xs
xsm
sm
md
lg

ADSL กับ 3G ศึกนี้ใครชนะ?

เผยแพร่:   โดย: ปัญจภัทร อังคสุวรรณ

วันนี้มีคนพูดถึง เทคโนโลยี 3G กันอย่างกว้างขวาง มีคนจำนวนมากที่ยังคงสับสนในคำศัพท์เทคนิคต่างๆ มากมาย อาทิ 3G 3.5G ADSL หรือ GPRS อาจรู้เพียงว่า 3G เป็นเทคโนโลยีใหม่ ฟังดูดี และ 3.5G ก็ย่อมดีกว่า 3G เท่านั้นเอง

ยกแรกสำหรับเรื่องนี้หากจะอธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ก็ต้องกล่าวถึงการสื่อสารทางไกลที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ต เพราะอินเทอร์เน็ต เปรียบเหมือนเป็นเกณฑ์ในการตัดสินศึกครั้งนี้ เดิมทีอินเทอร์เน็ตจะใช้สื่อสารกันได้นั้นต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็นแบบตั้งโต๊ะ (Desktop) หรือแบบโน้ตบุ๊ค โดยใช้สายโทรศัพท์ (Landline) เป็นตัวเชื่อมสัญญาณ และมีโมเด็มเป็นเครื่องมือติดต่อ โดยความเร็วในการเชื่อมต่อสูงสุดอยู่ที่ 56Kbps ซึ่งยังคงมีใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ข้อดีของระบบนี้จะทำให้ผู้ที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในประเทศไทย ขอให้มีเพียงสายโทรศัพท์ก็สามารถเชื่อมต่อได้ในทันที ส่วนข้อเสียก็คือความเร็วในการเชื่อมต่อ และเสถียรภาพในการเชื่อมต่อ ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ตัวอย่างเช่นการเปิดหน้าเว็บ ASTVผู้จัดการออนไลน์นี้ อาจต้องใช้เวลาถึง 3-4 นาทีในการดาวน์โหลดหน้าแรกให้เสร็จสมบูรณ์

นั่นคือฝ่ายของผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่จำต้องใช้สายโทรศัพท์ในการเชื่อมต่อ

ยกที่สอง เมื่อโทรศัพท์มือถือไม่ได้ใช้เพียงแค่การรับสายโทรเข้าหรือการโทรออก แต่การใช้โทรศัพท์มือถือเป็นทั้งโมเด็ม และเป็นตัวเชื่อมสัญญาณภายในเครื่องเดียวกัน โดยความเร็วที่เชื่อมต่อสูงสุด ผ่านระบบ GPRS (ซึ่งอยู่ในยุคที่เรียกว่า 2.5G*) อยู่ที่ 115Kbps หรือหากผ่านระบบ EDGE (เป็นยุคที่เรียกว่า 2.75G) อยู่ที่ 180Kbps ซึ่งดูจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่เดินทางอยู่เป็นประจำ

ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาให้โทรศัพท์มือถือทำหน้าที่เสมือนเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดย่อมไปในตัว ซึ่งทำให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือสายโทรศัพท์เพื่อจะเข้าไปอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตอีกต่อไป

นั่นเป็นการตอบโต้จากทางค่ายโทรศัพท์มือถือในยกนี้

ยกที่สาม ทางด้านผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานเปิดบริการที่เรียกว่า ADSL หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า “อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง” โดยใช้สายโทรศัพท์เป็นตัวเชื่อมสัญญาณเช่นเดิม โดยมีความเร็วในการเชื่อมต่อสูงสุดถึง 12Mbps** ซึ่งยังคงมีความจำเป็นต้องใช้สายโทรศัพท์เป็นตัวเชื่อมสัญญาณ

หลักการการทำงานนั้นก็เหมือนในยกแรก เพียงแต่ผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดข้อมูลต่างๆ ได้รวดเร็วมากขึ้น ตัวอย่างเช่นการเปิดหน้าแรกของเว็บASTVผู้จัดการ ก็สามารถดาวน์โหลดเสร็จสมบูรณ์ในเวลาเพียง 15-20 วินาทีเท่านั้น

ในยกนี้ ทางค่ายโทรศัพท์มือถือก็มีหมัดเด็ด ด้วยการจะนำเทคโนโลยี 3G มาเปิดให้บริการ ซึ่งสามารถให้ความเร็วสูงสุดได้ถึง 14Mbps โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้สายโทรศัพท์ ซึ่งจะเพิ่มทั้งความคล่องตัวในการใช้งาน และประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรอีกด้วย

แต่ถ้าจะให้วิเคราะห์ความเป็นไปได้แล้ว หากสถานการณ์ยังคงเป็นไปอย่างในปัจจุบันนี้ ที่เสมือนว่ากรรมการบนเวทียังคง พยายามไม่ให้บริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ภาคเอกชนเปิดให้บริการ 3G อย่างเต็มที่ ประชาชนคนดูย่อมเป็นผู้แพ้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สาเหตุเพราะการกำเนิดของ 3G อย่างเต็มรูปแบบจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตไปอย่างสิ้นเชิง

คำถามที่เราต้องถามตัวเองคือ ปัจจุบันนี้เราได้ใช้โทรศัพท์พื้นฐานที่บ้านมากน้อยเพียงใด? เมื่อไหร่พื้นที่บ้านเราจะสามารถติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้? ทำไมหมู่บ้านของเราสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการเพียงรายเดียว? ทำไมอินเทอร์เน็ตบ้านเราเสียบ่อยๆ หรือช้ามากในบางช่วงเวลา? เมื่อไหร่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะขยายความเร็วในเขตพื้นที่นี้?

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้อาจหมดไปหากเราสามารถเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว ในทุกๆ ที่ที่เราไป โดยไม่ยึดติดกับโครงข่ายสาธารณูปโภคเดิมๆ โดยเราจะสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตระหว่างการเดินทางไปพักผ่อน หรือจะทำการประชุมทางไกลในระหว่างรถติด

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ หากเกิดขึ้นได้จริง ก็คงเป็นผลดีต่อประชาชนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว แต่ในทางกลับกันก็คงเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ต่อผู้ที่ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานที่จำเป็นต้องหาวิธีป้องกันและตอบโต้เพื่อที่จะชนะศึกนี้ไปให้ได้

หมายเหตุ :
* ตัวอักษร G หรือย่อมาจากคำว่า Generation อาจสามารถบ่งบอกถึงลำดับชั้นความเร็วในการเชื่อมต่อข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ
** เป็นความเร็วจากบ้านผู้ใช้บริการถึงผู้ให้บริการ แต่อาจไม่ใช้ความเร็วที่สามารถเชื่อมต่อสู่โลกอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น