xs
xsm
sm
md
lg

สมใจ...นช.ทักษิณ ไทยสะบั้นสัมพันธ์เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ข่าวเชิงวิเคราะห์

ในที่สุด สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา ก็สำแดงตนอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยที่มี “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการประกาศแต่งตั้ง “นช.ทักษิณ ชินวัตร” นักโทษชายหนีคดีแผ่นดินเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจทั้งของตัวสมเด็จฯ ฮุนเซนเองและคณะรัฐบาล

ที่เด็ดสะระตี่และแสบเข้าไปถึงทรวงกว่านั้นก็คือ การประกาศแต่งตั้งคราวนี้ได้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยมีสมเด็จฯนโรดมสีหมุนีลงพระปรมาภิไธย และระบุชัดเจนว่า บรรดาข้อกล่าวหาของไทยต่อนช.ทักษิณนั้น เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองและกัมพูชาจะไม่ยอมเนรเทศ หากนช.ทักษิณตัดสินใจที่จะพำนักอยู่ในกัมพูชา หรือเดินทางเข้ามาหรือออกไปจากกัมพูชาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

นี่คือการย่ำยีกระบวนการยุติธรรมไทยที่คนไทยทุกคนจำต้องจารึกเอาไว้อย่างไม่มีวันลืม

การกระทำที่ไม่ไว้หน้าในครั้งนี้ ทำให้นายอภิสิทธิ์และกระทรวงการต่างประเทศไทยไม่สามารถนิ่งสงบได้อีกต่อไป และตัดสินใจรุกด้วยการทบทวนความสัมพันธ์ เรียกทูตกลับ หยุดการช่วยเหลือโครงการต่างๆ และ ยังจะมีอีกหลายมาตรการติดตามมา ตามวิธีปฏิบัติทางการทูต หลังการ "สีซอให้ควายฟัง" อย่างอดทนได้ผ่านไป

ความสัมพันธ์เสื่อมทรามลงเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเลี่ยง หากดูเจตนาของฝ่ายกัมพูชาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ผู้นำสูงสุด จนถึงบรรดาโฆษกฝีปากกล้า และ แม่ทัพนายกอง ตั้งแต่กรุงพนมเปญลงไปจนถึงชายแดน ทั้งหมดต่างกล่าวหาประเทศไทยต่างๆ นานา ติดตามมาด้วยการยั่วยุท้าทายแบบท้าตีท้าต่อย

ทั้งหมดจึงเป็นเกมที่ฮุนเซนเลือกแล้ว และ ยังเลือกที่จะเปิดเผยสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในวันที่ 21 ต.ค. พร้อมกับเลือก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ ประธานพรรคเพื่อไทย ผู้ไปเยือน ซึ่งเป็นคนไทยด้วยกันเองให้ทำหน้าที่เป็นโฆษก

"ฮุนเซน-ทักษิณ"สถานการณ์-ผลประโยชน์ลงตัว

ฮุนเซนอยู่ในอำนาจติดต่อกันมาเป็นปีที่ 24 ได้อำนาจรัฐมาด้วยหลากวิธีการ ตั้งแต่เชิญกองทัพเวียดนามเข้าขับไล่รัฐบาลเขมรแดง และให้ค้ำบัลลังก์ต่อมาอีก 10 ปี กระทั่งในยุคใหม่ ฮุนเซนได้ทำรัฐประหารเงียบ 1 ครั้ง และรัฐประหารนองเลือดอีก 1 ครั้ง เพื่อยึดกุมอำนาจ

ในวันนี้ฮุนเซนขยายการครอบงำประเทศออกไปทุกวงการและแนบเนียนยิ่งขึ้น จากการใช้กลไกอำนาจรัฐ กำลังตำรวจ-ทหาร ทำลายฝ่ายตรงข้ามเมื่อก่อน ได้กลายมาเป็นการเข้าควบคุมแขนงเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ รวมทั้งแขนงพลังงาน โดยผ่านบริษัทตัวแทนของบรรดาผู้นำไม่เกิน 10 ครอบครัว

