xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดSECCดิ้นฟื้นฟูกิจการแก้ทุนติดลบ-ผู้บริหารทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – บอร์ด “เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ฯ” อนุมัติให้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง หลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ขีดเส้นให้แจงทางเลือกดำเนินการก่อนวันที่ 20 พ.ย.นี้ เหตุส่วนของผู้ถือหุ้นสิ้นปี 51 ติดลบกว่า 573 ล้านบาท บวกกับปัญหาทุจริตของผู้บริหาร

นายสรรพพล รัตนรุ่งโรจน์ กรรมการ บริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ SECC กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้ดำเนินการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อศาลล้มละลายกลาง โดยมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารรายงานให้คณะกรรมการบริษัททราบเป็นระยะๆ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท และของผู้ถือหุ้น และบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย
พร้อมกันนี้ ยังได้อนุมัติให้กรรมการบริหารดำเนินการมอบหมายและแต่งตั้งให้บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล เอส.เจ.จำกัด และ/หรือนางอรอนงค์ กับคณะทนายความ ดำเนินการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ทั้งนี้ เมื่อเมื่อบริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางแล้วจะรายงานให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบต่อไป
สำหรับบมจ.เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส นั้น ประสบปัญหาด้านการดำเนินงานต่อเนื่อง หลังจาก นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ ประธานกรรมการบริษัท พร้อมพวกรวม 5 ราย กระทำการทุจริต ด้วยการเบียดบังเอาทรัพย์สินบริษัทเป็นของตนเองหรือบุคคลอื่น โดยการจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้ารถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง เพื่อเป็นเหตุอำพรางให้บริษัทจ่ายเงินค่ารถที่ไม่มีอยู่จริงดังกล่าวออกจากบริษัทเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล
ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ประกาศให้ SECC เป็นบริษัทที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน และคงขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) ห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 1กันยายน 2552 รวมทั้งผลการดำเนินงานล่าสุดได้แจ้งงบการเงินประจำปี 2551 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2551 พบว่า บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าต่ำกว่าศูนย์ หรือติดลบ 573.962 ล้านบาท
ทั้งนี้ งบการเงินฉบับดังกล่าวผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินโดยตั้งข้อสังเกตไว้ 3 ประการ ประการแรก ผู้สอบบัญชีถูกจำกัดของเขตการตรวจสอบโดยผู้บริหาร และระบบควบคุมภายในมีจุดบกพร่องที่มีสาระสำคัญอย่างมาก ประการที่สอง ความไม่แน่นอนของจำนวนหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น จากการที่ถูกลูกค้าร้องเรียนและฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนมาก และจากสถาบันการเงินเกี่ยวกับการผิดสัญญาและตั๋วสัญญาใช้เงิน และการเลิกจ้างพนักงานบริษัทและบริษัทย่อย ซึ่งยังไม่ได้ประมาณมูลค่าความเสียหาย
ประการสุดท้าย บริษัทยังปัญหาการดำเนินงานต่อเนื่อง จากการที่บริษัทมีผลขาดทุน 1,858.67 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 573.962 ล้านบาท
โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดให้ SECC แจ้งภายในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 ว่า บริษัทจะเลือกดำเนินการอย่างไรต่อไป ระหว่างจัดทำแผนปรับปรุงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานเสนอผู้ถือหุ้น หรือจะฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย หรือจะขอเพิกถอนโดยสมัครใจ หรือมีทางเลือกอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท
ส่วนผลการดำเนินงานงวดปี สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2551 นั้น บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 1,858.67 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น3.88 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 31.96 ล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.08 บาท โดยมีรายได้จากการขายรถยนต์ 1,486 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ 2,345 ล้านบาท ลดลง 36.6% รายได้จากการให้บริการ 129 ล้านบาท ลดลง 2.3% จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และกรณีผู้บริหารชุดเก่าได้หลบหนีไปเมื่อสิ้นปี2551 ทำให้การขายรถยนต์ต้องหยุดชะงัก จึงทำให้ยอดขายรถยนต์ปี 2551 ลดลงเป็นอย่างมาก
ขณะที่ต้นทุนขายรถยนต์อยู่ที่ 1,184 ล้านบาท คิดเป็น 79.7% ของยอดขาย เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 1,939 ล้านบาท คิดเป็น 82.7% ของยอดขาย ส่งผลทำให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 17.3% เป็น 20.3% และต้นทุนการให้บริการ 99 ล้านบาท หรือ 76.7% ลดลงจากปีก่อนที่ 107 ล้านบาท หรือ 81% ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 19% เป็น 23.3% ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 316 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 283 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.7%
พร้อมกันนี้ บริษัทได้ตั้งสำรองค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย สำรองหนี้สงสัยจะสูญ 128.2 ล้านบาท สำรองการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อย 300 ล้านบาท เนื่องจากการลงทุนในบริษัท เอสอีซีซี โฮลดิ้ง จำกัด มีความเสี่ยงในการไม่ได้รับเงินที่ให้บุคคลอื่นกู้ยืมคืน และสำรองค่าเผื่อมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลง 1,389 ล้านบาท จากการสรุปผลของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเป็นเหตุให้เชื่อว่ามีการยักยอกถ่ายเทรถยนต์โดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย และค่าใช้จ่ายทางการเงิน 62 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนประมาณ 17%
กำลังโหลดความคิดเห็น