ลำปาง - นักวิชาการรั้วมหาวิทยาลัยในลำปาง ออกโรงหนุนนโยบาลรัฐบาลเรียตัวทูตไทยกลับจากเขมร-ทบทวนความสัมพันธ์ แถมเตรียมรื้อพันธกรณี และมาตรการความช่วยเหลือใหม่ พร้อมเตรียมประสานเครือข่ายด้านอุดมศึกษาภาคเหนือตอนบนเคลื่อนไหวปกป้องศักดิ์ศรีของชาติ หลัง “ฮุนเซน” ตั้ง “นช.ทักษิณ ชินวัตร” ผู้ต้องหาหลบหนีคดีอาญาไทยเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ สนองผลประโยชน์ส่วนตัว ย้ำชัด “ฮุนเซน” แทรกแซงกิจการภายในของไทย เรียกร้องทุกฝ่ายผนึกกำลังร่วมปกป้องศักดิ์ศรีชาติไทย
อาจารย์วันชาติ นภาศรี รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนามหาวิทยาลัยโยนก จังหวัดลำปาง สอนวิชากฎหมาย กล่าวว่า เห็นด้วยและเห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องมีมาตรการที่เด็ดขาดและแข็งกร้าวออกตอบโต้ โดยเฉพาะขั้นแรกที่เรียกตัวทูตไทยกลับก็ถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนของการทูตแล้ว เพราะการออกแถลงการณ์ของรัฐบาลเขมร ถือว่าเป็นการก้าวก่ายอำนาจอธิปไตยและศักดิ์ศรีของไทยมาก
ส่วนความรุนแรง ณ เวลานี้ คิดว่ายังไม่น่าจะเกิดขึ้น หากมองเป็น 3 มิติ คือ 1.ความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ รัฐบาลกับรัฐบาล 2.กองทัพ 3.ประชาชน ดูแล้วยังไม่มีปัญหา
ทั้งนี้ในมุมของนักวิชาการเห็นว่า ทางกัมพูชาควรจะหันไปทบทวนบทบาทของตนเอง แต่กลับเป็นว่ากุมพูชาตอบโต้ไทยกลับมา โดยการเรียกทูตกลับก็ถือเป็นการตอบโต้รัฐบาลไทย ทั้งๆที่จุดเริ่มต้นเกิดจากฝ่ายเขมรเองในการก้าวล่วงอำนาจอธิปไตยของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยควรตัดความช่วยเหลือบางอย่างที่เคยให้กับกัมพูชา เพราะไทยต้องแข็งกร้าวบ้าง เพื่อความขัดแย้งไม่ได้เกิดขึ้นจากไทย
“ในตอนแรกหากเขมรจะแต่งตั้งทักษิณทำหน้าที่อะไรก็แต่งตั้งไป แต่ก็ไม่ควรมาวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม วิจารณ์เรื่องการเมืองของไทย คุณเป็นใครถึงมาตัดสินเรื่องราวภายในประเทศของเราว่า นี่คือเรื่องการเมือง ถือว่าเป็นการก้าวก่ายอย่างมาก และยิ่งกลับมาตอบโต้ด้วยวิธีการรุนแรงเหมือนกับเราโดยการเรียกทูตกลับ ยิ่งไปกันใหญ่
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์กันจริงๆ แล้วก็คงเป็นเรื่องผลประโยชน์ระหว่าง ฮุนเซนกับทักษิณ โดยเฉพาะเรื่องบ่อน้ำมันมากกว่า และในอนาคตกัมพูชา จะมีกลุ่มทุนเข้าครอบงำ จะมีการคอรัปชั่นในกัมพูชา 100% อย่างแน่นอน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นในเขมรเวลานี้ และในอนาคตรัฐบาลไทยควรตัดความช่วยเหลือกัมพูชาบางด้าน”
ทั้งนี้ เห็นว่า ณ เวลานี้ยังไม่สมควรปิดชายแดนการค้าขาย ควรปล่อยให้ดำเนินการต่อไป แต่ควรตัดความช่วยเหลือด้านการพัฒนาด้านอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจที่ไทยให้ความช่วยเหลืออยู่ ควรจะไล่ระดับขึ้นไป
ส่วนการที่ประชาชนของเขมรยังคงเห็นดีเห็นงามกับการกระทำของผู้นำตนเอง ก็เกิดมาจากการวางรากฐานของฮุนเซน ที่ปลูกฝังให้ประชาชนของตนเองคลั่งชาติมากกว่ารักชาติ เมื่อประชาชนคลั่งชาติแล้วผู้นำจะสั่งอะไรก็ได้ เมื่อคลั่งชาติแล้วคนเขมรก็มองว่าไทยเป็นชาติที่ไปรุกรานเขมร อย่างกรณีเขาพระวิหาร เป็นต้น โดยที่ไม่ได้ดูเลยว่าจุดของความขัดแย้งเกิดจากฮุนเซน ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลไทย ไม่ได้เกิดจากคนไทย แต่มีคนไทยเพียงคนเดียวที่เข้าไปก่อความวุ่นวายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น
“คนคนเดียวทำประเทศเดือดร้อนทั้งประเทศ”
อาจารย์วันชาติบอกอีกว่า มาถึงเวลานี้อยากให้ทุกฝ่าย องค์กรภาคประชาชน ส.ส. ส.ว. ศาล ออกมาผนึกกำลังเพื่อปกป้องศักดิ์ของคนไทย ของชาติไทย อย่ามั่วแต่เฝ้าดูแล้ววิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างเดียว ซึ่งในส่วนของภาคการศึกษา ตนกำลังประสานไปยังองค์กรอุดมศึกษาภาคเหนือตอนบน 16 สถาบัน ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของชาติไทยในเรื่องนี้ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่การออกมาเชียร์รัฐบาล แต่เป็นการออกมาปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นชาติแล้ว คาดว่าน่าจะประชุมกันได้ในสัปดาห์หน้า
ด้านอาจารย์ ดร.ชาติชาย เชรษฐสุมน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวเห็นด้วยกับการออกมาตอบโต้ของรัฐบาลไทยต่อเขมรในกรณีดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือรัฐอื่นไม่ควรเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของรัฐไทย ส่วนปัญหาชายแดนหรือปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ก็ควรไปแก้ในเรื่องนั้นๆ
สำหรับแถลงการณ์ของรัฐบาลไทยที่ออกมาก็แสดงให้เห็นจุดยืนชัดเจนว่า ทางเขมรควรแยกความสัมพันธ์ส่วนตัว กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการให้ข่าวของสมเด็จฮุนเซน ครั้นเดินทางมาไทย ถือว่าไม่สมควรจะทำอย่างยิ่ง
ในแถลงการณ์ของไทย แสดงให้เห็นว่า การที่สมเด็จฯ ฮุนเซนจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่ออดีตนายกฯ ของไทยก็เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เมื่อไหร่ที่ทำให้เกิดผลกระทบกับประเทศแล้ว ไทยเองก็ยอมไม่ได้เช่นกัน ซึ่งมาถึงเวลานี้ถือว่ารัฐบาลไทยก็ทำอะไรได้เร็ว คิดว่าคงมีการเตรียมการณ์ก่อนหน้านี้แล้ว และมาถึงเวลานี้สถานการณ์กลายเป็นเรื่องศักดิ์ศรีของชาติไปแล้ว ซึ่งรัฐบาลก็ดำเนินการถูกต้อง ในการดูแลเกียรติภูมิของรัฐ โดยไม่ยอมให้รัฐอื่นเข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการผิดหลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศด้วย