พิษณุโลก –ที่ดินย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองสองแควกว่า 233 ไร่ป่วน ติดแหงกเขตกำแพง-คูเมืองเก่า ห้ามแบ่งเอกสารสิทธิ์ หมดสิทธิ์กู้-สร้างมูลค่าเพิ่ม แถมโฉนดด้อยค่า-ไร้ความมั่นคงลงทุกวัน ถูกบีบกู้ OD ลูกเดียว หรือต้องดิ้นหาหลักทรัพย์อื่นค้ำ เผย 433 เถ้าแก่พิษณุโลกรับสภาพมูลค่าที่ดินถดถอย ผวาลูกหลานถูกรัฐยึดที่
รายงานข่าวจากจังหวัดพิษณุโลก แจ้งว่า กลุ่มเถ้าแก่เจ้าของที่ดินย่านเศรษฐกิจของพิษณุโลก กว่า 100 คน ในนามชมรมฯ-สมาคม-มูลนิธิฯต่าง ๆ หลายแห่ง ต้องรวมตัวกันเข้าพบ นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯอีกครั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหา การประกาศพื้นที่เมืองเก่า ติดกำแพง-คูเมือง ของกรมธนารักษ์ รวม 233 ไร่ ที่ปัจจุบันนับเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมืองอยู่ หลังจากได้เรียกร้องผ่านผู้ว่าฯคนเก่า ๆ มาแล้วหลายครั้ง รวมถึงยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระหว่างเดินทางมาตรวจราชการที่พิษณุโลก เมื่อ 21 พฤศจิกายน2552 ด้วย
ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับย่านเศรษฐกิจของเมืองสองแควขณะนี้ คือ ที่ดินรวม 233 ไร่ ติดกับกำแพง-คูเมืองเก่า ที่มีผู้ครอบครองทั้งที่มีโฉนดในมือ และเช่าระยะยาวกับกรมธนารักษ์ ประมาณ 433 รายนั้น กลายเป็นที่ดิน “ไร้ความมั่นคง” – สุ่มเสี่ยงถูกรัฐยึดคืนเป็นที่ราชพัสดุ – บางส่วนถูกแบงก์ลดมูลค่าที่ดิน – เข้มงวดการปล่อยกู้ – ไม่สามารถแบ่งโฉนดได้ (ยกเว้นเปลี่ยนมือยกแปลง)
ทั้งนี้ หากจะขอกู้เงินจากแบงก์ตอนนี้ ส่วนใหญ่แบงก์จะให้OD มากกว่า เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงของโฉนดในเขตกำแพง-คูเมืองเก่า หรือต้องใช้หลักทรัพย์อื่นมาค้ำประกัน เพราะพนักงานสินเชื่อในพื้นที่ย่อมรู้ดีว่า ไม่ควรรับสินเชื่อจากโฉนดที่มีปัญหา ซึ่งผลกระทบโดยตรงคือ การขอสินเชื่อใหม่ ถูกปฏิเสธกันแบบนิ่ม ๆ ได้วงเงินน้อยมาก ฉะนั้นการทำธุรกรรมทางการเงินแต่ละครั้งย่อมมีปัญหาตามมา และความไม่ชัดเจนตรงนี้ ทำให้โฉนดที่ดินย่านเศรษฐกิจของพิษณุโลกด้อยค่าลงทุกวัน
นายวิศว วิศวชัยวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก บอกว่า ตอนนี้แบงก์ใหญ่อย่างน้อย 3 แห่ง ไม่ยอมรับโฉนดในย่านที่กรมธนารักษ์ระบุว่าเป็นเมืองเก่าเหล่านี้แล้ว หลายรายที่มีโฉนดตั้งแต่ปี 2485 ก็เสี่ยงที่จะต้องกลายมาเป็นผู้เช่าจากกรมฯ เท่ากับย้อนกลับไปเป็นที่ราชพัสดุอีกครั้งหนึ่ง โอกาสที่จะพัฒนาที่ดินเพิ่มมูลค่า หรือลงทุนเพิ่มเติมหมดไปทันที
ดังนั้น จึงขอคัดค้านการกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าพิษณุโลก ว่า ควรกำหนดเขตเมืองเก่าเฉพาะพระราชวังจันทน์เท่านั้น ไม่ควรนำพื้นที่เศรษฐกิจเป็นพื้นที่เมืองเก่า
