xs
xsm
sm
md
lg

นายแบงก์โต้มูดี้ส์ คงมุมมองเชิงลบไทยยันแข็งแกร่งกว่าธนาคารต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นายแบงก์โต้มูดี้ส์คงแนวโน้มภาคธนาคารไทยในเชิงลบ อ้างจากความผันผวนทางการเงิน-ความไม่แน่นอนทางศก. เป็นมุมมองที่แคบเกินไป ระบุสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่งกว่าต่างประเทศและได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้อย และเชื่อมั่นอุปสงค์ในประเทศมีแววฟื้นแน่

รายงานข่าวจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส หรือ มูดี้ส์ เปิดเผยว่า มูดี้ส์จึงยังคงแนวโน้มของภาคธนาคารไทยในเชิงลบ เนื่องจาก ภาคธนาคารของไทยจะยังคงประสบกับความผันผวนทางการเมืองและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ขณะที่คาดว่าอุปสงค์ในประเทศจะยังคงชะลอตัว และบรรยากาศการลงทุนจะได้รับผลกระทบต่อไป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงมากขึ้น

นอกจากนี้ นางแคโรลีน ซีท ผู้ช่วยรองประธานและนักวิเคราะห์ของมูดี้ส์ และผู้เขียนรายงาน เรื่อง "Banking System Profile for Thailand" ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้มีการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้ดีขึ้นแล้ว แต่กรอบด้านกฎระเบียบและการกำกับดูแลของภาคธนาคารก็จะยังคงมีการพัฒนาต่อไป และจะต้องได้รับการทดสอบเพิ่มเติม

"ธปท.ยังประสบความสำเร็จในการพัฒนากรอบด้านกฎระเบียบของไทยใกล้เคียงมาตรฐานสากลมากขึ้น นอกจากนี้ การกำกับดูแลแบบ offsite ซึ่งเป็นการตรวจสอบไม่เฉพาะตัวเลขตามบัญชีเท่านั้นได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในขั้นตอนการกำกับดูแล โดยเฉพาะในขณะนี้ที่มีการใช้มาตรฐาน Basel II แล้ว"

KBANKเชื่อไม่กระทบความเชื่อถือ

นายทรงพล ชีวปัญญาโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า ประเด็นการคงแนวโน้มของภาคธนาคารไทยในเชิงลบ เนื่องจากความผันผวนทางการเมืองและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ จะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของธนาคาร เนื่องจากเชื่อว่านักลงทุนและผู้ประกอบการจะให้น้ำหนักไปยังฐานะทางการเงินของธนาคารมากกว่า อาทิ เงินทุนสำรอง เป็นต้น

"เราคงไปห้ามความคิดเขาไม่ได้ แต่ธนาคารพาณิชย์เองก็ดำเนินการทุกอย่างตามปกติ ทั้งในเชิงการให้บริการลูกค้าและการให้สินเชื่อ แต่คงไม่กระทบต่อภาพลักษณ์ความเชื่อถือของธนาคาร" นายทรงพล กล่าว

ขณะที่ อุปสงค์ภายในประเทศ เชื่อว่าจะไม่ชะลอตัวลงตามที่มูดี้ส์ได้ระบุออกมาอย่างแน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่การเติบโตของอุปสงค์คงจะยังไม่รวดเร็วนัก โดยปัจจัยการบริโภค ซึ่งมี 2 ส่วน ทั้งจากภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายนอกประเทศเป็นสิ่งที่ควบคุมยาก อาทิ ในสหรัฐฯ ภาวะการออมเงินของประชาชนมีมากขึ้น

ธอส.-KTBโต้แกร่งกว่าต่างชาติ

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า แม้มูดี้ส์จะคงเรทติ้งเชิงลบดังกล่าว แต่ธนาคารไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากธนาคารไม่ได้อิงกับธุรกิจต่างประเทศ ที่จะต้องคำนึงถึงความเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับเครดิตต่างๆ มากนัก

นอกจากนี้ มองว่าธนาคารไทยถือว่ามีความแข็งแกร่งมากเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินต่างประเทศ รวมทั้งไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐฯ ที่มีสถาบันการเงินหลายแห่งล้มละลายลง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากที่ธนาคารไทยได้เพิ่มทุนอย่างมาก เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

"การที่มูดี้ส์ใช้ความผันผวนทางการเมืองเป็นกรอบของการคงไว้ในเชิงลบนั้นค่อนข้างเป็นมุมมองที่แคบเกินไป เนื่องจากปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก อีกทั้งจะเห็นได้ว่าในช่วงสิ้นปี 2551 นั้น เกิดความผันผวนและความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยมากกว่าในปัจจุบัน ซึ่งความน่าเชื่อถือของธนาคารไทยในสายตานักลงทุนนั้น ไม่ได้มองเพียงปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากประเด็นความร้อนแรงทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆอีก อาทิ อุปสงค์ อุปทาน เป็นต้น"

ด้านนายอนุชิต อนุชิตานุกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ออกมาให้ความคิดเห็นในแง่มุมเกี่ยวกับการเมืองค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าภาพรวมของธนาคารไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ

“ถ้าดูความแข็งแกร่งเทียบกับสหรัฐฯ ไทยไม่มีปัญหาเลย สภาพคล่องยังดูดี ทุกอย่างยังดูดีหมด เราไม่มีปัญหาเหมือนในปี 40 เลย ส่วนปัจจัยทางการเมืองเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่ทุกคนก็ยังค้าขาย มันอาจต้องภาพที่ละเอียดกว่าแค่การเมือง ซึ่งในเชิงประเมินฐานะแบงก์ เขาอาจมองแง่ลบเกินไป เพราะมันน่าจะดีกว่าที่เขาคิด” นายอนุชิต กล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจัยการเมืองยังเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง แต่เชื่อว่าภาพรวมขณะนี้ไม่มีความน่าวิตกมากนัก โดยจะเห็นว่าภาพรวมทางธุรกิจต่างๆ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ดังนั้นประเด็นทางการเมืองจึงไม่ใช่เพียงประเด็นเดียวที่ถูกให้ความสนใจ

“ช่วงที่การเมืองแรงๆ 2-3 ปีก่อน ยังไม่เป็นไร ไม่ได้แปลว่าทุกคนหยุดหายใจ ตอนนี้คลี่คลายลงเยอะ มีเป็นร้อยปัจจัยแต่มูดี้ส์หยิบมาแค่ปัจจัยเดียวเท่านั้นถือว่าน้อยไป ซึ่งน่าจะช่วยมองในมุมบวกหน่อย”

ขณะที่อุปสงค์ในประเทศอาจจจะยังไม่ดีมากนัก แต่ถือว่ามีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมาโดยต้องการให้ประเด็นทางการเมืองสงบลง เพื่อที่จะให้นโยบายต่างๆ สามารถดำเนินไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องได้รับการหนุนจากภาครัฐพอสมควร ซึ่งหากมีความชัดเจนก็ย่อมจะส่งผลดีให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อในโครงการที่เกี่ยวข้องได้ต่อไปอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น