xs
xsm
sm
md
lg

ชาตินิยมกับอัตตานิยม

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

ในห้วงที่ทักษิณ พำนักอยู่ในกรุงพนมเปญในฐานะที่ปรึกษาส่วนตัวของ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีเขมร และเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเขมรนั้น สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก เพราะสถานภาพของทักษิณ ในฐานะนักโทษคดีอาญาในประเทศไทยได้ที่พักพิงในกรุงพนมเปญ ซึ่งตัวฮุนเซน นายกรัฐมนตรีเขมร แถลงการณ์อย่างชัดเจนว่าจะไม่ส่งตัวทักษิณกลับไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน โดยอ้างว่าคดีของทักษิณ เป็นคดีการเมือง คล้ายกับกรณีนางอองซาน ซูจี และไม่สนใจคำแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศไทย ซึ่งต่อมารัฐบาลไทยได้ตอบโต้ด้วยการประกาศยกเลิกบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2544 ว่าด้วยโครงการพัฒนาพื้นที่ในอ่าวไทยร่วม ระหว่างไทย-กัมพูชา

หรือการที่สองประเทศจะทำการขุดเจาะและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยบริเวณติดกับเขตกัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยร่วมกัน โดยกระทรวงการต่างประเทศให้เหตุผลว่า การที่เขมรตั้งทักษิณ เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชานั้น จะส่งผลกระทบเชิงลบโดยตรงต่อไทยในการเจรจาภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เพราะทักษิณ เป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้เอง และในกรณีที่ทักษิณ มีสถานภาพเป็นที่ปรึกษารัฐบาลเขมรแล้ว ทำให้ทักษิณ ซึ่งรู้ความลับของชาติและแนวทางการเจรจากับเขมรในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ไทยก็จะเสียเปรียบเพราะมีคนทรยศให้ข้อมูล จึงไม่สามารถเจรจาภายใต้แนวคิดเดิมของทักษิณได้

ประการต่อมาพื้นที่ทับซ้อนในไหล่ทวีปของอ่าวไทย เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ขนาด 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร และมีแหล่งก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การเจรจาจึงเป็นความมั่นคงของไทยทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องใช้หลักกฎหมายทางทะเลซึ่งมีความซับซ้อนมากแต่ไทยยึดถือโดยความบริสุทธิ์ใจมาตลอดจึงทำให้พื้นที่พัฒนาร่วมกับมาเลเซียสัมฤทธิผลในปัจจุบัน

ประการสุดท้ายการเจรจาภายใต้กรอบตอนนี้มิได้มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นในห้วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีการเปลี่ยนบริษัทที่ต้องการซื้อสัมปทานอย่างต่อเนื่อง บ่งบอกถึงเกิดธุรกิจในรูปแบบของนอมินีมากราย โดยมีเครือข่ายทักษิณ เข้าไปเกี่ยวข้อง รวมทั้งปตท.สผ.เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งทักษิณกำหนดให้ ปตท.แปรูปรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปแล้วเพื่อการนี้ โดยที่มีกลุ่มอดีตผู้บริหารพรรคไทยรักไทย ได้รับอานิสงส์หุ้นอุปการคุณจำนวนหนึ่ง และซื้อตรงจำนวนหนึ่ง จึงร่ำรวยไปตามๆ กันและมีฐานะเป็นหุ้นส่วนอีกด้วย

สำหรับเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ฝ่ายฮุนเซนและทักษิณ ต้องการทำลายชื่อเสียงรัฐบาลไทย ด้วยการจับวิศวกรไฟฟ้าของบริษัทกัมพูชา แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส ในข้อหาจารกรรมข้อมูลเกี่ยวกับเที่ยวบินของทักษิณ ซึ่งเป็นเรื่องน่าขำมาก เพราะว่าแผนการบินไม่ใช่เรื่องลับ แต่กลับเป็นเรื่องที่ต้องเปิดเผยเพื่อการบริการจราจรทางอากาศให้ปลอดภัยหรือป้องกันการชนกันของอากาศยาน การก่อการร้ายและการกระทำอาชญากรรมทุกมิติ

