xs
xsm
sm
md
lg

เงาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ TIME มอง

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

แฮนนาห์ บีช คอลัมนิสต์แห่งนิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2009 ได้วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย โดยมุ่งเน้นที่ตัวละครหลัก คือ นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และทักษิณ รวมทั้งบรรดาตัวประกอบละครบทใหญ่นี้คือ พรรคร่วมรัฐบาล กลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง

แฮนนาห์ อารัมภบทถึงปูมหลังห้วงการใช้ชีวิตการศึกษา และการซึมซับวัฒนธรรมฟุตบอลอังกฤษของนายอภิสิทธิ์ ทั้งที่โรงเรียนประจำอีตัน มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิล รวมทั้งความฝันของเขาตั้งแต่เยาว์วัยที่จะเป็นผู้นำประชาคมชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามอุดมการณ์เสรีนิยมแบบอังกฤษผนวกกับการซึมซับวัฒนธรรมอีตันที่มีรากฐานกำเนิดจากชนชั้นกลางระดับสูงในสังคมอังกฤษ และความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยตามแบบฉบับอังกฤษที่เริ่มต้นขึ้นจากแมคนาคาตาร์ ค.ศ. 1215 เมื่อชนชั้นอัศวินเรียกร้องสิทธิจากพระเจ้าจอห์น

ทำให้แนวคิดของชาวตะวันตกจะมองนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ว่าเป็นกลุ่มชนชั้นสูงไม่อาจจะเดินดินได้สะดวก และแฮนนาห์สามารถสะท้อนให้เห็นที่เป็นช่องว่างพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่า “เขากำลังแยกตัวห่างจากกลุ่มคนที่อยู่นอกห้องปรับอากาศเย็นสบายในกรุงเทพฯ” และการประท้วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ โดยกลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 20,000 คนที่ถูกลำเลียงมาจากต่างจังหวัดอันเป็นฐานยุทธศาสตร์การเมืองของทักษิณ โดยใช้วันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นสัญลักษณ์ประณามรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่ได้รับอานิสงส์จากการรัฐประหารของทหารโค่นอำนาจขับไล่รัฐบาลทักษิณ จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์คืนชีพอีกครั้ง ทำให้นายอภิสิทธิ์แจ้งเกิดในการเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก

ความพยายามของนายอภิสิทธิ์ที่ใช้เวทีสหประชาชาติสร้างความเชื่อมั่น และการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน รวมทั้งการรณรงค์ให้มีการลงทุนในไทย รวมทั้งการอ้างอิงหลักปรัชญาของ ลอร์ด อัลเฟรด เทนนีสัน(Lord Alfred Tennyson) กวีอังกฤษที่นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยชื่อดังในอังกฤษมักจะกล่าวอ้างถึงสำนวนอังกฤษของ ลอร์ด เทนนีสัน เป็นที่นิยมอ้างอิง เช่น Nature, Red in Tooth and Claw หรือ “เป็นธรรมชาติปากและเล็บแดงเป็นเลือด” หรือ “Tis Better To haved and Lost Than Never Have Loved All at All” หรือ “อกหักดีกว่ารักไม่เป็น” และ Knowledge Comes But Wisdom Lingers หรือ “ความรู้อาจลืมสลายได้แต่ปัญญาสถิตอยู่นิรันดร์”

แฮนนาห์พูดถึงปัญหาดังเดิม เช่น เรื่องความรุนแรงในจังหวัดมุสลิมทางใต้ของไทย ซึ่งในปีนี้จำนวนการสูญเสียมากถึง 350 คน และถ้าความรุนแรงยังคงความรุนแรงไม่เปลี่ยนแปลง ก็เชื่อว่าอัตราการสูญเสียน่าจะมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ใช่ความผิดของนายอภิสิทธิ์

แต่ที่สำคัญคือ อาการพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้คนไทยมีความรู้สึกไม่สบายใจกันทั่วทุกคน

แฮนนาห์รู้ดีว่า สภาวะการแตกแยกไม่ได้เกิดจากนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ และนับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งก็พยายามที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยให้กลับคืนสู่สังคมไทย ภายใต้ภาวะความรุนแรงของสังคมเสื้อแดง เสื้อเหลือง รวมทั้งความพยายามของเขาที่จะทำให้ประเทศเป็นนิติรัฐให้ได้เพื่อสร้างความสมานฉันท์ หรือใช้หลักยุติธรรมสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ

แต่ปัญหาสำคัญของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ อยู่ที่ความสามารถในการขับเคลื่อนพรรคร่วมรัฐบาลให้เป็นไปตามอุดมการณ์ของเขา ซึ่งแฮนนาห์ได้อ้างถึงการให้ข้อคิดเห็นของนักวิชาการไทยว่า “เขาไม่มีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลผสมให้เป็นจริงได้” แต่นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปอย่างสะดวก” และ “ความรุนแรงของคนกลุ่มน้อยไม่ใช่อุปสรรคในการบริหารประเทศ และคนพวกนั้นไม่สามารถที่จะสร้างปัญหาใหญ่ได้”

