xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯเพิ่มทหารเข้าไปในฟิลิปปินส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มะนิลา – ทหารนาวิกโยธินอเมริกันประมาณ 3,000 คนกำหนดเดินทางถึงฟิลิปปินส์ในต้นเดือนนี้ เพื่อดำเนินภารกิจฝึกอบรม และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จากการที่แดนตากาล็อกเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์บางคนกำลังเฝ้าจับตามองด้วยความระแวงว่า ทหารเหล่านี้อาจจะหันเหเบนไปยังเกาะซูลูที่ร้อนระอุด้วยสงคราม และไม่กี่วันก่อนก็เป็นสถานที่ซึ่งพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรงสุดโต่งเข่นฆ่าทหารสหรัฐฯไป 2 คน จำนวนทหารที่กำหนดจะเข้ามาใหม่เหล่านี้ เท่ากับเป็น 5 เท่าตัวของทหารอเมริกันซึ่งประจำอยู่ในฟิลิปปินส์ในปัจจุบันทีเดียว

การเสียชีวิตของทหารสหรัฐฯ จุดชนวนให้เกิดความหวั่นผวาขึ้นมาว่า วอชิงตันมุ่งหมายที่จะเพิ่มกำลังและเพิ่มบทบาททางการทหารของตนในฟิลิปปินส์ และจะตอบโต้แก้แค้นกลุ่มผู้ก่อเหตุซึ่งสงสัยกันว่าคือพวกกบฏอบูไซยาฟ โดยที่กลุ่มนี้ได้ถูกสหรัฐฯและสหภาพยุโรป(อียู) ขึ้นบัญชีเอาไว้แล้วว่าเป็น องค์การก่อการร้ายระหว่างประเทศที่มีความพัวพันเชื่อมโยงกับอัลกออิดะห์ ความวิตกหวั่นไหวดังกล่าวนี้เอง กำลังทำให้เกิดเสียงเรียกร้องขึ้นมาอีกครั้งในหมู่สมาชิกรัฐสภาฟิลิปปินส์ ให้ยกเลิกหรืออย่างน้อยก็เปิดการเจรจากันใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใน ข้อตกลงว่าด้วยกำลังทหารที่มาเยือนระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ (Philippines-US Visiting Forces Agreement หรือ VFA)

ข้อตกลงวีเอฟเอดังกล่าวนี้มีผลบังคับใช้ในปี 1999 เนื้อหาสำคัญคืออนุญาตให้ทหารสหรัฐฯเข้าทำการซ้อมรบร่วมกับทหารฟิลิปปินส์ แต่มีเงื่อนไขที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ในการปฏิบัติการเพื่อต่อต้านปราบปรามการก่อความไม่สงบของทางการฟิลิปปินส์นั้น ห้ามไม่ให้ทหารสหรัฐฯเข้าร่วมในการสู้รบ และการให้การสนับสนุน ก็ต้องจำกัดอยู่แค่เรื่องการช่วยเหลือด้านการส่งกำลังบำรุง, การให้คำปรึกษาแนะนำทางเทคนิค และด้านข่าวกรอง

ทว่าแม้มีข้อจำกัดตามที่กำหนดไว้ในสัญญาวีเอฟเอ ก็ยังมีรายงานข่าวออกมาเรื่อยๆ ว่า ทหารสหรัฐฯนั้น “ฝังตัว” อยู่ในกองทหารฟิลิปปินส์หน่วยต่างๆ ซึ่งประจำอยู่ในพื้นที่สู้รบอันห่างไกล และพวกเขาได้เข้าร่วมการสู้รบปราบปรามพวกผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิมในจังหวัดซูลู และจังหวัด บาซิลัน ในจำนวนทหารอเมริกัน 600 คนที่เข้ามาในฟิลิปปินส์แล้วเวลานี้ มีจำนวนมากทีเดียวประจำอยู่บนเกาะมินดาเนา

ทหารอเมริกัน 2 คนที่ถูกสังหารเมื่อวันที่ 29 กันยายน ประสบเคราะห์ขณะกำลังอยู่บนพาหนะของพวกเขาที่เป็นรถฮัมวี แล้วถูกโจมตีด้วยทุ่นระเบิดจากข้างถนน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นระเบิดแบบแสวงเครื่อง เหตุเกิดที่เมืองอินดานัน บนเกาะซูลู อันเป็นจุดที่เกิดการประจันหน้านองเลือดมาแล้วหลายครั้ง และก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นที่มั่นแห่งหนึ่งของพวกอบูไซยาฟ

