รายงานพิเศษ
โดย...แสงตะวัน
ขณะที่สาธารณชนกำลังทุ่มความสนใจติดตามข่าวการพิพากษาคดีอาญาของ “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” อีกฟากหนึ่ง สำนักงานอัยการสูงสุด มีการเปลี่ยนแปลงแต่งตั้งโยกย้ายแทนผู้เกษียณอายุราชการเพิ่งเสร็จสิ้นลงอย่างมีนัยสำคัญ
นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ลงนามคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ 523/2552 โดยคณะกรรมการอัยการ (กอ.) ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งโยกย้ายอัยการตั้งแต่รองอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการฝ่ายจนมาถึงอัยการอาวุโสทั่วประเทศรวม 222 ตำแหน่ง
ในจำนวนผู้ได้รับแต่งตั้งรอบปีนี้มีอัยการที่มีบทบาทและเกี่ยวข้องกับคดีการเมือง ซึ่งได้รับการขยับให้เข้าสู่เก้าอี้สำคัญอย่างต้องจับตาหลายคน ...
นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเพิ่งเปิดหน้าชนอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) จากการพ่ายคดีกล้ายางพาราให้กับจำเลย จนเป็นการเปิดศึก อัยการ VS คตส. อย่างเปิดเผย หลังจากที่คลุมเคลืออยู่นานนับตั้งแต่คณะทำงานของอัยการสูงสุดไม่เห็นพ้องสั่งฟ้องคดีให้กับ คตส.
การออกมาแถลงข่าวคดีกล้ายางของนายธนพิชญ์ คงได้รับอาณัติสัญญาณจากอัยการสูงสุด รวมถึงทีมอัยการคดี คตส.คงเห็นด้วยเพราะธนพิชญ์ไม่ใช่ “โฆษกช่างแถลง” และทุกคนต่างก็เก็บกดอาการคิดว่า คนทั่วไปไม่เข้าใจไม่พอใจอัยการที่ไม่ฟ้องคดีให้ คตส. และมองอัยการเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชนมาตลอด ดังนั้นในวันที่ศาลยกฟ้องคดีกล้ายาง จึงเป็นนาทีของการรอคอยออกมาเอาคืน
แต่การแสดงครั้งนี้ นอกเหนือจากระบายอารมณ์เป็นการส่วนตัวใส่ คตส.แล้ว เลี่ยงไม่ได้ที่นายธนพิชญ์และกลุ่มอัยการที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกมองอย่างวิเคราะห์ความสัมพันธ์ความเป็น “เสื้อเหลือง เสื้อแดง” เพราะคดีของคตส.เป็นที่ทราบกันดีว่าเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเครือข่ายระบอบทักษิณ การอยู่ตรงข้ามกับ คตส.ถ้าไม่มีจุดยืนอยู่ตรงกลางอย่างชัดเจน อัยการก็อาจถูกมองว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณได้ ซึ่งนั่นจะเป็นปัญหาในอนาคตอันใกล้ที่จะพิสูจน์บทบาทอัยการ เพราะยังมีคดี คตส.อีกหลายคดีอยู่ในมือและรอให้พิจารณาสั่งฟ้อง
จุดนี้เองที่มีนัย และเกี่ยวพันมาถึงการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายอัยการล็อตนี้ อัยการสูงสุดชัยเกษม ผลักดันให้อัยการธนพิชญ์นั่งเป็น “อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ” คนใหม่โดยโยกสลับตำแหน่งกับ นายเศกสรร บางสมบุญ ซึ่งครองเก้าอี้อธิบดีอัยการคดีพิเศษมานาน 4 ปี และเป็นหัวหอกฟ้องคดีที่ดินรัชดาภิเษกจนทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีอยู่ทุกวันนี้
