“อุบัติเหตุรถไฟขบวนที่ 84 ตกรางที่สถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นอุบัติเหตุครั้งที่ร้ายแรงที่สุดของ ร.ฟ.ท.ในรอบ 30 ปี” เป็นข้อความในแถลงการณ์ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) ซึ่งเชิญชวนให้สมาชิกออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ออกจากตำแหน่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหภาพฯ ร.ฟ.ท.เคลื่อนไหวด้วยการหยุดเดินรถ คัดค้านการแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.ด้วยการตั้ง บริษัทลูกด้านการเดินรถ และบริหารทรัพย์สิน
ทำให้รัฐบาลต้องตั้งพลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเจรจาไกล่เกลี่ย และจนถึงขณะนี้ทุกอย่างที่อยู่ในแผนฟื้นฟู ต้องหยุดชะงัก ตามข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการเจรจากับสหภาพฯ รวมถึงการจัดตั้งบริษัทลูกเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งค์ ที่ยังไร้ข้อสรุปว่าจะจัดตั้งได้หรือไม่ ในขณะที่กำหนดเปิดเดินรถใกล้เข้ามาทุกที
แม้การหยุดเดินรถของสหภาพฯ ร.ฟ.ท. จะเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ภาพพจน์องค์กรเสียหาย กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของทุกคน แต่การเคลื่อนไหวของสหภาพฯ ร.ฟ.ท.ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะคงไม่มีใครรู้เรื่องรถไฟดีเท่าคนรถไฟเอง เหตุใดสหภาพฯ จึงเคลื่อนไหวขับไล่นายยุทธนาโดยไม่เปิดทางให้เกิดการเจรจาร่วมกัน
ปัญหาที่แท้จริงของ ร.ฟ.ท. คืออะไรกันแน่ มีอะไร ที่ยังถูกปกปิด อะไรที่ทำให้พนักงาน ร.ฟ.ท.ที่เป็นสมาชิกสหภาพฯ ยอมทำให้ประชาชนเดือดร้อน และถูกสังคมประณาม
แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า กรณีรถไฟตกรางที่สถานีเขาเต่าเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สหภาพฯ ร.ฟ.ท.เดินหน้าอย่างเข้มข้นในการขับไล่นายยุทธนา ผู้ว่าฯร.ฟ.ท.ออกจากตำแหน่ง โดยกำหนดเวลา 7 วันหลังยื่นหนังสือต่อนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ปลดนายยุทธนา
เพราะรถไฟตกรางครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุร้ายแรงมากแม้ว่ารถไฟจะมีอุบัติเหตุตกรางอยู่บ่อยครั้งแต่ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพทางที่มีปัญหา แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งในเมื่อปี 2532 เคยเกิดเหตุรถไฟตกเขา เป็นขบวนรถเร็ววิ่งไปเชียงใหม่ตกเขาที่ จ.แพร่ มีผู้เสียชีวิต นายเชิด บุณยะรัตเวช ผู้ว่าฯร.ฟ.ท. ในขณะนั้นลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แม้ผลสอบสวนพบว่าคนขับรถขบวนดังกล่าวเมาและใช้ความเร็วเกินกำหนดจนวิ่งตกเขา
แต่อุบัติเหตุครั้งนี้ นายยุทธนากลับไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ และยังมีพฤติกรรมในการชี้นำการสอบสวน ปกปิดข้อมูลที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการทำงานของ Deadman Device ซึ่งพนักงานขับรถจะต้องเหยียบเป็นระยะๆ หากเหยียบค้างหรือปล่อยค้างนานเกิน 8 วินาทีแรก ระบบจะส่งเสียงเตือน และหากยังไม่มีการตอบสนอง อีก 4 วินาทีต่อมา
ระบบจะเตือนอีกครั้ง และจะทำงานอัตโนมัติตัดระบบ Power การจ่ายไฟ และระบบห้ามล้อจะทำงานอัตโนมัติความเร็วรถจะลดลง และ Overspeed Protection จะเป็นอีกตัวหนึ่งที่ควบคุมเวลาความเร็วรถเกินกว่ากำหนด