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในกรุงมะนิลาได้ออกมาแถลงในวันที่ 30 กันยายน ปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า กองทหารสหรัฐฯเข้าพัวพันในการสู้รบที่เกาะซูลู ขณะที่ฝ่ายทหารของฟิลิปปินส์ก็แจกแจงว่า ทหารอเมริกันที่เสียชีวิตทั้ง 2 คน ไม่ได้เป็นทหารสู้รบ แต่ทำหน้าที่ดูแลการก่อสร้างในโครงการสร้างโรงเรียน, ถนนและระบบน้ำบนเกาะซูลู ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ในวุฒิสภาฟิลิปปินส์ สมาชิกบางคนแสดงความเห็นว่า เหตุการณ์คราวนี้ควรเร่งรัดให้คณะรัฐบาลประธานาธิบดีกลอเรีย มากาปากัล-อาร์โรโย เปิดการเจรจาเงื่อนไขต่างๆ ในข้อตกลงวีเอฟเอเสียใหม่ หรือกระทั่งยกเลิกสัญญาฉบับนี้ไปเลย “ทำไมคนอเมริกันจึงมาอยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง, ในเขตสู้รบซึ่งมีการวางทุ่นระเบิด” วุฒิสมาชิกมีเรียม ซานติอาโก ประธานหญิงของคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาตั้งคำถาม และกล่าวกับผู้สื่อข่าวต่อไปว่า เรื่องนี้เป็นข้อพิสูจน์ “อย่างสมบูรณ์แบบ” ว่าทหารสหรัฐฯเข้าเกี่ยวข้องในปฏิบัติการปราบปรามพวกผู้ก่อความไม่สงบ

ซานติอาโกยังแสดงความสงสัยข้องใจ เรื่องจังหวะเวลาการมาถึงของนาวิกโยธินสหรัฐฯอีก 3,000 คน โดยบอกว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมีการจัดวางกำหนดการได้อย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่วันหลังจากทหารอเมริกัน 2 คนถูกฆ่าที่ซูลู

แต่พวกเจ้าหน้าที่ด้านกลาโหมของฟิลิปปินส์ตอบโต้โดยระบุว่า การฝึกซ้อมทางทหารร่วมระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ทหารอเมริกันเหล่านี้เดินทางเข้ามานั้น ได้มีการวางแผนเอาไว้ก่อนหน้านี้นานแล้ว และทหารสหรัฐฯเหล่านี้ยังจะนำเอาเครื่องมืออุปกรณ์ขนาดหนัก มาช่วยขนย้ายสิ่งปรักหักพังในเขตมหานครมะนิลาและพื้นที่รอบนอก ที่เกิดขึ้นจากฤทธิ์เดชน้ำท่วมเมื่อไม่กี่วันก่อน ซึ่งถูกจัดให้เป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 42 ปี ตลอดจนทหารอเมริกันยังจัดทีมทางการแพทย์ 30-40 หน่วย เพื่อดูแลรักษาผู้อพยพพลัดที่อยู่ที่มีจำนวนนับแสนคนด้วย

ทางด้าน โรโดลโฟ บิอาซอน วุฒิสมาชิกฝ่ายค้านซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารคนหนึ่ง กล่าวว่า ขณะที่เขายินดีต้อนรับการให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมของอเมริกัน แต่พวกเขาก็ยังควรที่จะถอนทหารออกจากพื้นที่ซึ่งเกิดการสู้รบบ่อยๆ ในมินดาเนา โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีชาวมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่อย่างจังหวัด ซูลู, บาซิลัน, ตาวี-ตาวี, และโคตาบาโต

(เก็บความและตัดตอนจากเรื่อง US storms troops into the Philippines โดย Al Labita นักหนังสือพิมพ์ผู้ผ่านงานมากว่า 30 ปี รวมทั้งเคยเป็นหัวหน้าสำนักงานภูมิภาค และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศของสำนักข่าว ฟิลิปปินส์ นิวส์ เอเจนซี)
กำลังโหลดความคิดเห็น