xs
xsm
sm
md
lg

ปรับใหญ่คลายวิกฤติเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมการการเมือง
โดย...พาณิชย์ ภูมิพระราม

ผลการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์สอบเกือบตกในการสร้างผลงาน

โดยได้คะแนนเพียง 5.3 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10

นั่นแสดงถึงความไม่พร้อมของรัฐบาลต่อการยุบสภา

ที่สำคัญคือ รัฐบาลสอบตกการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยได้คะแนนเพียง 4.8 คะแนน แต่ผลงานที่รัฐบาลสอบตกและได้คะแนนน้อยที่สุดคือการแก้ปัญหาคอรัปชั่น  3.2  คะแนน รองลงมาเป็นการแก้ปัญหาภาคธุรกิจ  4.6  คะแนน  ปัญหาสังคม  4.7  คะแนน  และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาคตะวันออกกรณีมาบตาพุดได้แค่  4  คะแนนเท่านั้น 

หมายความว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ในสายตานักธุรกิจที่เข้าร่วมการสัมมนาหอการค้า ยังไม่สามารถสร้างความประทับใจได้มากนัก

เพียงแต่นักธุรกิจอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีตัวเลือกมากนักที่สำคัญกว่านั้น ผลการสำรวจพบว่า ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลควรแก้ไข คือ สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ร้อยละ 23.8 ด้านความเชื่อมั่นร้อยละ 18.9 และแก้ไขภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวร้อยละ 15.9

ความไม่แน่นอนทางการเมืองกลายเป็นเรื่อง “เร่งด่วน” ที่รัฐบาลควรแก้ไขในสายตานักธุรกิจ แต่สำหรับคนทั่วไปน่าจะเป็นเรื่อง “เอือมระอา” พอประมาณ

ดังนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ต้อง “บริหารความคาดหวัง” ของคนในสังคมควบคู่ไปกับการบริหาร “ความขัดแย้งทางการเมือง”

เสียงเรียกร้องให้ปรับคณะรัฐมนตรีจึงดังกระหึ่มพร้อมๆกับช่วงเวลาใกล้บริหารประเทศครบ 1 ปี

“เอาไว้ว่ากันในจังหวะเวลาที่เหมาะสม จะมีการปรับ ครม. หลังจาก 1 ปีไปแล้ว ผมไม่ทราบว่า ใครพูดเรื่องนี้ ทั้งที่เคยกำชับแล้วว่าจะพูดอะไร ขอให้คิดถึงผลกระทบทางการเมือง” อภิสิทธิ์กล่าว

ข้อเรียกร้องระดับ big change ยังมาจากพรรคการเมืองใหม่

โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ทั้งเก้าอี้รองนายกฯ ของสุเทพ เทือกสุบรรณ รมว.กลาโหมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมทั้งเก้าอี้ รมต.ประจำสำนักนายกฯของสาทิตย์ วงศ์หนองเตย

ที่สำคัญข้อเท็จจริงทางการเมืองของพรรคเพื่อแผ่นดิน ก็หนุนช่วยให้การปรับโฉมหน้าครม.เข้าใกล้ความจริงทุกขณะ เนื่องจาก นพ.พฤติชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง ถูก กกต. มีมติเสียงข้างมากให้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความเป็นรัฐมนตรี ของ นพ. พฤฒิชัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 3 เพราะถือหุ้นในบริษัทเกินกว่าร้อยละ 5 คือ บริษัทครัวราสเบอรี่ จำกัด ร้อยละ 20 และบริษัท อีสเทิร์น ดราก้อน จำกัด ร้อยละ 11.25

รวมทั้งกระแสข่าวสลับเก้าอี้ของพรรคชาติไทยพัฒนา

แม้กระทั่งข้อเสนอแก้เกี้ยวของพรรคเพื่อไทยในท่วงทำนอง “ยุติการต่อสู้ทางการเมืองชั่วคราว” ในเดือนธันวาคม ก่อนจะเปิดแนวรบทั้งในสภา และนอกสภาอีกครั้งปลายเดือนธันวาคม

รวมทั้งเพื่อ “จัดระเบียบแกนนำคนเสื้อแดง” ใหม่อีกครั้ง

นอกเหนือจากข้อเท็จจริงทางการเมืองแล้ว ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และผลงานที่ยังไม่เข้าตาในการบริหารเศรษฐกิจมหภาคของรมต.ด้านเศรษฐกิจ ก็มีนำหนักเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

แม้ว่ากรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง จะพยายามโปรโมทแผนการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล โดยให้คนที่มีหนี้นอกระบบไปลงทะเบียน

แต่ดูเหมือนว่า ปฏิกิริยาจากคนจนที่มีหนี้นอกระบบยังไม่มากเท่าที่ควร

แม้กระทั่งนักวิชาการที่ทำงานกับคนจนมานานก็มีส่งเสียงติเตียนถึงแผนการดังกล่าว เนื่องจากการแก้หนี้นอกระบบ เป็นเพียง “มาตรการบรรเทา” ที่มีผลในระยะสั้นเท่านั้น

ที่สำคัญที่สุดยังการแก้ไขหนี้นอกระบบ ยังคนละเรื่องกับการแก้ไขความยากจน

กรณ์ คาดหวังว่างานแก้หนี้นอกระบบ จะสร้างชื่อให้ รมว.คลัง เหมือนกับที่ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ สร้างชื่อจาก การแจกเช็ค 2,000 บาท

