xs
xsm
sm
md
lg

ก๊าซรั่วเจ็บระนาว อานันท์ฉะมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - เผยกาซรั่วที่ท่าเรือมาบตาพุด หามส่ง รพ.20 ราย บริษัทเอกชนปิดปากเงียบ “อานันท์" ถึงกับผงะขณะลงพื้นที่มาบตาพุดพบขยะและกลิ่นเหม็นของสารเคมีกระจายไปทั่ว ติงหน่วยงานรัฐขาดความรับผิดชอบ-ผู้ประกอบการและนักลงทุนขาดจิตสำนึก

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีเกิดก๊าซรั่วจากเรือขนส่งสินค้า นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บริเวณท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อช่วงเที่ยงวานนี้ (6 ธ.ค.) ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ได้รับผลกระทบหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก มีอาการแสบตา ตาพร่า เจ้าหน้าที่จึงนำส่งโรงพยาบาลอีก 5 ราย

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงเวลา 15.00 น.วันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยเรือลำเกิดเหตุได้เคลื่อนเข้าจอดเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสินค้า แต่ขณะเคลื่อนเข้าใกล้ เกิดเหตุก๊าซหุงต้มในเรือรั่วออกมา ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณตะกั่วอ่าวประดู่ และคนงานที่ทำงานอยู่ในขณะนั้นได้สูดดมก๊าซดังกล่าวในระยะใกล้ได้รับบาดเจ็บ 18 ราย

พ.ต.ท.เวียง วงศ์เพียร รองผู้กำกับการ สภ.มาบตาพุด เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่พยายามสอบถามไปยังเจ้าของบริษัทและเรือลำเกิดเหตุ ถึงยอดผู้บาดเจ็บ แต่บริษัทกลับให้การกับเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีผู้บาดเจ็บ จนกระทั่งโรงพยาบาลกรุงเทพ-ระยอง แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีผู้บาดเจ็บจากเหตุดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ได้รวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้ว

ด้านนายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีนี้ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีประชาชนและคนงานที่ทำงานอยู่ในขณะนั้น สูดดมก๊าซดังกล่าวในระยะใกล้ชิด จึงได้รับบาดเจ็บด้วยอาการหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก แสบตา และตาพร่าถูกส่งตัวเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลกรุงเทพฯ-ระยองตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุ รวม 20 ราย ซึ่งขณะนี้แพทย์อนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 15 ราย ส่วนอีก 5 รายส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ แพทย์ให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อรอดูอาการอีกระยะ อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้สาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจติดตามอาการผู้ป่วยทั้ง 15 ราย อีกประมาณ 1 สัปดาห์

ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้เข้าไปตรวจวัดระดับก๊าซในอากาศ บริเวณที่เกิดเหตุแล้ว โดยไม่พบมีกลิ่นก๊าซตกค้าง ส่วนสาเหตุการเกิดก๊าซรั่วไหลครั้งนี้ สำนักงานท่าเรือจะต้องเข้าไปตรวจสอบว่า กรณีปัญหาเซฟตี้วาล์วรั่วนั้น เกิดจากความบกพร่องของคนงาน หรือจากสาเหตุใด

**"อานันท์"ผงะเหม็นกลิ่นสารพิษ-ขยะ

วันเดียวกันนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และคณะกรรมการฯ ประกอบด้วยนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี นายประสาน มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กรุงเทพมหานคร นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการภาคประชาชน เดินทางไปรับฟังปัญหาในพื้นที่ โรงเรียนบ้านหนองแฟบ เทศบาลเมืองมาบตาพุด โดยมีนายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, นายวิรัต รัตนวิจิตร นายอำเภอเมืองระยอง, นายสมพงษ์ โสภณ นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด พร้อมด้วยตัวแทนชุมชนและชาวบ้านกว่า 200 คนที่จะนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มาชี้แจงให้คณะกรรมการได้รับทราบถึงปัญหา

นายอานันท์ กล่าวก่อนรับฟังปัญหาจากตัวแทนชุมชนหนองแฟบและพื้นที่ใกล้เคียงว่า สำหรับทางคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อลงมาดูสภาพพื้นที่และปัญหาที่แท้จริง และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง ที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม และผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น การมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้น มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงต้องมารับฟังความเห็นของทั้งสองฝ่าย แต่อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการไม่ได้เป็นผู้ตัดสินและชี้ขาดในปัญหาต่างๆ เพียงแต่นำข้อมูลต่างๆมาไตร่ตรอง หลังจากนั้นจะนำข้อมูลเสนอรัฐบาล

“คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม แต่ทางคณะมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อจะไปวิเคราะห์และแนะนำรัฐบาล ว่าควรจะมีการปฏิบัติการอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค สอง ขั้นตอนการดำเนินการ การสร้างกลไก เรื่ององค์กรอิสระรับฟังความเห็น หรือขบวนการในการจัดทำศึกษาและประเมินผลกระทบที่ร้ายแรงของอุตสาหกรรม” นายอนันท์ กล่าว

**หน่วยงานรัฐขาดความรับผิดชอบ

นายอานันท์ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ 2 สิ่งที่ตนสังเกตุและการสัมผัสได้ ไม่ใช่เพียงแต่รับฟังอย่างเดียว เช่น เมื่อคืนวันที่ 5 ธ.ค.เวลาประมาณ 23.30 น.ที่โรงแรมภูริมาศ ซึ่งเป็นโรงแรมที่คณะกรรมการพักค้างคืน ตนได้เดินออกมานอกโรงแรม ได้กลิ่นเหม็นไข่เน่ามาเป็นระยะๆ แต่ไม่ทราบว่ามาจากที่ไหน และจากโรงงานใด นอกจากนั้นในช่วงเช้า (6 ธ.ค.) ที่ก่อนตนจะเดินทางมารับฟังปัญหาจากตัวแทนชุมชนที่โรงเรียนบ้านหนองแฟบ ได้พบเห็นมะพร้าวยอดไม่สวยงาม ใบแห้งเหี่ยว และยังได้กลิ่นเหม็นอีกเช่นกัน แต่ไม่ใช่กลิ่นไข่เน่า เหมือนเมื่อคืนที่โรงแรม แต่อาจจะเป็นกลิ่นเหม็นของมูลขี่ไก่หรือมันสำปะหลังก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบควรที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบติดตามว่าเกิดจากอะไร

“ผมเป็นห่วงมาก คือ ระบบราชการ เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ดูแลสิ่งเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน โดยควรจะต้องเข้าไปตรวจสอบแล้วว่ากลิ่นต่างๆ นั้นมาจากไหน หรือโรงงานใด ซึ่งควรจะต้องเข้าไปจัดการทันที โดยไม่ต้องรอรัฐบาลสั่งการลงมานอกจากนั้นที่บริเวณชายหาดน้ำริน อ.บ้านฉาง คณะของคณะกรรมการฯเดินออกกำลังกายบริเวณชายหาด ได้พบกองขยะกองใหญ่มาก ดังนั้น จึงมองว่า เรื่องมลภาวะไม่ได้เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเดียว หน่วยงานในพื้นที่ เช่น เทศบาล ต้องเข้ามาดูแลด้วย ซึ่งปัญหาต่างๆ เป็นปัญหาของสังคมที่ควรจะต้องได้รับการแก้ไข"

**ตัวแทนชุมชนเสนอแก้ปัญหาจริงจัง

นายธนะรัช พรหมมานนท์ ประธานชุมชนเนินพะยอม กล่าวว่า ปัญหามลพิษเป็นเรื่องละเลยของรัฐบาลและทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ในความเป็นจริงปัญหาน่าจะคลี่คลายได้ แต่เพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย จึงไม่มีการสานต่อ ที่ผ่านมาคนมาบตาพุดไม่มีน้ำประปาใช้ทั้งที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมมีความเจริญเติบโตรวดเร็วมาก แต่ประชาชนอยู่กันด้วยความลำบาก นอกจากนี้ไฟฟ้าก็ตกบ่อยครั้ง หรือเพราะว่าระยองไม่มี ส.ส.เป็นรัฐมนตรี

นางนิตยา แสงศิริ ประธานชุมชนห้วยโป่งใน-สะพานน้ำท่วม กล่าวว่า ต้องการให้มีการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม มีการดูแลเรื่องสวัสดิการของชาวบ้านที่ดีกว่านี้เพราะที่ผ่านมามีกองทุนเป็นตัวเงินลงมาในพื้นที่ก็มีปัญหาแตกแยกเกิดขึ้น ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เงินกองทุนโดยเฉพาะด้านสวัสดิการตกถึงมือชาวบ้านโดยตรง ซึ่งเป็นความหวังของชาวบ้าน ไม่ใช่มองแต่เรื่องของผลประโยชน์ ด้านธุรกิจการอย่างเดียว