และการที่เขมรอ้างเรื่องเกี่ยวกับแผนการบินของทักษิณ ยิ่งทำให้เห็นวัตถุประสงค์ชัดเจนมาก เพราะการรู้เที่ยวบินของทักษิณ ไม่ใช่ความมั่นคงของเขมรเลย แต่ฮุนเซนกลับใช้กลยุทธ์นี้ก็เพื่อต้องการจะทำลายชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของกระทรวงการต่างประเทศไทย ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งให้นายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ กระทำการจารกรรมข้อมูลนี้ ซึ่งรัฐบาลไทยสามารถหาข้อมูลนี้ได้จากแหล่งอื่นมากหลายแหล่งอยู่แล้ว

ดังนั้น การตอบโต้ของรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ นับว่าเป็นไปตามแบบธรรมเนียมการทูตทีละขั้นๆ เช่น เมื่อเขมรไล่เลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ กลับไทย ไทยก็ตอบโต้ในลักษณะเช่นเดียวกัน จนถึงขั้นรุนแรงสูงสุดซึ่ง ณ จุดนั้นกองทัพก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือ ซึ่งมีผู้วิเคราะห์กำลังรบเปรียบเทียบไว้แล้ว แต่ที่นักวิเคราะห์มิได้พูดถึง คือ วัฒนธรรมการรบ ประสบการณ์การรบ และความชำนาญสะสมของกองทัพไทยเมื่อเปรียบเทียบกับกองทัพเขมร สิ่งเดียวที่กองทัพไทยพ่ายแพ้ต่อกองทัพเขมรซึ่งมีอยู่กรณีเดียวเท่านั้น คือ ความเหี้ยมโหด ซึ่งกองทัพเขมรมีชื่อเสียงในเรื่องความสามารถในการทารุณและการฆ่าเชลยศึก และผู้บริสุทธิ์ทั้งชาย-หญิง ไม่จำกัดเพศและวัย

นอกจากการสร้างเรื่องจารชนแล้ว ฝ่ายสงครามจิตวิทยาเขมรก็ออกข่าวการบินล้ำแดนของเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติ แต่ได้โยงให้เป็นเรื่องรัฐบาลไทยส่งเครื่องบินรบไปโจมตีเครื่องบินทักษิณ ซึ่งเป็นเรื่องสามานย์ชั้นต่ำ คิดได้เฉพาะคนสันดานชั่วจากวรรณะนรกขั้นต่ำสุด เพราะรัฐบาลไทยและกองทัพอากาศสงวนความเป็นมืออาชีพไว้เมื่อถึงคราวต้องรบกับศัตรูที่แท้จริงและคุ้มค่า และเมื่อนั้นก็จะเหมือนกับกองทัพฝรั่งเศสในเขมร ทั้งที่นครวัด สะตรึงเตร็ง และพระตะบอง ถูกกองทัพอากาศโจมตีจนพ่ายแพ้ไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2484กรณีพิพาทดินแดนไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส ขณะที่ฝรั่งเศสปกครองเขมร และรุกรานไทยก่อน

การออกข่าวข่มขู่กองเรือประมงและเรือสินค้าไทย ว่าจะปิดอ่าวมิให้กองเรือของไทยผ่าน ซึ่งการออกข่าวดังกล่าวนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เพราะเรื่องการปิดอ่าวหรือ Blockade นั้น เป็นการก่อสงครามหรือ Act of War รัฐบาลไทยสามารถใช้ข้ออ้างนี้บอกชาวโลกได้เลยว่าเขมรก่อสงคราม และไทยมีสิทธิตอบโต้ ซึ่งประชาคมโลกย่อมรู้กฎการก่อสงครามนี้ดี แม้สมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ไม่สามารถตำหนิไทยได้ หากต้องเปิดยุทธนาวีเพื่อเปิดอ่าว ฮุนเซนต้องการให้กองทัพเรือตอบโต้เกิดเหตุจะได้หาเรื่องทางการเมือง แต่ทหารเรือฉลาดพอและรู้ทันฮุนเซน