ก่อนหน้าที่โผจะลงตัว อธิบดีเศกสรร แสดงความสามารถและประสงค์จะขอต่อตั๋วเป็นอธิบดีทำคดีพิเศษต่อไปอีกรอบ แต่ตั๋วก็หมดอายุ โดยนายเศกสรรได้รับรางวัลจากอัยการสูงสุดให้โยกไปเป็น อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร ซึ่งไม่น้อยหน้าตำแหน่งเดิม หากแต่สำคัญด้อยกว่าในทางการข่าว เห็นได้จากนายธนพิชญ์เป็นอธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจฯ มานาน แต่ไม่มีคนรู้จักเท่ากับการที่เขานั่งควบเป็นโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการมีชื่อเสียงแล้ว การที่ได้ “คุมคดีสำคัญ” ซึ่งทำให้อธิบดีอัยการคดีพิเศษ มี “อำนาจ” มากอยู่ในมือคงเป็นเหตุผลหลักที่จะต้องมียุทธศาสตร์ในการจัดวางผู้ดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะการคุมการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดี “ซีทีเอ็กซ์ 9000” ซึ่งมีชื่อ นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นหนึ่งในผู้ต้องหา ซึ่งคณะทำงานอัยการพิจารณาคดีนี้มาตั้งแต่นายชัยเกษมยังไม่เป็นอัยการสูงสุด จนพ้นตำแหน่งก็ยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้น ถึงแม้นายชัยเกษมจะแสดงออกมาตลอดว่าไม่วิตก เพราะเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ แต่การจับวางนายธนพิชญ์ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาแล้วเขายังเป็น “เพื่อนเขย” ของนายชัยเกษม ให้มาเป็นอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษก่อนที่นายชัยเกษมจะพ้นวาระดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดไป
เท่ากับเขาเลือกคนใกล้ตัวไว้คอยคุมคดีซีทีเอ็กซ์ 9000 เพราะเป็นสัจธรรมของอำนาจเมื่อคล้อยหลังพ้นไปแล้ว คดีซีทีเอ็กซ์อาจถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาสั่งได้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้ เพราะหากอนุมัติให้นายเศกสรรได้นั่งบริหารต่อ ความไม่แน่นอนอาจเกิดขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมา 4 ปีแสดงให้เห็นแล้วว่านายเศกสรรทำงานสั่งคดีการเมืองตามเนื้อผ้า แต่ก็ขึ้นอยู่กับทิศทางอัยการสูงสุดผู้มอบอำนาจให้ทำคดีแทน เมื่อไม่ได้เป็นอัยการสูงสุดแล้วนายชัยเกษมจึงไม่อาจวางใจนายเศกสรรที่จะต้องรับบัญชาอัยการสูงสุดคนใหม่ต่อไป
ทั้งนี้ การโยกย้ายครั้งนี้บุคคลที่เคยมีบทบาทกับคดีระบอบทักษิณมีโอกาสออกจากกรุมาแล้ว นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดยุคนายพชร ยุติธรรมดำรงได้รับการแต่งตั้งจากผู้ตรวจราชการมาเป็น “รองอัยการสูงสุดคนที่ 6” ซึ่งจะเป็นรองอัยการสูงสุดที่จะได้ขึ้นเป็น “อัยการสูงสุด” ต่อจาก นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดคนใหม่ (หากไม่มีอะไรผิดพลาด) ในวงการราชการแม้อำนาจจะยังรออยู่
ในอนาคตแต่จะทำให้ผู้มีโอกาสเป็นเจ้าของอำนาจนั้นเปล่งแสงเรืองรองได้ตั้งแต่ปัจจุบัน หากไม่ทำตัวเข้าตำรา ทำดีแล้วเด่นเป็นภัย ข้าราชการลูกน้องจะแห่ซูฮก เอาใจเป็นกบเลือกนาย
การกลับคืนสังเวียนอีกครั้งของนายอรรถพลซึ่งเคยฟาดฟันเปรี้ยงปร้างล้างระบอบทักษิณตามบัญชา อดีตอัยการสูงสุดนายพชร ยุติธรรมดำรง ซึ่งว่ากันว่าเป็นสาย คมช. หรือคณะมนตรีความมั่นแห่งชาติขณะนั้น จึงเป็นที่จับตาของทุกฝ่ายทั้งในสำนักงานอัยการสูงสุด และวงการเมืองอีกตำแหน่งหนึ่ง
