อว่าตลาดจะไม่ล้มเหมือนในยุคปี 2540 เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ 7-8 บริษัทที่วางแผนจะเปิดตัวโครงการจำนวนมาก มีหนี้สินต่อทุนต่ำ หากมีวิกฤตอีกครั้ง เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง ใช้ราคาที่ต่ำมาทำตลาด หากขายไม่ได้ตามเป้าหมาย กำไรลดลง ก็ไม่กระทบหนัก เพราะยังอยู่ได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น