xs
xsm
sm
md
lg

35 ปี กับเส้นทางพระราชทานเศรษฐกิจพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษพันธ์

ย้อนกลับไปเมื่อ 35 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีกระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะผู้แทนสมาคม องค์การเกี่ยวกับศาสนา ครูนักเรียนโรงเรียนต่างๆ นักศึกษามหาวิทยาลัย ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรดาฯ พระราชวังดุสิต และได้ทรงพระราชทานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นครั้งแรก ตามบันทึกพระสุรเสียงครั้งนั้นได้มีความตอนหนึ่งว่า:

“คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้

ประเทศต่างๆในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่ กำลังยุ่ง เพราะแสวงหาความยิ่งยวด ทั้งในอำนาจ ทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิด และมีอิทธิพล มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำ พอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล”


กระแสพระราชดำรัสเมือ 35 ปีที่แล้วของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังคงมีความทันสมัย และทันสถานการณ์อยู่จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกำลังทยอยเกิดวิกฤติฟองสบู่แตกกันหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกา และ ดูไบ

“เศรษฐกิจพอเพียง” นั้นเริ่มต้นจากจิตที่ตั้งอยู่บนธรรม ซึ่งตรงกันข้ามกับ “เศรษฐกิจแบบทุนนิยม”

คำว่า “นายทุน” ประกอบไปด้วย 2 คำ คือ “นาย” และ “ทุน” “นาย” หมายถึง “อำนาจ” ส่วน“ทุน” หมายถึง “เงิน” ดังนั้น ระบบทุนนิยมการนิยมเรื่องของอำนาจ หรือที่เรียกว่า “อำนาจนิยม” กับเรื่องเงิน หรือ “เงินนิยม”

ลักษณะของทุนนิยมทุกวันนี้ มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการคือ 1.วัตถุนิยม 2.ปัจเจกชนนิยม และ 3 บริโภคนิยม

1.วัตถุนิยม คือการที่สังคมยกย่องผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นคนเก่งจากการสะสมวัตถุ สะสมเงินมาก ใครมีเงินมาก มีวัตถุมาก ถือว่าเป็นคนดีมาก เป็นคนเก่งมาก ไม่ว่าเงินที่ได้มาหรือวัตถุที่ได้มานั้นจะได้มาด้วยความชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม

2.ปัจเจกชนนิยม คือการเน้นให้คนเรารักตัวเองให้มาก ทำงานเพื่อตัวเองพูดกันง่ายๆก็คือ “มองเห็นว่าการเห็นแก่ตัวของมนุษย์เราเป็นเรื่องปกติธรรมดา” และมองว่า การที่เราเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้นั้นเป็นแรงจูงใจทำให้คนเราพัฒนาตนเอง พัฒนาครอบครัว และพัฒนาสังคมประเทศชาติ ถ้ามนุษย์เรารู้จักพอสังคมก็จะอยู่นิ่ง ไม่พัฒนา

3.บริโภคนิยม ให้ความสำคัญกับภาครายจ่ายของมนุษย์มากกว่าภาครายรับ
หรือภาคการผลิต นักบริโภคนิยมก็จะมองว่าทำอย่างไรจะซื้อของไม่แพง จ่ายให้น้อยที่สุด ซื้อให้ถูกที่สุด ซึ่งไม่สนใจว่าจะทำให้เกิดความเสียหายหรือเอาเปรียบกับใครหรือไม่ ไม่สนใจว่าจะผลเสียในระยะยาวหรือไม่ ไม่สนใจแม้กระทั่งว่าจะทำลายระบบพึ่งพาตัวเองในท้ายที่สุดหรือไม่