นอกจากนั้นโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่นอกนิคมฯที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ล่าสุดรั้วโรงงานอยู่ติดกับบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างจริงจังโดยเฉพาะอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้ดูแลก็มีงานมาก เมื่อแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นให้ทราบ แต่กว่าจะมาดูแลก็ไม่ทันต่อเหตุการณ์แล้ว ดังนั้นควรจะต้องมีมาตรการในการดูแลส่วนนี้ด้วย โดยชาวบ้านไม่ได้คัดค้านไม่ให้มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรดูแลให้ดีด้วย

นายน้อย ใจตั้ง ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบฯ กล่าวว่า ปัญหาคนในพื้นที่มาบตาพุดที่ได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอดก็คือ มีการเวนคืนที่ดินอย่างต่อเนื่อง เช่น พื้นที่วัด ป่าช้า จนไม่ทราบว่าจะไปอยู่ที่ไหนกันแล้ว จึงอยสกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่แต่เพียงจะมุ่งสร้างแต่โรงงานอุตสาหกรรม โดยไม่ดูปัญหาหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น โรงพยาบาลและแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย มีน้อยมากไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน เนื่องจากประชาชนในพื้นที่มีเพียงไม่กี่หมื่นคน แต่ประชากรแฝงมีสูงถึง 2-3 เท่า

นายเจริญ เดชคุ้ม กล่าวว่า การลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดนั้นสร้างความเจริญและเศรษฐกิจดี แต่ได้เฉพาะคนมีธุรกิจหรือมีเงินเท่านั้นโดยคนในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์ในการเข้ามาลงทุนซักเท่าไร นอกจากนั้นคนที่เข้ามาทำงานหรือเข้ามาลงทุนก็เป็นคนจากที่อื่นและเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่อื่นแทบทั้งสิ้น ดังนั้น โครงการที่จะมาลงใหม่ก็ควรจะไปลงทุนที่จังหวัดอื่นแทน และอย่ามาลงทุนที่มาบตาพุดหรือ จ.ระยองอีกเลย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นชาวระยองได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่

นางณัฐธยา ศิริสุข ชุมชนบ้านฉาง กล่าวว่า ประชาชนในบ้านฉาง ก็ได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น จากนิคมฯเอเชีย และโรงงานฯอินโดราม่า ซึ่งได้รับกลิ่นเหม็นมาโดยตลอดและส่งผลกระทบ ทำให้ประชาชนและเด็กเจ็บป่วย แต่ที่ผ่านมาทางโรงงานก็มีการแก้ไข แต่ก็ไม่เป็นไปตาม EIA เพราะการทำ EIA ในเบื้องต้นก็ไม่โปร่งใสเท่าที่ควร จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้

นายวิรัตน์ มีทรัพย์สุข ตัวแทนชาวบ้านจากแม่น้ำคู้ อ.ปลวกแดง กล่าวว่า ชาวบ้านปลวกแดง หวั่นปัญหาจะเกิดขึ้นในอนาคตเพราะบริเวณดังกล่าวมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกราย หากมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นและอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำปัญหาก็ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ดังนั้น จึงฝากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายดูแลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยหากมีโรงงานเกิดขึ้น เพราะไม่ใช่เกิดผลกระทบเพียง จ.ระยองเท่านั้น จ.ชลบุรี และจังหวัดใกล้เคียงก็ต้องได้รับผลกระทบ เนื่องจากใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำดังกล่าวด้วย

ด้านนายอานันท์ กล่าวภายหลังรับฟังปัญหาและความคิดเห็นจากตัวแทนชาวบ้านว่า ข้อเท็จจริงต่างๆ นั้น เป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการฯอย่างมาก โดยตัวแทนชาวบ้านได้ออกมาแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยและมองเห็นภาพต่างๆ ที่ได้รับฟัง แต่ปัญหาต่างๆ นั้นไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯที่จะเข้าไปดูแล แต่อย่างไรก็ตามในคณะนี้ มีฝ่ายรัฐบาลคือนายกอร์ปศักดิ์ สภาวะสุ รองนายกรัฐมนตรี มีฝ่ายประชาชน ,ฝ่ายนักวิชาการอิสระ โดยหลังจากนี้ทางคณะกรรมการก็จะมาพูดคุยกัน เพื่อหาจุดยืนร่วมกัน เพื่อเป็นบทสรุปร่วมกัน เสนอรัฐบาลต่อไป

