xs
xsm
sm
md
lg

กม.ภาษีที่ดินถึงมือ‘กรณ์’ ชงครม.เดือนหน้ าอัตราจัดเก็บสูงสุด 0.5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – สศค.เผยร่างกฎหมายภาษีที่ดินถึงมือรมว.คลังแล้ว คาดเสนอครม.ได้ต้นปีหน้า ยันเก็บที่ดินเชิงพาณิชย์สูงสุดไม่เกิน 0.5% ผ่อนปรน 2 ปี สำหรับเอ็นพีเอสถาบันการเงินหากขายไม่ได้เจอภาษี 0.5% แน่นอน

นายลวรณ แสงสนิท รักษาการ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่าง พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ว่า สศค.ได้ส่งร่างกฎหมายที่ปรับปรุงสมบูรณ์ให้กับนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังแล้ว โดยคาดว่าน่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ประมาณเดือนมกราคมปีหน้า ซึ่งในส่วนของฐานการจัดเก็บภาษีที่ดินเชิงพาณิชย์ยังคงอัตราไว้ที่สูงสุดไม่เกิน 0.5% แม้ว่าจะมีบางพื้นที่มองว่าจะทำให้การจัดเก็บรายได้ในท้องถิ่นลดลง แต่คณะทำงานได้พิจารณาแล้วเห็นว่า 0.5% เป็นอัตราที่เหมาะสม ในพื้นที่ที่มีรายได้ลดลงอาจจะยังไม่รวมมูลค่าเครื่องจักร หากรวมเข้าไป เชื่อว่าจะไม่ทำให้รายได้ท้องถิ่นลดลง

นอกจากนี้ สำหรับที่ดิน 1 แปลง แต่ใช้ประโยชน์หลายประเภท เช่น เปิดเป็นร้าค้าและที่อยู่อาศัย จะจัดเก็บภาษีตามประเภทการใช้สอย 1 ส่วน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะทำหน้าที่เป็นผู้ประเมิน ซึ่งอาจจะยุ่งยากในปีแรกเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องใหม่ ส่วนเจ้าของที่ดินที่ใช้เช่าพื้นที่เพื่อทำการเกษตร จะเสียภาษีในอัตราพื้นที่การเกษตรคือ 0.05% โดยเจ้าของที่ดินเป็นผู้ยื่นเสียภาษี ขณะที่รายได้จากการให้เช่าพื้นที่นั้นๆ จะถูกรวมในการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับที่ดินของสถาบันการเงินที่ยึดมาจากการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน กำหนดระยะเวลาผ่อนปรน 2 ปี เพื่อให้มีเวลาขายทอดตลาด หากไม่สามารถดำเนินการได้ภายในเวลากำหนดจะต้องเสียภาษีในอัตราที่ดินรกร้างว่างเปล่าในอัตรา 0.5% ขณะที่ฐานภาษีของที่ดินรกร้างว่างเปล่าจัดเก็บในอัตราเดิมคือ 0.5% และหากยังไม่ใช้ประโยชน์ใน 3 ปีจะปรับ 2 เท่า แต่สูงสุดไม่เกิน 2% ของฐานภาษี ซึ่งรวมถึงที่ดินรอการพัฒนา(แลนด์แบงก์)ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วย เนื่องจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่ควรเก็บสะสมที่ดินเปล่ามากเกินไป

“ประเด็นที่ใช้เวลาหารือกันนานคือ การหักค่าเสื่อมราคา ซึ่งทางสศค.มีแนวคิดว่าจะให้หักค่าบำรุงรักษาปีละ 1% สูงสุดไม่เกิน 10% แต่คณะทำงานเห็นว่าจะยุ่งยาก เพราะไม่มีหลักการรองรับ จึงให้กลับไปใช้หลักการของกรมที่ดิน ซึ่งมีหลักการที่ชัดเจนกว่า”นายลวรณกล่าวและว่า หากพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะต้องใช้ระยะเวลาปรับตัวไม่น้อยกว่า 2 ปี เพราะต้องรอการประเมินที่ดินรายแปลง 30 ล้านแปลงของกรมธนารักษ์ให้เสร็จสมบูรณ์ด้วย ซึ่งอาจจะล่าช้า เพราะกรมธนารักษ์ยังขาดแคลนเจ้าหน้าที่และงบประมาณ
กำลังโหลดความคิดเห็น