ก่อนปี พ.ศ.2540 ประเทศไทยได้ผ่านชีวิตแบบทุนเสรีนิยมสุดขั้ว คนไทยเคยผ่านยุคฟองสบู่การเก็งกำไรที่ดินและหุ้น ชนิดที่เรียกว่าคนเป็นโบรกเกอร์ขายที่ดินและเล่นหุ้นกันทุกระดับไม่เว้นแม้แต่นักศึกษา คนไทยหลายคนเคยผ่านยุคมนุษย์เงินเดือนทองคำ วิ่งเปลี่ยนงานเป็นว่าเล่นในหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักการเงิน วิศวกร ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจกว่า 10% ทุกปี คนไทยในตอนนั้นมีชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยเพราะผลประกอบการได้กำไรมหาศาล ธนาคารและไฟแนนซ์มาอ้อนวอนขอรอ้งให้ผู้ประกอบการช่วยกันกู้เงินที่มากมายล้นเหลือ คนไทยตอนนั้น “หลง” ในทุนนิยมอย่างชนิดไม่ลืมหูลืมตา คนไทยส่วนใหญ่ต่างก็รู้สึกว่าเรามีความสุขดีในสังคมที่เป็น “ทุนนิยม”

ใครจะคิดว่าความฟุ้งเฟ้อจากระบบทางการเงินของรัฐที่ล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ชีวิตคนไทยต้องพลิกผันหลังปี พ.ศ.2540 ที่ดินและหุ้นตกต่ำลงไม่หยุดจนขาดทุนเจ๊งระเรระนาด นักธุรกิจเป็นหนี้เป็นสินเพิ่มขึ้นจากการลอยค่าเงินบาท ธนาคารหยุดปล่อยสินเชื่อ ผู้ประกอบการเจ๊งต้องปิดกิจการ มนุษย์เงินเดือนทองคำกลายเป็นคนตกงาน

คนไทยและนักธุรกิจจำนวนมากที่ไม่รู้ข้อมูลล่วงหน้าว่าจะลอยค่าเงินบาท กลายเป็น “คนล้มละลาย” สถาบันการเงินธนาคารจากที่เคยพูดคุยกันเป็น “มิตร” ก็กลายเป็น “ศัตรู” ที่เคยเป็นพนักงานมีโบนัสขึ้นเงินเดือนก็กลายเป็นลดเงินเดือนและได้บ้างไม่ได้บ้าง และหลายคนถูกยื่นซองขาวให้ออกจากงาน หลายคนต้องถูกตามทวงหนี้ หลายคนถูกฟ้องร้องเป็นคดีความแพ่ง หลายคนต้องถูกยึดทรัพย์ และหลายคนต้องเปิดท้ายรถขายของเก่าเพื่อให้ตัวเองดำรงชีพของตัวเอง

คนไทยทั้งชาติได้เรียนรู้บทเรียนที่เจ็บปวดที่สุด เราถูกต่างชาติปล้นด้วยระบบ “ทุนเสรีนิยมสุดขั้ว” บางคนทนสภาพการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ไหวฆ่าตัวตายไปก็ไม่น้อย

แต่หลังจากนั้นคนไทยจำนวนมากก็ได้เรียนรู้ใน “ธรรม” และความเลวร้ายของ “ทุนเสรีนิยม” แล้วจึงค่อยๆปรับตัว ระมัดระวังตัวเพื่อไม่ให้ตัวเองกลับไปสู่ความประมาทที่จะนำไปสู่หายนะเช่นนั้นอีก นักธุรกิจและคนไทยจำนวนมากได้เรียนรู้สิ่งสมมุติ และความไม่เที่ยงในเรื่องความร่ำรวย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงเตือนสติคนไทย และทรงพระราชทานกำลังใจในเวลานั้นให้กับพสกนิกรชาวไทยในยามที่ทุกข์ที่สุด 2 ประการคือ

1.กระแสพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พระราชทานให้แก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ถึง 2 ปีซ้อน ได้แก่เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 และ 23 ธันวาคม 2542 เพื่อให้คนไทยได้สติให้ทำอะไรอย่างพอเพียง ปฏิบัติอย่างพอเพียง พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก และอยู่อย่างเป็นสุข

2.พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ที่ทรงเน้นย้ำในเรื่องความเพียรในการฝ่าฟันอุปสรรค และการใช้ปัญญาเพื่อแก้ไขความล่มสลายในสรรพสิ่ง

ยิ่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา และวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ดูไบเวิล์ด ก็ยิ่งเป็นการยืนยันพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงมีกระแสพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเวลา 35 ปีที่แล้ว เป็นภูมิอันวิเศษที่จะคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายทั้งปวงจากระบบทุนนิยมอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น