เรื่องการยั่วยุของ ฮุนเซน และทักษิณ เพื่อหวังให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระทำการใดๆ เป็นการตอบโต้ที่รุนแรงกว่า แนวร่วมของทักษิณ ก็จะใช้หลักสิทธิมนุษยชนเป็นกลไกในการตอบโต้ทุกรูปแบบ และรูปแบบที่ทักษิณ ต้องการคือการใช้ความรุนแรงบริเวณชายแดนเป็นปัจจัยในการสร้างฐานที่มั่นกองกำลังของพวกเขา โดยรัฐบาลฮุนเซน อนุญาตให้ใช้พื้นที่รอยต่อสองประเทศดำเนินการทางทหารโค่นล้มรัฐบาล และถึงขั้นนี้มวลชนทักษิณจัดตั้งในเมืองใหญ่ก็จะประท้วงขั้นรุนแรงเรียกร้องให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ทักษิณคาดหวังจัดตั้งรัฐบาล แก้รัฐธรรมนูญและเรียกร้องเงินคืน ตลอดจนทักษิณหวังจะปฏิวัติการปกครองไทยตามแบบเขมร โดยทักษิณ ก็จะใช้รูปแบบการปกครองของฮุนเซน เพื่อครองตำแหน่งนานๆ แบบฮุนเซน โดยทั้งสองคาดหวังว่าจะใช้ศักยภาพของทั้งสองแสวงอำนาจในอาเซียน

เรื่องราวต่างๆ นี้ทำให้มีการต่อต้านจากปัญญาชน ชนชั้นกลาง และเยาวชนที่เห็นว่า ฮุนเซน มิได้ทำตัวเป็นมิตร แต่กลุ่มสาวกคนเสื้อแดงของทักษิณ กลับพูดว่าเป็นการปลุกระดมชาตินิยมของรัฐบาล ซึ่งเป็นการทำลายสัมพันธภาพกับเขมร

เราจึงต้องพูดถึงชาตินิยมและอัตตานิยม ชาตินิยมเป็นคำสมาส โดยคำว่าชาติมาจากภาษาบาลีแปลว่า “เกิด” หรือ “กำเนิด” หรือในภาษาอังกฤษคำว่า Nation มาจากคำภาษาละตินว่า Natus ซึ่งแปลว่า เกิด หรือกำเนิดเหมือนกัน หลวงวิจิตรวาทการอธิบายคำว่า “ชาติ” นั้น หนักไปทาง “คน” มากกว่าดินแดนถิ่นประเทศ ความรักชาติก็คือรักคนที่มีกำเนิดมาอย่างเดียวกัน ไม่ว่าคนนั้นจะอยู่ในดินแดนไหน สำหรับคนที่อยู่ในดินแดนเดียวกันก็รักคนที่มีกำเนิดเดียวกันมากกว่าคนต่างกำเนิด

นัยสำคัญของหลวงวิจิตรวาทการเป็นเรื่องคนมากกว่าแผ่นดิน แต่แท้จริงแล้วทั้งสองส่วนมีความเกี่ยวพันกัน เนื่องจากคนต้องมีถิ่นฐานอาศัย และดินแดนย่อมเป็นแหล่งทำมาหากิน หรือเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อดำรงชีพ เช่น ทรัพยากรประมง หรือความรุ่งโรจน์ของถิ่นฐานประเทศ เช่น ทรัพยากรพลังงาน ทั้งก๊าซ น้ำมัน ถ่านหิน ทองคำ หรืออื่นๆ การเก็บรักษาแผ่นดินถิ่นฐานเหล่านี้ก็เพื่อให้คนในชาติได้ใช้ประโยชน์ และคนในชาติก็คือลูกหลานของตนเอง ครอบครัวตนเอง ญาติพี่น้อง ซึ่งเมื่อดองกันเป็นเครือข่าย ก็คือชาติที่มีถิ่นฐานอาศัย และดำรงชีพด้วยทรัพยากรในแผ่นดินทั้งแบบรูปธรรมและนามธรรม