นอกจากนี้ แฮนนาห์ได้พูดถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่ง ณ จุดนี้เองก็คงต้องย้อนให้เห็นว่า วิสัยของแฮนนาห์ไม่เข้าใจความรู้สึกที่อยู่ก้นบึ้งของคนไทยต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่ามีความเร้นลับอย่างไร ลึกมากแค่ไหนตามนิติประเพณีการปกครองของไทย ยกเว้นแต่พวกอนาธิปไตยซึ่งมีอยู่ในทุกสังคมโลกอยู่แล้ว และแฮนนาห์เองอาจจะไม่สนใจต่อเหตุการณ์ในอนาคต หากประเทศไทยต้องประสบปัญหาเหมือนกับหลายประเทศที่แตกแยกกัน เพราะกลุ่มอนาธิปไตยมีความแข็งแกร่ง

และประเด็นที่สำคัญนี้ แฮนนาห์ไม่ได้พูดถึงเลยในบทความประจำฉบับนี้คือ ความพยายามที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของทักษิณ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ต้องรับกระแสเพราะมีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคต้องกับดักของพวกเขาเอง แม้ตัวพรรคประชาธิปัตย์เองก็หมิ่นเหม่ต่อการถูกยุบพรรคเช่นเดียวกันตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550

ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นับว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญของไทย 15 ฉบับก่อนหน้านี้ เพราะเป็นประชาธิปไตยเมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จำนวน 99 คน และ 76 คนเป็นตัวแทนของประชาชนในทุกจังหวัด ส่วนอีก 23 คนเป็นผู้ชำนาญในด้านต่างๆ และเจตนาที่ดีมาก 3 ประการคือ การขยายสิทธิเสรีภาพ และส่วนร่วมของประชาชนในการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยประชาชนเพื่อให้เกิดความสุจริต และโปร่งใสในระบอบการเมืองและการทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพ และประสิทธิภาพ

แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เองที่สร้างโอกาสเผด็จการรัฐสภาด้วยอำนาจเงินล้วนๆ คนมีเงินและอำนาจสามารถซื้อหรือมีอิทธิพลกดดัน สมาชิกพรรคทั้งหมดให้อยู่ในอาณัติของคณะกรรมการบริหารพรรค และหัวหน้าพรรค ลูกพรรคจึงเป็นกลไกในการรักษาอำนาจรัฐของหัวหน้าพรรคที่วางกลยุทธ์ให้มีการทุจริตการเลือกตั้งและใช้หลักประชานิยมทุกรูปแบบที่กฎหมายเข้าไม่ถึง หรือกำหนดให้เป็นนโยบายการบริหารที่ใช้เงินรัฐแจกจ่าย แต่ไม่เคยมีการประเมินผลตามหลักวิชาการถึงความคุ้มค่าแต่ที่สำคัญยิ่งคือการออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้พวกตน

เงินจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างประชานิยมไม่ใช่อุดมการณ์หรือวิธีการดำเนินชีวิต ให้กับคนไทยเพราะทุกอย่างเป็นหลักทุนนิยมทั้งสิ้น

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ตั้งใจที่จะป้องกันการเป็นเผด็จการรัฐสภา หรือยุติการใช้อำนาจเงินซื้ออำนาจรัฐซึ่งเป็นอันตรายมากที่สุด เพราะว่าความโลภที่เกิดมาพร้อมกับมนุษยชาติแม้มีองค์ศาสดาในทุกศาสนาสร้างกำแพงธรรมเพื่อป้องกันความโลภแล้วก็ตาม โดยเฉพาะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติธรรมเพื่อขจัดความโลภออกจากจิตใจของมนุษย์ เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังมีคนโกง คนทุจริต คนฉ้อฉลอยู่ทั้งโลกและง่ายกับการสร้างแนวร่วม

หากความพยายามแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 สำเร็จประเทศอาจจะเกิดกลียุคขึ้นได้ เพราะว่าหาก มาตรา 237 และ 309 ถึงยกเลิกไปตามครรลองของการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แล้ว ทุกอย่างกลับเหมือนเดิม ทักษิณและพรรคพวกเป็นคนไม่ผิด คำสั่ง คมช.ทั้งหมดเป็นโมฆะ และคำสั่งพิจารณาของ คตส.เป็นโมฆะ คมช.อาจถูกจับเป็นกบฏ และคณะกรรมการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความถูกต้องชอบธรรมในสังคมที่ระบบทักษิณทำลายไป อาจจะถูกฟ้องร้องว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด

สิ่งเหล่านี้แฮนนาห์ไม่ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า จุดอ่อนจุดแข็งของบ้านเมืองไทยตามนัยของรัฐธรรมนูญ การสร้างอำนาจรัฐด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ของระบอบทักษิณ หรือแฮนนาห์ไม่อาจเข้าถึงก้นบึ้งหัวใจของทักษิณได้หรือมีนัยเป็นอย่างอื่น รัฐบาลจะต้องประชาสัมพันธ์ให้โลกเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น