แต่ยอดผู้มาลงทะเบียนฯ เฉพาะที่สาขาออมสินและจุดลงทะเบียนเพิ่มเติม รวมกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 1-2 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 34,975 ราย คิดเป็นยอดมูลหนี้รวม 3,868.64 ล้านบาท จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ  กทม.  5,861 ราย มูลหนี้รวม 408.05 ล้านบาท รองลงมาคือ ชลบุรี 1,583 ราย มูลหนี้รวม 161.67 ล้านบาท และนครราชสีมา 1,551 ราย มูลหนี้รวม 164.38 ล้านบาท

ยอดการขึ้นทะเบียนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั่วประเทศ จำนวน 23,945 ราย มูลหนี้รวม 2,771 ล้านบาท

การลงทะเบียนของลูกหนี้นอกระบบผ่าน 2 ธนาคาร มียอมรวมทั้งสิ้น 58,920 ราย รวมมูลหนี้ 6,639 ล้านบาท

ข้อมูลการลงทะเบียนหนี้นอกระบบของคนไทย โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.แสดงถึงการกระจุกตัวของหนี้นอกระบบที่กรุงเทพฯ ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงพอสมควรเพราะข้อมูลในมือหลายฝ่ายระบุว่า ลูกหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้า แม่ค้า และเกษตรกรในต่างจังหวัด และมีชีวิตวงจรหนี้ผูกติดอยู่หนี้ ธกส. กองทุนหมู่บ้าน และหนี้นอกระบบ

นั่นคือ กู้หนี้นอกระบบไปจ่ายคืนหนี้ ธกส. และกู้หนี้ธกส.ไปจ่ายคือ หนี้นอกระบบ รวมทั้งกู้กองทุนหมู่บ้านไปจ่ายคืนหนี้ นอกระบบ…วนเวียนเป็นวงจรหนี้ที่ไม่สิ้นสุด

แม้ว่าผลการสำรวจเกษตรกร 2,018 คนทั่วประเทศก่อนจดทะเบียนจะบ่งบอกว่า เกษตรกรส่วนใหญ่พอใจกับกับการแก้หนี้นอกระบบ และนโยบายประกันรายได้เกษตรกรก็ตาม

ขณะที่สถานการณ์การลงทุนของภาคเอกชนนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยตัวเลวในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนภาคเอกชนต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 53 จากเดือนกันยายนที่ระดับ 54.6 เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลการชะลอโครงการลงทุนที่มาบตาพุด  ความไม่แน่นอนเศรษฐกิจ การเมือง และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

ทำให้การคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 ของธนาคารแห่งประเทศไทย น่ายืดยาวไปถึงกลางปีหน้า เพราะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังมีอยู่มาก

โดยคาดหวังว่า การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ของเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง รวมทั้งการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อในอยู่ในกรอบต่อไป

ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ถูกบั่นทอนความเชื่อมั่นจากวิกฤติฟองสบู่แตกที่ดูไบ
ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกของการยืดชำระหนี้ของดูไบ เวิร์ล (Dubai wourld)เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมามีสูงมาก

ดูไบ เวิร์ล ถือหุ้นทั้งหมดโดยรัฐบาลดูไบ และ Nakheel (บริษัทย่อยของ Dubai World) ถูกยืดเวลาการจ่ายหนี้ไปเป็นสิ้นเดือนพ.ค. 2553 โดย Nakheel มีหุ้นกู้ (Sukuk Bond) ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนธ.ค.นี้ 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และที่จะครบกำหนดชำระในไตรมาสแรกของปีหน้า อีก 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดย Dubai World มีหนี้ทั้งหมด 5.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นประมาณ 74% ของหนี้ทั้งหมดของรัฐบาลดูไบที่มีอยู่ประมาณ 89 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

หนี้สิ้นจำนวนมากดังกล่าว เกิดจากการลงทุนในโครงการจำนวนมาก เช่น The Palm (เกาะรูปต้นปาล์ม) The World (เอาทรายไปถมทะเลสร้างเป็น 300 เกาะรูปแผนที่โลก) Nakheel Tower (ตึกที่สูงที่สุดในโลก) ปัจจุบันรัฐบาลมีหนี้สินประมาณ 8–9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับจีดีพีของทั้งประเทศ โดยไม่มีเงินออม

ทั้งนี้ความกังวลเกี่ยวกับปัญหา Credit Risk หลังจากเกิดวิกฤตซับไพร์ม จนรัฐบาลสหรัฐต้องใช้เงินจำนวนมากเข้าไปพยุงกิจการสถาบันการเงินสหรัฐ อาจกลับมารอบใหม่ หากการปรับโครงสร้างหนี้ของดูไบไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะเดียวกันทางการเวียดนามได้ประกาศลดค่าเงินด่องจาก 17,034 ด่อง/US$ เป็น 17,961 ด่อง/US$ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% (จาก 7% เป็น 8%) โดยมีผลตั้งแต่ 1 ธ.ค.52 เป็นต้นไป

ทั้งสองสถานการณ์สะท้อนถึงความเปราะบางของการีฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน และยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนว่า ทั้งสองประเทศจะใช้เวลานานเท่าไหร่ในการคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์ของจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงและความเปราะบางของภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ ภาวะตลาดหุ้นทั่วโลก อัตราแลกเปลี่ยน ล้วนแล้วแต่ยังไม่อยู่ใน “สภาวะปกติ”

ที่สำคัญคือ ความคาดหวังของนักธุรกิจและประชาชนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งสามารถพิจารณาบางส่วนได้จากราคาทองคำ ราคาอสังหาริมทรัพย์ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ

ยังอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลมทั้งสิ้น

การปรับ ครม.ครั้งใหญ่เพื่อยกระดับความเชื่อมั่น น่าจะเป็นทางออกหนึ่งในหลายๆ มิติ ที่รัฐบาลควรสร้างความชัดเจน !!
กำลังโหลดความคิดเห็น