การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)เพื่อกดปุ่มแต่งตั้งนายพลระดับรองผบ.ตร.-ผบช.วาระประจำปี เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ในที่สุดก็สามารถดำเนินไปได้อย่างลุล่วง มีนายตำรวจได้รับการแต่งตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 36 ตำแหน่ง แต่กระนั้นการประชุมใช่ว่าจะราบรื่น จึงทำให้ต้องประชุมลากยาวแบบมาราธอนร่วม 6 ชั่วโมง
การประชุมครั้งนี้มี ก.ตร.เข้าร่วมประชุมเพียง 14 คน จาก 18 คน เนื่องจากส่วน ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ท่าน แสดงเจตจำนงไม่เดินทางมาประชุม ประกอบไปด้วย นายสีมา สีมานันท์ นายชัยเกษม นิติสิริ นายสมศักดิ์ บุญทอง โดยทั้ง 3 คน อยู่ในคณะกรรมการคัดเลือกชุดเก่า ส่วนอีก 1 คน คือ พล.ต.ท.อำนวย ดิษฐกวี ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายตำแหน่งข้าราชการตำรวจ และเป็นหนึ่งในกรรมการ ก.ตร.ที่ถูกนำเอกสารมาเผยแพร่มาฝากตำรวจด้วย
ทันทีที่เป่านกหวีดเริ่มการประชุม นายสุเทพ ได้เสนอวาระให้ที่ประชุม ก.ตร.มีมติยกเลิกคณะกรรมการคัดเลือก หรือบอร์ดกลั่นกรองชุดที่มีนายสมศักดิ์ บุญทอง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ นั่งเป็นหัวโต๊ะ เนื่องจากถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงจาก ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา จนทำให้ก.ตร.ต้องล่มไปเป็นท่า
เหตุผลสำคัญที่ ร.ต.อ.ปุระชัย อ้างถึงนั่นคือ บอร์ดกลั่นกรองชุดดังกล่าวมีกรรมการถึง 12 คน เกินกว่ากึ่งหนึ่งของ ก.ตร.ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 18 คน จึงขัดกับหลักถ่วงดุลตรวจสอบ เพราะหากรายชื่อที่ผ่านบอร์ดกลั่นกรองไปแล้ว เมื่อนำเข้าที่ประชุมใหญ่ หากมีการโหวต ก็ย่อมผ่านฉลุย!
จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ ก.ตร.หลายท่านที่เดิมทีสนับสนุนให้มีการแต่งตั้งโยกย้าย ออกอาการไขว้เขว เพราะส่วนใหญ่กลัวจะผิดกฏหมาย อาจต้องติดคุกตอนแก่ ทำให้มีการเสนอเลื่อนวาระแต่งตั้งโยกย้ายออกไป
อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นที่ประชุมได้ข้อสรุปได้มีมติให้ดำเนินการแต่งตั้ง พร้อมกับตั้งบอร์ดกลั่นกรองชุดใหม่ โดยให้"หญิงเหล็ก" นางเบญจวรรณ สร่างนิทร เลขาธิการ ก.พ.ซึ่งเป็น ก.ตร.โดยตำแหน่ง เป็นประธานบอร์ด
ท่ามกลางบรรยากาศเก่าๆ คนเดิมๆอย่าง ร.ต.อ.ปุระชัย และ พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ที่ควงคู่กันตบเท้าเดินออกจากห้องประชุมอย่างไม่พอใจ ซึ่งทั้งคู่ยืนยัน “หลักกู” ที่จะต้องให้ได้ตัว ผบ.ตร.ตัวจริงเสียก่อนที่จะมีการแต่งตั้ง…โดยไม่แยแสว่าทุกวันนี้ องค์กรต้องเผชิญปัญหาอะไรบ้าง
