xs
xsm
sm
md
lg

‘สนามเด็กเล่น’แนวคิดใหม่ วัยไหนก็เล่นได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – ใครว่าสนามเด็กเล่นมีไว้สำหรับเด็กเท่านั้น ที่ญี่ปุ่น ประเทศที่มีประชากรชราภาพหนาแน่นที่สุดของโลก สนามเด็กเล่นกลับถูกครอบครองโดยผู้สูงวัยมากขึ้น
คนแก่มากมายไปร่วมคลาสบริหารร่างกายในสถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสนามเด็กเล่น แต่มาบัดนี้อุปกรณ์ทั้งหมดได้รับออกแบบสำหรับกลุ่มประชากรผมสีดอกเลาที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ความที่คนญี่ปุ่นมีลูกกันน้อยลง และเกือบ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด 123 ล้านคนมีอายุ 65 ปีขึ้นไป จึงมีเหตุผลสมควรที่รัฐบาลจะดัดแปลงสนามเด็กเล่นให้กลายเป็นสวนสาธารณะเพื่อการออกกำลังกายของคนวัยปลดเกษียณ
คลาสบริหารร่างกายที่ได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น สอนคนชราให้รู้จักวิธีใช้อุปกรณ์ต่างๆ
“ถ้าอยู่บ้านผมคงได้แต่นั่งๆ นอนๆ แต่มาที่นี่ ผมได้ยืดหลัง ทุกคนที่นี่ออกกำลังกายกันอย่างเอาจริงเอาจัง” ซอยชิโร ไซโตะ วัย 79 ปี ที่มาร่วมคลาสบริหารร่างกายสัปดาห์ละครั้งเล่า
คลาสที่ว่าอยู่ในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในโตเกียว ประกอบด้วยราวปีนป่ายที่ออกแบบมาสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ และมีครูฝึกคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
ประชากรสูงวัยส่วนใหญ่มาร่วมคลาสไม่ใช่เพื่อออกกำลังกายเท่านั้น แต่เพื่อใช้เวลาร่วมกับคนอื่น หลายคนอยู่โดดเดี่ยวจากชุมชน หรืออยู่ร่วมกับคู่ชีวิตอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน หรืออยู่ตามลำพัง
หลายคนบอกว่ามาเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง สามารถดูแลตัวเองได้ และเพื่อให้ห่างไกลจากโรงพยาบาลหรือสถานดูแลคนชรา
“ตั้งแต่ป่วย ขาฉันหนักขึ้น แต่พอมาออกกำลังกายขาเริ่มเบาลง จิตใจก็แจ่มใสด้วย” ไอกูโกะ ยามาโคชิ วัย 77 ปีที่ป่วยเรื้อรังบอก
ด้วยจำนวนประชากรที่อายุเกิน 100 ปีที่มีอยู่ถึงเกือบ 40,000 คน ญี่ปุ่นจึงกลายเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลก และประชากรกลุ่มนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
เงินลงทุนเริ่มต้นในสนามเล่นสำหรับผู้ใหญ่อยู่ที่ 87,220 ดอลลาร์ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์และค่าครูฝึก ซึ่งแม้ถือเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง แต่แอสโซซิเอชัน ออฟ ฟิสิคัล ฟิตเนส โปรโมชัน แอนด์ ไกแดนซ์ สมาคมที่จัดคลาสออกกำลังกายแก่ผู้สูงวัยทั่วญี่ปุ่นที่ได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น บอกว่าดีมานด์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
“ตอนนี้มีเด็กมาใช้อุปกรณ์ในสนามไม่มากนัก และอุปกรณ์ส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรมสมควรโละทิ้ง ดังนั้น เราจึงเห็นควรที่จะแทนที่ด้วยอุปกรณ์ออกกำลังกายสำหรับผู้ปลดเกษียณ” มาซาโตะ ไซโจ ผู้อำนวยการสมาคมกล่าว
ปี 2007 มีอุปกรณ์ที่ว่าติดตั้งอยู่ในสวนสาธารณะทั่วญี่ปุ่นกว่า 15,000 ชิ้น เพิ่มจากปี 1998 เกือบ 3 เท่า ขณะที่จำนวนเด็กอายุไม่เกิน 12 ปีใช้สนามเด็กเล่นประจำวันลดลงเหลือ 34% ในปี 2007 จาก 50% ในปี 1971
ในทางกลับกัน จำนวนผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปใช้สนามประจำวันเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น