การเป็นชาตินั้นเป็นสังคมของครอบครัวนับร้อยๆ พันๆ หมื่นๆ แสนๆ ครอบครัว และความผูกพันนี้รวมกันเป็นชาติ ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการได้ยกรูปแบบของ ลอร์ด เฮนรี โบลินโบรค (Lord Henry Bolinbroke) ชาวอังกฤษ ค.ศ. 1698-1770 พูดถึงธรรมชาติได้แยกมนุษย์ไว้เป็นกลุ่มๆ อยู่แล้ว และแต่ละกลุ่มจะมีผู้นำของตน เป็นได้ทั้งพระมหากษัตริย์ หรือประธานาธิบดีที่ดี อันที่รวมจิตใจของชนในชาติ และไม่ว่าใครๆ ตั้งแต่ประชาชนจนถึงพระมหากษัตริย์ ก็คงจะต้องไม่ทำอะไรโดยนึกถึงแต่ประโยชน์ของตนเอง จะต้องนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมคือชาติเสมอ และ “ชาติเสมอ” นี้คือต้องคิดถึงคนในชาติเป็นสำคัญ จะต้องระลึกถึงสมบัติของชาติเพื่อเก็บไว้ให้คนในชาติ ส่วน ฌอง ยัคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ชาวฝรั่งเศส ค.ศ. 1712-1778 พูดถึงความรักชาติ รักศักดิ์ศรีของคนในชาติ

ดังนั้น รุสโซ มักจะพูดถึงสถาบันชาติ การสร้างจิตสำนึกให้ผู้คนเห็นความสำคัญของชาติ ยกย่องการกระทำความดีของคนในชาติ ความเสียสละของคนในชาติ และการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีของชาติ

การยกข้อคิดของนักคิดสองท่านนี้ ก็เพื่อให้คนไทยได้มองว่าการที่รัฐบาล คณะรัฐบาล และบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือนักวิชาการอิสระหรือใครก็ตาม พูดถึงความรักชาติแล้ว จะหมายถึงการรักคนไทย เป็นห่วงคนไทยและเป็นห่วงอนาคตของคนไทย

การที่คนคนหนึ่งในที่นี้คือทักษิณ ยอมลดค่าตัวเองลงไปเป็นคนรับใช้นายกรัฐมนตรีเขมร และให้คำปรึกษาในเรื่องเศรษฐกิจ อันเป็นเรื่องการดำรงชีวิตของคน ความเป็นอยู่ของคน และความรุ่งเรืองของคน

เมื่อทักษิณ ตกอยู่ในภวังค์โลภะจนลืมชาติตัวเอง ทรยศต่อชาติตัวเอง ทรยศต่อคนไทยในปัจจุบันและอนาคต แต่มองถึงทรัพย์สมบัติของตัวเอง มองอำนาจของตัวเอง และมองเฉพาะอนาคตของตัวเองเท่านั้น มิได้มองถึงอนาคตของชาติ ซึ่งหมายถึงคนในชาติ โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยและเขาพระวิหารซึ่งเป็นทรัพยากรอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่วนอ่าวไทยคือทรัพยากรในน้ำ รวมทั้งเส้นทางคมนาคมก็เป็นทรัพยากรเชิงเศรษฐกิจ ที่ลูกหลานไทยก็ต้องการมีไว้ใช้ในอนาคตเช่นเดียวกับเราๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน ดังนั้น เรื่องชาตินิยมจึงเป็นเรื่องที่คำนึงถึงอนาคตของคนทั้งปวง แต่อัตตานิยมเป็นเรื่องปัจจุบัน และอนาคตของคนเลวคนหนึ่งเท่านั้น 

                              nidd.riddhagni@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น