ขณะที่นายชัยวัฒน์ ศรีสมนึก นายช่วงสำรวจอาวุโส รักษาราชการแทนธนารักษ์พื้นที่พิษณุโลก เปิดเผยว่า ผู้ว่าฯพิษณุโลกได้ทำหนังสือมายังธนารักษ์พิษณุโลก เพื่อให้ทำหนังสือถึงกรมฯนำเรื่องกำหนดขอบเขตเป็นพื้นที่เมืองเก่าเสนอต่อ ครม. ให้ออกมติใหม่เพื่อแก้ปัญหา คลายความกังวลของคนพิษณุโลก ซึ่งเรื่องนี้ ธนารักษ์พื้นที่พิษณุโลกได้ดำเนินการไปครั้งหนึ่งแล้วสมัยผู้ว่าฯคนก่อน แต่วันนี้เรื่องราวเกิดขึ้นอีก ก็ต้องทำหนังสือถึงกรมฯอีกครั้ง
เขาชี้แจงอีกว่า ที่ผ่านมาปี 2548 สำนักงานธนารักษ์พื้นที่พิษณุโลก ได้นำที่ราชพัสดุกำแพงเมือง-คูเมืองขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไว้ 3 แปลงคือ ทิศตะวันออก เนื้อที่ 64 ไร่เศษ (พล.1067) ทิศตะวันตก เนื้อที่ 156 ไร่เศษ(พล.1068) ด้านทิศเหนือ เนื้อที่ 52 ไร่เศษ(พล.1069) ทั้งนี้เพื่อกำหนดเขตชัดเจน ง่ายต่อการบำรุงรักษาและอนุรักษ์ โดยกรมธนารักษ์ให้งบประมาณปี 2550 จำนวนเงิน 185,520 บาทเพื่อขอรังวัดสอบเขตออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงต่อเจ้าพนักงานพิษณุโลก
ล่าสุดรังวัดทั้ง 3 แปลงเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 คงเหลือที่ดินอีก 1 แปลงสุดท้าย คือตลอดถนนธรรมราชา (ย่านใต้สะพานสูง) ซึ่งถือว่าเป็นย่านธุรกิจค้าขายใจกลางเมือง ต่อมาประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้ร้องคัดค้าน ระบุว่าการซื้อขายเปลี่ยนมือหยุดชะงัก ส่งผลให้นายสมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ อดีตเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ออกคำสั่ง “ระงับไว้ก่อน”เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551
ทั้งนี้ หากธนารักษ์รังวัดสอบเขตต่อทุกแปลง ขั้นต่อไปคือ จะสรุปผลว่า มีผู้คัดค้านกี่ราย และนำเอกสารสิทธิของผู้คัดค้านและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่กำแพงเมือง-คูเมือง นำเสนอต่อกรมธนารักษ์พิจารณาต่อไป ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีเอกชนในพื้นที่ทั้ง 3 แปลง จำนวน 433 ราย 6 หน่วยงานราชการและ 4 วัดที่คัดค้าน
รักษาการธนารักษ์พื้นที่พิษณุโลก เปิดเผยอีกว่า อย่างไรก็ตามวันนี้ทุกอย่างหยุดลงแล้ว ไม่มีการดำเนินการใดๆต่อ เพียงแต่สถาบันการเงินต่าง ๆ เท่านั้นที่กังวล ได้สอบถามมายังธนารักษ์ฯหลายฉบับว่า ที่ดินแปลงที่ผู้ขอกู้อยู่ในเขตกำแพงเมือง-คูเมืองหรือไม่ มีทั้งที่อยู่ – ไม่อยู่ในเขต
“อย่างไรก็ตาม หากพบว่า อยู่ในเขตกำแพงเมือง-คูเมือง ธนารักษ์พื้นที่พิษณุโลก็ไม่สามารถเซ็นรับรองแนวเขต หรือทำนิติกรรมใดๆได้ ฉะนั้นการแบ่งโฉนดจะกระทำไม่ได้เลย เว้นแต่การโอนซื้อขายเปลี่ยนมือ (ยกแปลง)สามารถทำได้”ที่ดินจังหวัดพิษณุโลกกล่าว
นายชัยวัฒน์ ย้ำว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐมนตรีคนหนึ่งที่ต้องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จึงมีการฟื้นฟูบูรณะเมืองโบราณ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อมีมติครม. ก็แก้ไขหรือยกเลิกมติ.ครม.จะได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด