xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่าวิกฤตโลก ยุทธศาสตร์โลก......ไทย (5)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ศึกษายุทธศาสตร์แบบจีน .........ฝ่าวิกฤตโลก

งานชิ้นนี้ ผมคงไม่ได้บอกว่า คนไทยจะต้องทำตามจีน แต่ในยามที่มีวิกฤตซับซ้อนและแก้ยาก การเรียนรู้บทเรียนจากประเทศอื่นๆ ในเวลาเช่นนี้ มีค่ามาก

งานนี้จะไม่พูดถึงด้านที่เป็นจุดอ่อนของจีน แต่จะเน้นกล่าวเฉพาะด้านที่เป็นจุดแข็งเป็นสำคัญ

ปัจจุบัน หลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คำว่า “วิถีพัฒนาแบบจีน” กำลังโด่งดังไปทั่วโลก และคนทั่วโลกกำลังหันมาศึกษาความสำเร็จของจีน

ทำไมถึงกล่าวเช่นนี้

เราพบว่า ช่วงโลกาภิวัตน์ซึ่งถือว่าเป็นช่วงวิกฤตและเป็นความพลิกผันใหญ่ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเสือเศรษฐกิจก็ล้มคว่ำแบบไม่เป็นท่ามาแล้วในช่วงปี 1990 ต่อมาบรรดาประเทศที่ต้องเผชิญหายนะก็คือ บรรดาประเทศที่เรียกตนเองว่า NICs รวมทั้งประเทศรัสเซีย (อดีตผู้นำค่ายสังคมนิยม) และหลังจากนั้นสหรัฐอเมริกา (ประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด) ก็เจอหายนะใหญ่

จีน คือ ประเทศเดียวที่สามารถฝ่าวิกฤตโลกาภิวัตน์ได้ดีที่สุด

การเรียนรู้ความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของจีนจึงมีค่ามากๆ อย่างน้อยก็ช่วยให้เราตระหนักรู้ว่า เราควรจะเดินยุทธศาสตร์เช่นไรในยุคนี้

ในตอนต้นของงานชิ้นนี้ ผมได้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างไทยกับจีนไว้ว่า

ย้อนไปสัก 25 ปี จีนล้าหลังกว่าไทยมากๆ เรียกว่าเทียบไทยไม่ได้เลย มาวันนี้ จีนก้าวแซงหน้าไทยไปแล้วหลายก้าว

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ประการแรก
คือ ชนชั้นนำจีนได้พยายามค้นหาและนำเสนอทฤษฎี และวางยุทธศาสตร์โลก....จีน ซึ่งเป็นตัวของตัวเอง โดยมีเป้าหมายแน่นอน เพื่อความยิ่งใหญ่ของจีนและประชาชนจีน

หมายความว่า จีนไม่ยอมเดินตามทฤษฎีตะวันตก หรือที่เรียกว่า ทฤษฎีตลาดเสรี ที่เสนอความเชื่อว่า ตลาด คือพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และตลาดรู้ดีที่สุด และควรจะลดบทบาทของรัฐ ปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจเคลื่อนตัวไปอย่างเสรี

ผู้นำจีนตระหนักถึงความสำคัญของ “ตลาด” แต่กลับเชื่อว่า รัฐและพรรคต้องมีบทบาทที่ยิ่งใหญ่ ในการควบคุมการเคลื่อนตัวไปของตลาด

ผู้นำจีนตระหนักถึงอันตรายของตลาด หรือวัฏจักรพองและแตก จึงพยายามหาทางควบคุมไม่ให้เกิดขึ้น จุดไหนที่เริ่มพองตัวเกินจริงจะต้องถูกภาครัฐเข้าไปสกัดไว้ก่อน

ประการที่สอง ลัทธิตลาดเสรี จะเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างความมั่งคั่งแก่คนส่วนน้อยหรือบรรดานายทุนเก็งกำไรข้ามชาติเป็นสำคัญ ผู้นำจีนถือว่า “ที่สุดแล้ว การพัฒนาต้องมุ่งเป้าที่การสร้างความมั่งคั่งแก่ประชาชนจีนทั้งประเทศเป็นสำคัญ” เพื่อบรรลุเงื่อนไขดังกล่าว รัฐและพรรคต้องมุ่งสู่การพัฒนาที่สร้างระบบสังคมจีนในแบบที่มีดุลยภาพภายใน

หมายความว่า จีนจะต้องเป็นทุนนิยมที่พึ่งตนเองได้ จึงพุ่งเป้าไปที่การขยายตัวทั้งด้านการผลิตและตลาดภายใน ไม่พึ่งพาเฉพาะตลาดต่างประเทศเท่านั้น

ประการที่สาม หูจิ่นเทา เคยกล่าวถึงความสำเร็จของจีนไว้ว่า หัวใจอยู่ที่การสร้าง “ศรัทธา”

ผู้นำไทยน้อยนักที่จะเข้าใจความหมายของคำคำนี้ เพราะมันไม่ปรากฏในลัทธิการเมืองตะวันตก

แต่คำว่า ศรัทธา นี้สำคัญมากในลัทธิการเมืองแบบตะวันออก

การจะสร้างศรัทธาได้ ผู้นำต้องเสียสละและทำตัวเป็นแบบอย่าง รวมทั้งต้องเป็นผู้นำทางศีลธรรม ในเวลาเดียวกัน

ประการที่สี่ การค้นพบยุทธศาสตร์ (เฉพาะ) ในการเผชิญกระแสโลกาภิวัตน์

เนื่องจากจีนเป็นประเทศสังคมนิยมมาก่อนจึงค่อนข้างจะระมัดระวังอย่างยิ่งในการเคลื่อนตัวเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ เรียกว่า ผู้นำจีนตระหนักรู้ถึง “อันตราย” ยิ่งใหญ่เบื้องหน้า

แต่ชนชั้นนำจีนก็ตระหนักรู้ว่า ถึงจะอันตราย จีนก็จำเป็นต้องก้าวผ่าน เติ้งเสี่ยวผิงเคยกล่าวไว้ทำนองว่า

จีนโชคดีมากที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดของโลกหลังประเทศอื่นๆ

ที่โชคดีคือ จีนได้เรียนบทเรียนความสำเร็จและความล้มเหลวของประเทศอื่นๆ มาก่อน

เริ่มจากเรียนรู้อย่างเอาจริงเอาจัง การใช้บทเรียนจากทุกประเทศมาผนึกรวมกัน

เริ่มจากการปฏิวัติภูมิปัญญาครั้งใหญ่ กล่าวคือ ต้องมีระบบคิดชี้นำที่ชัดเจนก่อน โดยเริ่มต้นจาก “ความเป็นจริง” ไม่ติดยึดในทฤษฎีสังคมนิยมแบบเก่าๆ ที่ล้าสมัย

พลิกฐานการมองระบบทุนนิยมใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาถือว่า “เลว” ทั้งหมด กลับมามองและวิเคราะห์ระบบนี้อย่างแยกแยะว่า ระบบทุนนิยมมีทั้งด้านที่ดีและเลว

เรียนรู้ค่าพลังของตลาดโลก ว่าพลังดังกล่าวสามารถทำหน้าที่เป็นพลังที่สำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการผลิต (ไม่ว่าจะผลิตแบบทุนนิยม หรือแบบรัฐเป็นผู้ผลิต) ดังนั้น เพื่อกระตุ้นการปฏิวัติทางการผลิต ประเทศจีนจะต้องเคลื่อนตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลกให้ได้

นอกจากนี้ อย่ามอง ทุน หรือ ผู้ลงทุนเอกชน ว่า“เลว” แบบแนวคิดซ้ายโบราณแบบด้านเดียวไม่ได้ การลงทุนไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือรัฐ น่าจะได้รับการส่งเสริมได้ทั้ง 2 แบบ ที่สำคัญการลงทุนภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาสังคมนิยมแบบการตลาดได้

แน่นอน ทุนนิยม หรือการลงทุนแบบเอกชน ก็สามารถทำให้เกิดการผูกขาดและรวมศูนย์ของความมั่งคั่งได้ ดังนั้น ภาครัฐและพรรคจะต้องทำหน้าที่ช่วยกระจายความมั่งคั่งสู่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ได้


เติ้งเสี่ยวผิง ตระหนักว่า

เมื่อประเทศจีนผนวกตัวเข้าสู่ระบบการตลาดโลกก็ย่อมมีขยะและสิ่งสกปรกไหลทะลักเข้ามาจำนวนมาก ภาครัฐและพรรคก็ต้องคอยดูแล หาทางสกัด จัดการกับขยะและสิ่งสกปรกเหล่านี้

ที่สำคัญ จีนตระหนักรู้ว่า ยุคโลกาภิวัตน์ คือยุคอภิวิกฤตซึ่งมีอันตรายรอบด้าน ผู้นำจีนจึงวางยุทธศาสตร์แบบก้าวทีละก้าว ก้าวไปข้างหน้าอย่างระมัดระวัง

ผมขอเรียกยุทธศาสตร์นี้ว่า “กบกระโดด”

กบจะกระโดดข้ามสายน้ำที่เชี่ยวกรากได้ต้องเคลื่อนตัวไปตามกระแสน้ำ ก่อนจะกระโดดแต่ละครั้ง ต้องพิจารณาดูให้รอบคอบก่อน เมื่อแน่ใจแล้วจึงจะกระโดดข้าม

พูดง่ายๆ จีนไม่ได้เดินไปเรื่อยๆ คำว่า “กระโดด” คือ การก้าวย่างแบบปฏิวัติเป็นขั้นๆ ไป แต่ถ้าไม่แน่ใจ ก็อาจจะกระโดดกลับอย่างรวดเร็ว

หรือเรียกว่า ต้องเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วแบบกระโดด และกระโดดเป็นจังหวะๆ ไป

นี่หมายความว่า ยุทธศาสตร์จีนต่างกับประเทศอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งมีรากมาจากการเข้าใจว่า กระแสโลกาภิวัตน์อันตราย แต่ประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือประเทศไทย ต่างมองกระแสโลกาภิวัตน์ในด้านที่เป็นบวกอย่างมากทั้งนั้น

ประการที่ห้า ผู้นำจีนตระหนักชัดว่า จะเผชิญกระแสโลกาภิวัตน์ได้ รัฐต้องมีบทบาทสูงยิ่ง ดังนั้น รัฐต้องเข้มแข็งและมีเอกภาพสูง เพราะรัฐต้องช่วยกันควบคุมการเคลื่อนตัวของทุน และพยายามกำหนดทิศทางการเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ก่อประโยชน์ (การลงทุนทำการผลิตจริง)

ผู้นำจีนตระหนักชัดว่า รัฐจะเข้มแข็งได้ ก็ต้องมีระบบพรรคที่มั่นคงอย่างยิ่ง ซึ่งในเงื่อนไขเหล่านี้ จีนโชคดีมากตรงที่ประเทศจีนเป็นรัฐแบบรัฐสังคมนิยมมาก่อน

ความเป็นรัฐสังคมนิยมที่สามารถรวบศูนย์อำนาจจึงมี “ค่า” อย่างยิ่ง

รัฐและพรรคที่เข้มแข็งจะต้องช่วยกันทำหน้าที่คล้ายกำแพงเมืองจีนที่คอยสกัดกั้นวัฒนธรรมทุนนิยมที่เลวร้ายและเสื่อมทรามจากโลกตะวันตก ไม่ให้ไหลเข้าประเทศ เลือกเฉพาะวัฒนธรรมที่มีค่า นำมาประสานกับวัฒนธรรมตะวันออกที่ดีงามและสูงค่า

ประการที่หก ต้องเรียนรู้ และเปิดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างจริงจัง แต่ไม่ได้หลงบ้าคลั่งเทคโนโลยีอย่างหลับหูหลับตา เลือกรับและเลือกค้นคว้า

ผู้นำจีนกำหนดวางเป้าหมายเฉพาะเป็นเรื่องๆ ที่จะลงทุนศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะจีนถือว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีบทบาทสำคัญมากในการเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก

แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ไม่ทิ้งชุดความรู้โบราณของจีนที่มีค่า

อย่างเช่น เรื่องการแพทย์ ผู้นำจีนเรียนรู้ความรู้และศึกษาการแพทย์ตะวันตก แต่ยังคงถือว่าระบบการแพทย์ที่มี “ค่า” มากกว่า คือ การแพทย์แผนจีน

ประการสุดท้าย ผู้นำจีนจึงสร้างสถาบันศึกษาและตามเรื่องวิกฤตโลกตลอดเวลา เมื่อคาดว่าจะเกิดวิกฤตอะไร อย่างไร ก็จะเตรียมรับมือล่วงหน้าไว้ก่อน

ตัวอย่างเช่น ก่อนเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ผู้นำจีนคาดว่าจะเกิดวิกฤตน้ำมันรุนแรงขึ้นมาก่อน ในช่วงนั้นราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างมาก จนทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย แต่ปรากฏว่าประเทศจีนทั้งๆ ที่ต้องพึ่งน้ำมันอย่างมหาศาล กลับเผชิญผลกระทบจากวิกฤตน้ำมันน้อยที่สุด

เมื่อคาดการณ์ล่วงหน้าถูก ผู้นำจีนก็เตรียมรับวิกฤตน้ำมันโดยลงทุนเปิดฐานการผลิตน้ำมันใหม่ๆขึ้นจำนวนมาก

ที่สำคัญยิ่ง ผู้นำจีนมีความสามารถเปลี่ยน “วิกฤต” เป็น “โอกาส” ได้ดีมากๆ

หมายความว่า ผู้นำจีนมีสถาบันติดตามศึกษาวิกฤตโลกในทุกแบบ ทุกเรื่อง อย่างแยกแยะ

เมื่อศึกษาอย่างจริงจังก็จะสามารถเตรียมรับวิกฤต และเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้

ผู้นำจีนจะใช้ “ปฏิบัติการที่รวดเร็ว” หรือปฏิบัติการ “เชิงรุก” เพื่อเป็นฝ่ายกระทำก่อน

ตัวอย่างเช่น หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ผู้นำจีนได้เปิดแนวรุกแรก เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการพยายามพลิกวิกฤตนี้ เปิดเงื่อนไขในการผนึกประเทศต่างๆ ในเอเชียเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อสร้างศูนย์อำนาจของโลกขึ้นใหม่ ขึ้นมาแทนที่สหรัฐอเมริกา

จีนรู้ว่า ต้องร่วมกับญี่ปุ่นและเกาหลี สร้างประชาคมโลกใหม่ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น จีนจึงให้ความสำคัญต่อญี่ปุ่นมากเพราะผู้นำจีนตระหนักว่า ถ้าจีนกับญี่ปุ่นผนึกเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ก็เท่ากับว่าสามารถผนึกหน่วยเศรษฐกิจโลกระดับ 2 (ญี่ปุ่น) และ 3 (จีน) ของโลกมารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นมีความสำคัญอย่างมากเพราะมีฐานะทางยุทธศาสตร์เป็นฐานทางยุทธศาสตร์ในการปิดล้อมจีนของสหรัฐอเมริกาทางการทหาร ถ้าทลายจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นหัวใจได้ แนวปิดล้อมจีนทางทหารก็จะพังลงอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้น การกระชับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันระหว่างจีนกับญี่ปุ่นจึงมีความสำคัญอย่างมาก

เรียกว่า ยิงนกทีเดียวได้นกถึง 2 ตัว

แนวรุกที่สองคือ การพยายามลดบทบาทของการใช้เงินดอลลาร์ในการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าในโลก โดยเสนอให้มีการใช้ระบบตระกร้าเงินแบบใหม่ขึ้นมาแทน

แนวรุกที่สามคือ การเรียกร้องให้โลกตะวันตกหาทางควบคุมการไหลเวียนของระบบเงินตรา

หมายความว่า จีนไม่ได้เพียงแต่เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้เท่านั้น จีนยังมีบทเสนอที่เป็นรูปธรรมต่อชาวโลก

“การปฏิบัติการเชิงรุกที่รวดเร็ว” ในเวลาเดียวกันก็คือ ขบวนการสร้างฐานะความเป็นผู้นำ Leadership ในระบบโลก

ทั้งหมดที่กล่าวคือ ‘ความเป็นจีน’ ที่เราคนไทยต้องศึกษาและเรียนรู้
(ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น