xs
xsm
sm
md
lg

งบไทยเข้มแข็งเพื่อใคร! จี้รัฐบาลทำแผนรับมือ เอกชนหวั่นไม่คุ้มเงินภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อกล่าวถึง"งบไทยเข้มแข็ง" จำนวน 400,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ หรือ รัฐบาล"มาร์ค1"หวังใช้กระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทยอยเข้าสู่ระบบอย่างจริงๆจังๆในช่วงต้นปี 53 นี้ เมื่อมองในมุมของผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ทุกฝ่ายเห็นในทิศทางทางเดียวกันว่า เห็นด้วย เนื่องจากเป็นที่แน่ชัดว่าหากมีเม็ดเงินจำนวนมากเข้าระบบ จะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทุกระดับ

โดยเฉพาะภาคส่วนของธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ถือว่าเป็นธุรกิจต้นน้ำที่จะส่งผลต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทั้ง อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ และ จากการดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคม รวมถึงระบบชลประทาน เช่น โครงการก่อสร้างถนนปลอดฝุ่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการคลองชลประทาน และการก่อสร้างสถานพยาบาลฯลฯ

"งบประมาณมหาศาลที่จะถูกเทเข้ามา คงจะเติมชีวิตชีวาให้แก่ภาคธุรกิจต่างๆ ยิ่งกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง ที่ก่อนหน้านี้ เหมือนศพเดินได้ งานแทบไม่มี จากมูลค่างานทั้งภาครัฐและเอกชนในปี 50 กว่า 650,000 ล้านบาท ก็คิดว่าปีนี้ คงหายไป 50% เพราะทั้งภาคเอกชน และหน่วยงานราชการ ต่างชะลอการพัฒนาโครงการใหม่ หลังได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจบวกกับปัญหาการเมือง ที่ถูกผสมโรงด้วยกีฬาสีแต่ละฝ่าย " แหล่งข่าวในวงการระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการอนุมัติเม็ดเงินในโครงการไทยเข้มแข็งจำนวน 400,000 ล้านบาท ที่หลายท่านมั่นใจว่าจะได้รับประโยชน์กันทุกภาคส่วนน่าจะได้รับผลบวกกันถ้วนหน้า แต่ในมุมกลับกัน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เม็ดเงินเริ่มเข้าสู่ระบบ ใครจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ก้อนโตนี้ ประชาชน หรือ บริษัทรับเหมาก่อสร้างของนักการเมืองกันแน่ !

และที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก รัฐบาลมีการเตรียมพร้อมรับมือมากน้อยเพียงไร เพราะในขณะที่ทุกภาคส่วนต่างเตรียมพร้อมตั้งรับกับการเข้าไปรับงานโครงการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากงบประมาณดังกล่าวนั้น ซึ่งมองกันในเฉพาะแง่บวก แต่ในส่วนของผลลบนั้น "ไม่รู้"

โดยเฉพาะในภาคส่วนของรัฐบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารงบประมาณนั้น ปัจจุบันทราบเพียงว่า มีการวางแผนการที่จะกระจายเงินเข้าระบบ แต่ความคุ้มค่า ผลตอบแทนจากโครงการต่างๆ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว รัฐบาลมีการประเมินในแต่ละโครงการ ที่มีการอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ การอนุมัติงบประมาณโครงการพร้อมๆ กันในช่วง 1 ปีจากนี้ ในส่วนของรัฐบาลและผู้ประกอบการอสังหาฯ ภาคการก่อสร้าง และเอกชนนั้นมีการเตรียมมาตรการหรือแผนรองรับปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไว้อย่างไร เนื่องจากการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่พร้อมๆกัน จะเกิดการแข่งขันในการใช้วัสดุก่อสร้างในเวลาเดียวกันจำนวนมาก หรือเกิดภาวะดีมานด์ดีดตัวอย่างรวดเร็ว อาส่งผลให้เกิดภาวะการณ์ขาดตลาดของวัสดุก่อสร้าง เกิดการกักตุนวัสดุก่อสร้าง และผู้ผลิตก็อาศัยจังหวะและโอกาสนี้ "ฮั้วราคาขาย" อย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนตัวจริงเห็นจะหนีไม่พ้นประชาชน และกลุ่มผู้รับเหมาช่วง และรับเหมารายย่อย

ในขณะที่ภาคอสังหาฯนั้น อาจต้องพบกับปัญหาความผันผวนของต้นทุนการก่อสร้าง จากการปรับตัวของราคาวัสดุก่อสร้าง และต้นทุนการเงินที่อาจจะปรับตัวสูงตามเทรนของอัตราดอกเบี้ย

ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างสูงนั้น หากรัฐบาลและภาคเอกชนที่มองว่าจะได้รับผลบวก โดยไม่มองถึงผลลบและไม่มีการเตรียมแผนรับมือ อาจจะตกที่นั่งลำบาก โดยรัฐบาลของนายกฯหลงยินดีว่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการไทยเข้มแข็งอาจต้องเจ็บตัวกันแบบไม่ตั้งตัวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น