กรณีคนขับรถหลับระยะจากสถานีวังพงถึงสถานีเขาเต่า วิ่งด้วยความเร็วปกติใช้เวลา 9 นาที เหตุใดอุปกรณ์ทั้ง 2 ตัวไม่เตือนและหากทำงานสมบูรณ์ คนขับไม่ตอบสนองระบบจึงไม่ตัด Power การจ่ายไฟ ไม่ห้ามล้ออัตโนมัติ ซึ่งมีเวลาเหลือพอที่จะทำให้รถไฟลดความเร็วลงได้
“ส่วนผลสอบสวนไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดประเด็นดังกล่าวต่อสังคม ทำได้เพียงยืนยันว่า อุปกรณ์ดังกล่าวทำงานสมบูรณ์ โดยทั้งนายยุทธนาและนายประจักษ์ มโนธัม รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ยืนยันว่า ระบบความปลอดภัยของรถไฟขบวนที่ตกรางสมบูรณ์ ซึ่งเป็นความขัดแย้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”แหล่งข่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ลึกๆ แล้วพนักงาน ร.ฟ.ท.รับไม่ได้กับการกระทำของผู้บริหาร ร.ฟ.ท.ในขณะนี้ ที่โยนความผิดให้พนักงานฝ่ายเดียว และการปรับโครงสร้าง ร.ฟ.ท.ก็ไม่สามารถฟื้นสภาพ ร.ฟ.ท.ได้ทันทีทันใดเพราะแต่ละเรื่องต้องใช้เวลาดำเนินการทั้งการจัดซื้อรถจักรใหม่ ปรับปรุงราง เพิ่มจำนวนพนักงาน และฝึกให้เป็นคนขับรถที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย
สหภาพฯ ยืนยันว่า นายยุทธนา ในฐานะผู้ว่าฯร.ฟ.ท. ต้องร่วมรับผิดกรณีรถไฟตกรางที่สถานีเขาเต่า โดยนับจากนายยุทธนาเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 2551 รถไฟประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยปี 2551 มีจำนวน 145 ครั้ง ปี 2552 ในรอบ 10 เดือน มีกว่า 80 ครั้ง เฉลี่ย 2วันต่อครั้ง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นกับ ร.ฟ.ท.มาก่อน และในอดีต หากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงผู้ว่าฯจะต้องลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ เห็นได้ชัดว่า นายยุทธนา ไม่เอาใจใส่ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงด้านการบริหารจัดการ ซึ่งเข้าข่ายความผิดต่อสัญญาจ้างผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯร.ฟ.ท.ที่นายยุทธนา ได้รับการสรรหาเข้ามา
โดยนายยุทธนามีพฤติกรรมในการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่าและล้มเหลว เอาแต่ใช้งบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนเอง จัดเลี้ยงสัมมนาพนักงานบางกลุ่มเพียงเพื่อให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ ต่อไป แต่เพิกเฉยต่อการดูแลเครื่องจักร อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย จนการให้บริการขาดประสิทธิภาพ พนักงานทำงานหนัก ไม่มีเวลาหยุดพักผ่อนเพราะจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ
และยังมีคดีทุจริต การทำสัญญาตลาดซันเดย์ ทำให้ ร.ฟ.ท.เสียประโยชน์ ทุจริตแอร์พอร์ตลิ้งค์ ซึ่งนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพฯ ยืนยันว่า สหภาพฯ จะใช้ช่องทางทางกฎหมายดำเนินการขับไล่นายยุทธนาออกจากตำแหน่งซึ่งต้องใช้ความอดทนอย่างมาก เนื่องจากมีฝ่ายการเมืองที่มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกันอย่างลงตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนการหยุดเดินรถจะเป็นหาทางสุดท้าย