เพียงข้ามปีหลังการเลือกตั้งเดือน ส.ค.2551 นักหนังสือพิมพ์ เจ้าของและบรรณาธิการหลายคนถูกจำคุก บางคนหลบหนีไปลี้ภัยในต่างแดนหลังเปิดโปงการทุจริตตัดไม้ทำลายป่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ช่วงเดียวกันนี้มีหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อย 2 ฉบับเปลี่ยนไปเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลเพื่อความอยู่รอด

ล้าสุดในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมากัมพูชาทะไม (Kampuchea Thmay) หรือ "กัมพูชาใหม่" ถูกบุตรสาวของครอบครัวฮุนเซนซื้อไป ทำให้พรรคฝ่ายค้านไม่มีปากเสียงทั้งในและนอกสภา ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงสื่อโทรทัศน์

นช.ทักษิณ ไม่มีอะไรที่สามารถเทียบกับฮุนเซนได้เลยในเชิงชั้น แต่สิ่งที่สองฝ่ายมีเหมือนกันคือ ความอิ่มหมีพีมันจากการเมือง และส่วนที่ฮุนเซนไม่มีก็คือเงินมหาศาล ซึ่งนักโทษชาวไทยช่วยเติมเต็มให้ได้

ถ้าหากนักโทษชายสามารถพลิกผันชีวิตกลับไปกุมนโยบายในประเทศไทยได้อีกครั้งหนึ่ง ก็อาจจะกลายเป็นว่า เงินมหาศาลของครอบครัวหนึ่งกับทรัพยากรมหาศาล ที่อยู่ในมือของกลุ่มปกครองกลุ่มหนึ่ง ก็อาจจะหลอมกันได้อย่างลงตัว แม้ว่าประชาชนสองประเทศจะได้รับแค่เศษเงินก็ตาม

ต้องพึงสังเกตว่า การแผลงฤทธิ์รุนแรงของฮุนเซน ยังมีขึ้นในช่วงที่ปัญหา "เวียดนามฮุบดินแดน" ทางชายแดนตะวันออกกลายเป็นประเด็นร้อนระอุในประเทศ เรื่องนี้ถูกนายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านเปิดโปงออกมาโดย มีหลักฐานให้เห็นชัดๆ หลังจากก่อนนี้เคยเป็นเพียงการกล่าวหา และเป็นความลับมานานจากการครอบงำสื่อ

“ปัญหาเวียดนาม” เป็นแผลเก่าเรื้อรังที่เยียวยาได้ยาก แม้ว่าฮุนเซนจะประสบความสำเร็จอย่างสูงในการปลุกปั่นให้ชาวเขมรเกลียดชังประเทศไทย แต่จะไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้ชาวเขมรเกิดรู้สึกรักเวียดนาม เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่ชายแดนตะวันออก ฮุนเซนจะใช้วิธี ปิดปากเงียบ และพยายามปิดบังซ่อนเร้น

เรื่องนี้เป็นจุดอ่อนที่ติดตัวฮุนเซนมาตั้งแต่วันที่กองทัพเวียดนามจัดตั้งรัฐบาลขึ้นในกรุงพนมเปญ ในเดือน ม.ค.2522 และ อาจจะกลายเป็นจุดตายของกัมพูชา-ฮุนเซนได้ในวันหนึ่ง การดึงความสนใจของชาวกัมพูชา มายังชายแดนไทย จึงเป็นทางแก้ที่ฮุนเซนเลือกใช้มาทุกยุคทุกสมัย และ ทำได้ง่ายยิ่งกว่า

และเมื่อมองจากจุดนี้ทำให้มีข้อถกเถียงกันว่า ใครกันแน่ที่เป็น “เบี้ย” ฮุนเซนหรือทักษิณ? แต่ไม่ว่าใครจะเป็นอะไร รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังเผชิญกับการทดสอบครั้งสำคัญ