ซึ่งวงในอัยการระดับสูงทั้งหลายในปัจจุบันต่างไม่ค่อยสบอารมณ์บทบาทการรับงานคิวบู๊ของนายอรรถพลกันสักเท่าไร แต่จะเบรกหรือหาทางเก็บเขาไว้ในกรุผู้ตรวจต่อไปก็ทำไม่ได้เพราะปีนี้รองอัยการสูงสุดครบ 60 ปีเพียบและตามธรรมเนียมต้องเลื่อนให้กับนายอรรถพล
ในบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายรอบนี้ คนที่ต้องพลอยฟ้าพลอยฝนพลาดคิวไปกับเขาด้วยอีกคนและเป็นเจ้าของผลงานเอา พ.ต.ท.ทักษิณเข้าคุกในคดีที่ดินรัชดาภิเษกตัวจริงก็คือ นายนันทศักดิ์ พูลสุข อดีตรองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ซึ่งออกไปกินตำแหน่งอธิบดีที่ฝ่ายศาลสูงเขต 8 ใครก็มองเห็นทางว่าเขาจะต้องกลับมากินตำแหน่งอธิบดีต่อนายเศกสรร เพราะนายนันทศักดิ์มีฝีมือและฝึกปรือไต่เต้ากฎหมายเกี่ยวกับคดีพิเศษอยู่จนชำนาญ แต่ด้วยความที่อยู่ในฝ่ายรัฐอิสระในสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อไร้เส้นทำให้ต้องเดินเข้าสู่ตำแหน่งแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ แม้จะมีความเหมาะสมก็ตามที
ปีนี้นายนันทศักดิ์จึงได้รับโอกาสเพียงย้ายกระเถิบจากภาค 8 มานั่งเป็น “อธิบดีอัยการฝ่ายคดีช่วยเหลือทางกฎหมาย” อยู่ใต้ตึกสำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ
กลับมาวิเคราะห์ที่อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษคนใหม่ปิดท้าย น่าจับตามองว่า การควบคุมสั่งการคดี คตส.ที่เหลืออยู่ในมือของเขาจะเป็นอย่างไรเมื่อเป็นขมิ้นกับปูนกันอย่างยากสมานขนาดนี้แล้ว คดีซีทีเอ็กซ์ 9000 คดีบ้านเอื้ออาทร คดีเงินกู้กรุงไทย คดีรถและเรือดับเพลิงกรุงเทพมหานคร แม้จะมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาสวมสิทธิดำเนินคดีแทน คตส. แต่คดีทั้งหมดก็เริ่มมาจากการไต่สวนของ คตส. และที่ผ่านมา นายธนพิชญ์พร้อมคณะทำงานอัยการคดี คตส.ก็แสดงออกมาตลอดเวลาว่า คดีที่เหลือทั้งหมดยังมี “ข้อไม่สมบูรณ์”
การได้ครอบครองอำนาจคุมคดีพิเศษของนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ จึงเหมือนดาบสองคม
จากเคยอยู่วงนอก นั่งเป็นหน้าม้าแถลงข่าวแทนองค์กร ตอนนี้มาจับคดีระบอบทักษิณด้วยตัวเอง เขาจะถูกเพ่งเล็งมากขึ้นว่าสวมเสื้อแดง กับเขาคนหนึ่งหรือไม่เพราะเกิดไปปะทะกับเสื้อเหลือง คตส.มามาด ๆ
และจะหาอะไรมารับประกันว่าการสั่งคดี คตส.ของฝ่ายคดีพิเศษในยุคเปลี่ยนหัวจะไม่บิดเบี้ยว เมื่ออัยการสูงสุดเลือกเอาคนที่เพิ่งแสดงบทปฏิปักษ์กับโจทก์มาเป็นทนายโจทก์.
ดังนั้นข้อสงสัย ทำไมอัยการสูงสุดจึงมีความเห็นว่าสำนวนคดี7ตุลาทมิฬยังไม่สมบรูณ์ และโยนสำนวนคดีกลับมาให้ป.ป.ช.สอบปากคำพยานเพิ่มเติมนั้น มีมูลเหตุมาอย่างไร ถึงตรงนี้น่าจะได้รับคำตอบแล้ว
และคดีพิเศษอีกหลายคดีก็จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์การทำงานของอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ที่น่าจับตาต่อไป