**รองผู้ว่าฯ นิคมแจงสาเหตุก๊าซรั่ว

หลังจากนั้น เวลา 10.00 น.ทางคณะ 4 ฝ่ายได้เดินทางไปยังการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อไปรับฟังการบรรยายสรุป โดยมี ดร.วีระพงษ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นทางคณะกรรมการและหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ซักถาม แผนงานต่างๆ ที่การนิคมฯโดยเฉพาะกรณีที่มีสารรั่วไหลที่ท่าเทียบเรือมาบตาพุด เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.มีการวางแผนงานในเรื่องนี้อย่างไร

ดร.วีระพงษ์ ชี้แจงว่า สารที่รั่วไหล คือ ก๊าซบิวเทนวัน (ก๊าซหุงต้ม) เนื่องจากเรือที่มารับสินค้าบริเวณเซฟตี้วาล์ว ชำรุด ทำให้ก๊าซรั่วและฟุ้งกระจายเป็นพื้นที่กว้าง ทำให้ประชาชนบริเวณอ่าวประดู่ได้รับผลกระทบและนำตัวส่งโรงพยาบาลหลายคนและสามารถกลับบ้านได้แล้วจำนวนหนึ่ง มีเพียง 5 คนที่ต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งทางการนิคมฯและบริษัทฯได้เข้าไปดูแลและช่วยเหลือแล้ว

ด้านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กล่าวถึงปัญหาก๊าซรั่วไหล ทางการนิคมฯ ไม่แจ้งหรือประกาศให้ประชาชนหรือหน่วยงานใดได้รับทราบเรื่องเลย โดยเฉพาะแพทย์ไม่ทราบเรื่องเลย เพราะหากทราบเรื่องอาจจะเข้าไปช่วยเหลือได้ เพราะเรื่องเกิดขึ้นประมาณ 13.00 น. แต่หน่วยงานต่างๆหรือรัฐบาล ทราบเรื่องเกือบ 1 ทุ่ม หากเป็นสารเคมีที่รุนแรงกว่านี้จะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข

ทางด้านนายอานันท์ กล่าวเสริมว่า ปัญหาดังกล่าว ตนเป็นห่วงมาก เพราะหากเกิดขึ้นแล้วและยังปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆที่ล่าช้าและไม่ทันท่วงที แล้วประชาชนจะไว้ใจการนิคมฯได้อย่างไร ดังนั้นหน่วยงานจะต้องแก้ภาพลักษณ์เหล่านี้ เพื่อให้ประชาชนได้ไว้วางใจ หากจะมีโรงงานเกิดขึ้น หากเป็นเช่นนี้แล้วประชาชนจะไว้วางใจได้อย่างไรหากมีการลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ซึ่งปัญหาต่างๆ ตนเป็นห่วงศักยภาพในการรองรับไม่มีการวางแผนในการรองรับแต่อย่างไรเลย หลังได้ฟังหน่วยงานที่รับผิดชอบชี้แจง

ขณะที่นายสุทธิ อัชฌาศัย หนึ่งในคณะกรรมการภาคประชาชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการของการนิคมแห่งประเทศไทยนั้น มีบทบาทหน้าที่ยังไม่ถูกต้องเท่าที่ควร เพราะมี 2 บทบาทในองค์กรเดียวกัน คือ 1.เชิญนักลงทุนมาลงทุน และ 2.เป็นผู้ควบคุมโรงงานด้วย เพราะ 2 บทบาทนี้ไม่สามารถทำได้เลย

นอกจากนั้นมีการเรียกร้องข้อมูลต่างๆ จากการนิคมฯ เช่น ปัญหาเกิดกลิ่นเหม็นหรือมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมรั่วไหลออกมา โดยไม่สามารถทราบได้เลยว่ามาจากโรงงานไหน ปัญหาดังกล่าวทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ เพราะเรียกร้องมานานให้นำข้อมูลดังกล่าวมาเผยแพร่ให้ประชาชนหรือองค์กรต่างๆได้รับทราบ เพื่อร่วมกันวางแนวทารงในการแก้ไข แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือเลย.
กำลังโหลดความคิดเห็น