xs
xsm
sm
md
lg

ปูดชินวรณ์ล็อบบี้วิป2ฝ่ายแก้รธน.ไม่ตัดสิทธิกก.บห.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภารดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการประชุมวิป 3 ฝ่าย เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมาว่าการประชุมเป็นข้อตกลงเก่าๆ ประเด็นคุยกันก็ไม่มีอะไรใหม่ เป็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น และได้มีการเลื่อนนัดประชุมครั้งต่อไปเป็นวันที่ 12 พ.ย.เพราะเดิมทีนัด 5 พ.ย. ซึ่งการทำเช่นนี้ของรัฐบาลเหมือนเป็นการถ่วงเวลา ไปเรื่อยๆ น่าจะจริงอย่างที่ฝ่ายค้านบอกว่ารัฐบาลซื้อเวลาไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายภารดร กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นในที่ประชุมหารือกันอย่างหนักคือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ซึ่งเป็นประเด็นการยุบพรรค นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ประธาน วิปรัฐบาล เสนอว่า ในประเด็นการยุบพรรคนี้กรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรค ไม่ควรโดนเว้นวรรคทางการเมือง ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯไม่ได้สรุปเช่นนั้น ส่วนเรื่องทำประชามตินั้นตนเห็นด้วย แต่ต้องทำให้ชัดเจนทุกประเด็น
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้าน ไม่เข้าร่วมการประชุมวิป 3 ฝ่ายเพื่อหารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า รู้สึกผิดหวังและไม่เข้าใจว่าฝ่ายค้านมีเหตุผลอะไร ที่ปฏิเสธกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นห่วงกรณีที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ออกมายืนยันที่จะไม่เข้าร่วมการประชุม เพราะได้รับคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงทำให้เห็นได้ชัดว่าอดีตนายกรัฐมนตรี ยังเคลื่อนไหวและขัดขวางการะบวนการที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ และทำให้บ้านเมืองไม่สามรถเดินไปสู่ความสงบสุชได้ ทั้งนี้
การที่ร.ต.อ.เฉลิมออกมาระบุว่า การที่พรรคเพื่อไทยถอนตัว เพราะมติ 6 ข้อ ของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯไม่ตรงตามที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอนั้น ไม่เป็นความจริงเลย เพราะพรรคเพื่อไทยมีตัวแทนเข้าร่วมการประชุมโดยตลอด และข้อเสนอทั้ง 6 ข้อ ก็เป็นประเด็นที่พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอเอง แต่ประเด็นที่ส่วนใหญ่คัดค้าน คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ที่มองว่าหากมีการแก้ไขมาตราดังกล่าว จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ รอดพ้นจากคดีอาญาได้ คงไม่ใช่เป็นเพราะแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่ไม่ตอบโจทย์ต่อสังคม แต่เป็นการไม่ตอบโจทย์ของนายใหญ่ มากกว่า นพ.บุรณัชย์กล่าว
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ การที่พรรคเพื่อไทยประกาศจุดยืน ที่จะล้มการทำประชามตินั้น จึงอยากให้พรรคเพื่อไทยทบทวน และหันมาเข้าร่วมกับแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์ อย่างไรก็ตาม หากพรรคเพื่อไทยไม่เข้าร่วม ก็ไม่มีผลกระทบ เพราะสามารถทำตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 291ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น