ย้อนเหตุการณ์เผาสถานทูต : ทักษิณสยบฮุนเซน

สถานการณ์ไทย-กัมพูชามีแนวโน้มที่จะเกิดความตึงเครียด ไม่ต่างกับเหตุการณ์เมื่อกว่า 6 ปีก่อน ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งผู้นำจะต้องตัดสินใจ ในการแก้ไขปัญหาอย่างทันสถานการณ์ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม

การตอบโต้ของฝ่ายไทยมีขึ้นในจังหวะที่ดียิ่ง นั่นคือไทยได้หมดภาระการนำกลุ่มอาเซียนลงในปีนี้ เวลาที่เหลืออยู่จึงสามารถจัดการกับเพื่อนบ้านที่เกเรได้ถนัดมือกว่าเดิม และ อาจจะต้องย้อนกลับไปศึกษาบทเรียนในอดีต

ในเหตุการณ์เผาสถานทูตไทย วันที่ 29 ม.ค.2546 พ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในการชั่งสถานการณ์ และ ตัดสินใจงัดไม้แข็งเล่นฮุนเซนจนอยู่หมัด

ไทยได้ส่งทหารดุ่มๆ เข้ากรุงพนมเปญ ซุกรถลำเลียงพลฮัมวี่ไปบนเครื่องบินซี 130 เพื่อคุ้มกันขบวน ทหารทุกคนติดอาวุธทันสมัยครบมือดูแข็งขัน นำชาวไทยออกจากสนามบินโปเจินตง กลับประเทศอย่างปลอดภัย และ ได้รับการชดใช้ความเสียหายจากกัมพูชาอีกด้วย

ในครั้งนั้นความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาเสื่อมทรามลงถึงจุดต่ำสุด มีการปิดพรมแดน ปิดกั้นการติดต่อสัมพันธ์ประชาชนกับประชาชน ต้องใช้เวลานานข้ามปีในการเยียวยา และก็เป็นที่ชัดเจนว่าผลประโยชน์ขุมน้ำมันและก๊าซในเขตทับซ้อนในอ่าวไทย เป็นแรงบันดาลใจให้ทักษิณ-ฮุนเซน ต้องรีบกลับมาดีกันอีกครั้ง

"วิกฤตการณ์เผาสถานทูต" ครั้งนั้น เกิดขึ้นในยุคข้าวใหม่ปลามัน ระหว่างประเทศไทยกับรัฐบาลพรรคไทยรักไทย พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถกอบโกยคะแนนนิยมอย่างท่วมท้น ในฐานะผู้นำที่กล้าตัดสินใจ เด็ดขาด แม้หลายเสียงจะวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแค่การจัดฉาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลงานนี้มีส่วนสำคัญให้ "รัฐบาลทักษิณ 2" มีเสียงข้างมากอย่างท่วมท้น หลังการเลือกตั้งอีกสมัย และ พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำ จนถูกปรามาสว่าถึงยุคที่จะต้องเป็นฝ่ายค้านไปชั่วนิรันดร

พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถเอาชนะใจคนไทยทั้งประเทศ และทหารทั้งกองทัพ เอาชนะด้วยวาจา ท่าที กับการสั่งการในฐานะแม่ทัพที่มีความเด็ดขาดและเข้มแข็ง ไม่เสียกระสุนปืนแม้แต่นัดเดียว ไม่มีใครเสียชีวิต ไม่มีการนองเลือด

ในวันนั้นผู้คนนับล้านๆ ที่ชมข่าวข่าวโทรทัศน์ตอนหัวค่ำได้เห็นไฟลุกไหม้ลามอาคารสถานทูต ได้เห็นควันพวยพุ่ง และ ได้เห็นซากสิ่งหักพัง แต่เวลาต่อมาก็ได้เห็นแม่ทัพนายกกองประชุมในวอร์รูม โดย พล.อ.สุรยุทร์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นั่งหัวโต๊ะ กางแผน "โปเจนตง 1 และ 2"

ในวันนั้นชาวไทยรู้สึกอบอุ่นที่ได้เห็นภาพเครื่องบินเอฟ-16 ทะยานขึ้นจากรันเวย์ และ ได้เห็นกองเรือราชนาวีที่นำโดยเรือหลวงจักรีนฤเบศ เคลื่อนออกจากอ่าว..

วันรุ่งขึ้นชาวไทยนับล้านๆ พากันโล่งอก เมื่อได้เห็นพี่น้องชาวไทยในกัมพูชาเดินทางกลับถึงบ้านเกิดอย่างปลอดภัยในเครื่องบินทหาร คนทั้งประเทศต่างรู้สึกลิงโลดใจในฐานะ "ผู้ชนะ" และหลายคนอดที่จะเปรียบเทียบไม่ได้ว่า ในสถานการณ์เช่นนั้นประเทศไทยจะตกอยู่ในฐานะลำบากอย่างไรหากผู้นำยังเป็นนาย ช.เชื่องช้า ..

ในวันนี้แก๊งฮุนเซน-ทักสิน จะไม่หยุดนิ่ง แต่การประสานกับความเคลื่อนไหวของบรรดาไส้ศึกภายในที่มุ่งเอาชนะทางการเมืองอย่างไม่ลืมหูลืมตา เขย่าบัลลังก์ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กำลังจะเริ่มขึ้น ขณะที่สัมพันธ์ไทย-กัมพูชาจะเสื่อมทรามลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่านายอภิสิทธิ์จะต้องการหรือไม่ก็ตาม

และทุกอย่างส่อเค้าจะมีความยุ่งยากมากกว่าเมื่อกว่า 6 ปีก่อน

ในเดือน ม.ค.2546 พ.ต.ท.ทักษิณ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้างภาพลักษณ์ผู้นำที่กล้าหาญ สามารถนำประชาชนและเหล่าทัพฝ่าวิกฤติการณ์ที่ประเทศไทยเป็นฝ่ายถูกกระทำได้อย่างทันการณ์ คนไทยได้เห็นบรรดาแม่ทัพกับผู้บังคับบัญชาระดับสูง รวมทั้งรัฐมนตรีกลาโหมอยู่ในสภาพพร้อมรบอย่างเข้มแข็ง

ชัยชนะของไทยในครั้งนั้นไม่ใช่ได้มาด้วยวาจากับความสงบนิ่ง แต่ด้วยการแสดงความเข้มแข็งที่เหนือกว่า มีการประสานพลังของประชาชนที่ลุกฮือไปรายล้อมสถานทูตกัมพูชาที่ถนนราชดำริ เปล่งเสียงตะโกนสาปแช่ง การเผาสถานทูต บุกเข้าปล้นสะดมผลประโยชน์ของไทย กับการปองร้ายชาวไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงพนมเปญ

ทั้งหมดดำเนินไปอย่างมีอารยะ และ ด้วยแต้มคูที่เป็นต่อในสายตาของระหว่างประเทศ

แต่ในวันนี้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จะต้องกวาดสายตาเพื่อสำรวจว่า ทรัพยากรต่างๆ กลไกอำนาจรัฐต่างๆ ที่ นช.ทักษิณ เคยใช้ได้ผลเมื่อกว่า 6 ปีก่อน ยังมีให้ใช้ได้อยู่หรือไม่? การสนับสนุนจากประชาชนเพียงพอหรือไม่? และ นายกรัฐมนตรีกล้าตัดสินใจที่จะแตกหักหรือไม่ หากสถานการณ์เช่นนั้นมาถึง?

ถ้าหากตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ ก็จะไม่มีทางเลือกอื่น มีแต่จะต้องกลับไปเป็นฝ่ายค้านตลอดกาล และ ประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศ ก็จะถูกตราหน้าเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อการนำประเทศไทยดิ่งลงสู่จุดเสื่อมทรามต่ำสุดทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น