แต่ดูเหมือนว่าการประท้วงในครั้งนี้ของคนทั้งคู่กลับไม่เป็นผล เพราะเมื่อ “สุเทพ” นับเสียงในที่ประชุมพบว่า แม้จะหายไป 2 เสียง แต่ที่ประชุมยังมี ก.ตร.นั่งอยู่ถึง 12 คน เกินกึ่งหนึ่ง จึงสามารถเดินหน้าประชุมต่อไปได้
จากนั้นนางเบญจวรรณ จึงเริ่มการประชุมบอร์ดกลั่นกรองใช้เวลาพิจารณาบัญชีแต่งตั้งโยกย้าย ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง โดยนำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายที่จัดทำโดย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร. ที่แว่วว่าได้รับการไฟเขียวจากนายสุเทพ ก่อนหน้านี้แล้ว
ก่อนนำบัญชีรายชื่อที่คิดว่า “สะเด็ดน้ำ” เข้าที่ประชุม ก.ตร.ชุดใหญ่ในเวลา 17.00 น. แต่กระนั้นเมื่อนายสุเทพ เห็นบัญชีแต่งตั้งโยกย้าย พบว่าในหลายตำแหน่งไม่เป็นตามที่คาดหวัง โดยเฉพาะ พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รองผบช.น.ที่นายสุเทพ หมายให้เป็นผบช.ภ.1 คุมพื้นที่ปริมณฑล กลับไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีด้วยซ้ำ
ขณะเก้าอี้ ผบช.ส. ที่มีชื่อ พล.ต.ต.อติเทพ ปัญจมานนท์ รองผบช.ปส. ผ่านบอร์ดกลั่นกรอง ขณะที่ลูกหม้อของหน่วยงานนี้ อย่าง พล.ต.ต.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย รองผบช.ส. ซึ่งถือเป็นลูกหม้อของกองบัญชาการตำรวจสันติบาล กลับมีชื่อไปนั่งเก้าอี้จเรตำรวจ(สบ 8) ทำให้ก.ตร.หลายท่านรวมถึงนายสุเทพ เองทักท้วงเรื่องความเหมาะสม
เพราะแม้ พล.ต.ต.อติเทพ จะมีลำดับอาวุโส แต่ไม่เคยผ่านงานด้านการข่าวมาก่อน ขณะที่นายสุเทพ เองต้องการสนับสนุน พล.ต.ต.ตรีทศ ซึ่งถือเป็นลูกหม้อของหน่วยงานนี้ นอกจากนี้ในบางตำแหน่งที่มีการแต่งตั้งข้ามลำดับอาวุโส นายสุเทพ จึงได้ให้มีการชี้แจง พร้อมกับเรียกดูบัญชีความเหมาะสม แต่เนื่องจาก ตร.ไม่ได้จัดเตรียมไว้สำหรับการแต่งตั้งครั้งนี้ จึงเสนอให้ใช้บัญชีความเหมาะสมที่ทำไว้ในสมัย พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ อดีต รรท.ผบ.ตร. เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงให้บอร์ดกลั่นกรองกลับไปกลั่นกรองใหม่อีกรอบ
หลังจากนั้นจึงเริ่มประชุมอีกครั้ง จึงได้ข้อสรุปว่าจะให้ พล.ต.ต.ตรีทศ นั่งเก้าอี้ ผบช.ส. โยกพล.ต.ท.วุฒิ ลิปตพัลลภ ผบช.ปส. น้องชาย นายสุวัฒน์ ลิปตพัลลภ มาเป็นผบช.สตม.เพื่อเปิดทาง ให้พล.ต.ต.อติเทพ ขึ้นมานั่งเก้าอี้ดังกล่าวแทน ขณะที่เมื่อเอาบัญชีความเหมาะสมดังกล่าวมาพิจารณาทำให้ พล.ต.ต.สันติ เพ็ญสูตร รองผบช.ภ.9 คนสนิทนายสุเทพ และ พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ ได้รับการแต่งตั้ง โดยรายแรกได้ขยับเป็นผบช.ภ.4 คุมพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ส่วนรายหลังแม้ไม่ได้คุมเก้าอี้สำคัญ แต่อย่างน้อยได้ขยับขึ้น ผบช.ประจำสง.ผบ.ตร.
