xs
xsm
sm
md
lg

แผนเช็กผลงานส.ว.ส่อแห้ว รองปธ.วุฒิฯอ้างสิทธิบุคคล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เตรียมเสนอให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดทำระบบฐานข้อมูลการเข้าประชุม และการลงมติของส.ว.ทุกคน และการเผยแพร่ต่อสาธารณะแบบเรียลไทม์ ทางเว็บไซต์หลังจากมีการลงมติในการประชุมแต่ละครั้ง เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบประเมินการทำงานของส.ว.นั้น
เมื่อวานนี้ ( 9 ธ.ค.) นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาตนได้รับมอบหมายจากนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ให้พัฒนาระบบฐานข้อมูลการทำงานของส.ว. ซึ่งก็ได้พัฒนาไประดับหนึ่งแล้ว สามารถตรวจสอบผลงานของส.ว.ได้ที่เวบไซต์วุฒิสภา www.senate.go.th
ส่วนข้อเสนอที่จะให้ต่อยอดการพัฒนาฐานข้อมูล ลงลึกถึงการมาประชุมและการลงมติเป็นรายบุคคล ในแต่ละเรื่องนั้น เป็นเรื่องดีเพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบการทำงานของส.ว.ได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าอาจจะมีส.ว.บางคนไม่อยากเปิดเผย ฉะนั้นหากยื่นเรื่องมาตนก็จะนำมาหารือกับสมาชิกทั้งหมดก่อน ถ้ายอมก็สามารถเชื่อมข้อมูลได้เลย เพื่อแสดงเป็นตารางผลการปฏิบัติงานของสมาชิก เพราะปกติการลงมติแต่ละครั้ง ก็มีสถิติและเปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้ว
นายนิคม กล่าวต่อว่า ส่วนถ้ามีการจัดทำแล้วและจะนำไปขยายผลเรื่องการประเมินงานของส.ว.กับการขึ้นค่าตอบแทน หรือการตัดเงินคนที่ขาดประชุม ตนคิดว่าไม่น่าจะถูกต้อง เพราะบางคนก็ลาป่วย หรือมีเหตุอันควร ก็เป็นสิทธิ จึงไม่ควรถูกตัดเงิน แต่ถ้าไม่มีใบลา ข้อบังคับและประมวลจริยธรรมของวุฒิสภา ก็มีอยู่แล้วว่าขาดกี่ครั้ง มีบทลงโทษอย่างไร
"การจัดทำฐานข้อมูลการมาประชุม และการลงมติแต่ละครั้งรายบุคคล สามารถทำได้ และเป็นเรื่องดี แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องคิดถึงสิทธิส่วนตัวของสมาชิกด้วย เพราะบางครั้งการลงมติอย่างไร เขาก็มีเหตุผลต่างๆ กัน บางคนอยู่ในห้องประชุม แต่ไม่เสียบบัตรแสดงตน หรือไม่ลงมติ ก็เป็นเรื่องการเมือง เพราะกลัวว่าหากแสดงตน จะทำให้องค์ประชุมครบ และต่อมาในการโหวต จะทำให้โหวตแพ้ ส.ว.กลุ่มหนึ่งที่สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ก็เคยทำแบบนี้ และคอมพิวเตอร์ที่บันทึกคะแนน ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ใครอยู่ในห้องประชุม แต่ไม่แสดงตน สมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน ก็เคยทำแบบนี้ในสภา ฉะนั้นจุดสมดุลคือ ต้องคิดถึงสิทธิของสมาชิกด้วย แต่การลงคะแนน สมาชิกต้องคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักเช่นกัน เพราะถ้าเอาประโยชน์ของกลุ่ม หรือของพรรคเป็นหลัก มันจึงเป็นเรื่องการเมืองเข้ามาปนด้วย" นายนิคมกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น