จะเห็นได้ว่าการประชุมครั้งนี้ อันที่จริงนายสุเทพ ได้พก “ธง” มาประชุมด้วย นั่นเพราะได้มีการกำหนดตัวบุคคลที่เขาเองไว้วางใจให้มาคุมเก้าอี้สำคัญๆ จึงไม่แปลกเมื่อมี ก.ตร.บางท่านทักท้วง หรือใครจะมาขวางเส้นทางเด็กในลิสต์ของนายสุเทพ จึงทำให้เกิดการ “งัดข้อ” กันขึ้น จนเป็นเหตุให้การประชุมต้องสะดุดหยุดลงเป็นระยะ
แม้ว่าจะสามารถปิดฉากการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ได้ แต่ก็เล่นเอา“หืดจับ”กันไปตามๆกัน ขณะเดียวกันต้องเรียกว่างานนี้นายสุเทพ พกพาความอึดมาเต็มอัตราศึก พร้อมที่จะยื้อกับทุกคน นัยว่า “หากยังไม่ยอมกันก็คงต้องประชุมกันถึงไก่โห่” เอากับเขาสิ
อย่างไรก็ตามหากจะวิเคราะห์โดยเอาผลลัพธ์ของประชุมแต่งตั้งโยกย้ายงานนี้เรียกว่า "วิน-วิน" นั่นคือเด็กในสังกัดของ นายสุเทพ-นายเนวิน ชิดชอบ ที่เข้าวิน เพราะหากลองนับสะระตะแล้ว ระดับ ผบช.ที่ได้รับการแต่งตั้งให้คุมพื้นที่สำคัญ ล้วนแล้วแต่เป็นตามความประสงค์ของ นายสุเทพ รวมถึงเด็กในคาถาของ นายเนวิน ก็ได้ดิบได้ดีไม่แพ้กัน
รายชื่อนายพลตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้ง
พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต ที่ปรึกษา (สบ10) เป็นรอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ปรึกษา (สบ10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ เป็นรอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นที่ปรึกษา (สบ10) พล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็น ที่ปรึกษา (สบ10) พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นที่ปรึกษา (สบ10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ
พล.ต.ท.สถาพร ดวงแก้ว รองจเรตำรวจแห่งชาติ (รอง จตช.) (สบ9) เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.ชลธาร จิราณรงค์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ (ผบช.นรป.) พล.ต.ท.จิโรจน์ ไชยชิต ผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษา (ผบช.ศ.) เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.ฉัตรชัย โปรตระนันท์ ผบช.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร.เป็น รอง จตช.(สบ 9) พล.ต.ท.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผบช.ส.เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ต.บรรจง ตันศยานนท์ จตร.(สบ8) (หัวหน้า จตร.) เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.ประชิน วารี จตร.(สบ8) เป็นรอง จตช.(สบ9) พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น.เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.
พล.ต.ท.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น ผบช.ตำรวจภูธรภาค 3 (ภ.3) เป็น ผบช.ภ.1 พล.ต.ท.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ผบช.สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เป็น ผบช.ศ. พล.ต.ท.ถวิล สุรเชษฐพงษ์ ผบช.ภ.7 เป็น จตร.(สบ8) (หัวหน้า จตร.) พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ ผบช.สำนักงบประมาณและการเงิน (สงป.) เป็น ผบช.สำนักงานส่งกำลังบำรุง (สกบ.) พล.ต.ท.วุฒิ ลิปตพัลลภ ผบช.กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด (ปส.) เป็น ผบช.สตม. พล.ต.ท.วีระยุทธ สิทธิมาลิก ผบช.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร.ทำหน้าที่บริหารงานและป้องกันปราบปราม เป็นผบช.ภ.9
พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.ภ.8 เป็น ผบช.น. พล.ต.ท.อุดม รักศิลธรรม จตร.(สบ8) เป็นผบช.สำนักงานตรวจสอบภายใน พล.ต.ต.คัคคพงศ์ ศรีพาณิชย์ รอง ผบช.ส.เป็น ผบช.ประจำสง.ผบ.ตร.ทำหน้าที่ปรึกษาด้านวิเคราะห์นโยบายและแผน พล.ต.ต.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ รองนายแพทย์ใหญ่ (สบ7) เป็นนายแพทย์ใหญ่ (สบ8) พล.ต.ต.ณัฐพิชย์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รอง ผบช.ปส.เป็น ผบช.สำนักงานกำลังพล (สกพ.)
พล.ต.ต.เดชาวัต รามสมภพ รอง ผบช.ภ.3 เป็น ผบช.ภ.3 พล.ต.ต.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย รองผบช.ส.เป็น ผบช.ส. พล.ต.ต.ไตรรัตน์ อมาตยกุล นรป.(สบ7) เป็น ผบช.นรป. พล.ต.ต.ธนากร ศิริอัฐ รอง ผบช.สตม.เป็น ผบช.สงป. พล.ต.ต.พงษ์สันต์ เจียมอ่อน รอง ผบช.น.เป็น ผบช.ภ.7 พล.ต.ต.พิทักษ์ จารุสมบัติ รอง ผบช.สตม.เป็น ผบช.ภ.8 พล.ต.ต.ภัทรชัย หิรัญญะเวช รอง ผบช.สำนักงานกฎหมายและคดี (สกค.) เป็น จตร.(สบ8) พล.ต.ต.ยงยุทธ เตียวตระกูล รอง ผบช.ภ.7 เป็น จตร.(สบ8) พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รอง ผบช.น.เป็น ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร.ทำหน้าที่บริหารงานด้านการป้องกันปราบปราม พล.ต.ต.สันติ เพ็ญสูตร รองผบช.ภ.9 เป็น ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.อติเทพ ปัญจมานนท์ รอง ผบช.ปส.เป็น ผบช.ปส. พล.ต.ต.เอกรัฐ มีปรีชา รอง ผบช.น.เป็น จตร.(สบ8) พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบช.น.เป็น ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร.ทำหน้าที่ประสานสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย