xs
xsm
sm
md
lg

สั่งตรวจที่มาข้าวแจสแมนไรซ์ หาคำตอบฉกข้าวไทย-ลอกตราหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“อลงกรณ์” สั่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมมือกรมการข้าวตรวจข้าวแจสแมนไรซ์ ตั้งเป้าหาคำตอบใน 2 ประเด็น มีการตกแต่งพันธุกรรมโดยใช้ข้าวไทยเป็นต้นแบบและลอกเลียนเครื่องหมายการค้าหรือไม่ หากพบมีมูลร่อนหนังสือคัดค้านสหรัฐฯ ทันที ยันได้มีการจับตาการพัฒนาพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง พบสหรัฐฯ เพิ่งเริ่มปลูก ผลผลิตยังมีไม่มาก เหตุต้องการทำแข่งข้าวหอมมะลิไทย เตรียมแผนสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อ ผู้บริโภค ดึงความมั่นใจ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประสานไปยังกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อตรวจสอบข้าวแจสแมนไรซ์ ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ของสหรัฐฯ ว่ามีการตัดต่อพันธุกรรมข้าวหอมมะลิจากไทย หรือนำพันธุ์ข้าวจากไทยไปปลูกแล้วอ้างสิทธิ์เป็นข้าวหอมมะลิพันธุ์ใหม่ รวมทั้งตรวจสอบว่ามีการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าหรือตราข้าวหอมมะลิจากไทยหรือไม่ ซึ่งหากมีมูลความจริง กระทรวงพาณิชย์จะทำหนังสือคัดค้านการขึ้นทะเบียนข้าวแจสแมนไรซ์ของสหรัฐฯ ทันที

“ได้ตั้งข้อสังเกต 2 ประเด็นที่ต้องหาข้อเท็จจริง คือ มีการตกแต่งพันธุกรรม และการลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้า โดยตั้งชื่อคล้ายคลึงกับข้าวหอมมะลิของไทยว่าจัสมินหรือไม่ และตอนนี้ก็ได้ประสานไปยังที่ศูนย์วิจัยข้าวทั่วโลกให้มีการตรวจสอบด้วย ซึ่งหากพบว่าเป็นจริงจะทำหนังสือคัดค้านทันที”นายอลงกรณ์กล่าว

สำหรับข้าวแจสแมนไรซ์ เป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ได้จากการค้นคว้าของศูนย์วิจัยและค้นคว้าเกษตรกรรม มหาวิทยาลัยหลุยส์เซียนา มลรัฐหลุยส์ เซียนา สหรัฐฯ โดยมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ แอลเอ 2125 ซึ่งใช้ระยะเวลาพัฒนา 12 ปี เป็นผลสำเร็จ และอ้างว่ามีคุณภาพ ความหอมทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทย เพราะมีกลิ่นหอมและนิ่ม ที่สำคัญมีผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณไร่สูงถึงละ 1,265 กก.
ขณะที่ข้าวไทยมีผลผลิตประมาณไร่ละ 400 กิโลกรัมเท่านั้น

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สหรัฐฯ ได้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวแจสแมนมาหลายปีแล้ว และเริ่มมีการเพาะปลูกมากขึ้น แต่ปริมาณการผลิตในเชิงการค้ายังมีน้อย โดยการผลิตข้าวดังกล่าว เพื่อทดแทนข้าวหอมมะลิไทย แต่ยังคงต้องใช้เวลา รวมทั้งการสร้างการยอมรับของตลาดเพื่อแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทย ดังนั้นไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งจะต้องปรับตัวกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นโดยใช้คุณภาพเป็นตัวนำในการทำตลาด

“มีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับคุณภาพและมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ ผู้บริโภคข้าวหอมมะลิไทยในต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ในเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทย กรมการข้าวได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การรักษาคุณภาพและมาตรฐาน กรมฯ ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่เช่นกัน และยังได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการส่งออกและผู้ส่งออกข้าวจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทยและข้าวหอมมะลิไทย เพื่อสร้างความรู้จักและได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก”นางสาวชุติมากล่าว

ปัจจุบัน ในแต่ละปี ประเทศไทยผลิตข้าวหอมมะลิไทยได้ประมาณ 6-7 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 4-4.5 ล้านตันข้าวสาร และส่งออกเฉลี่ยปีละ 2.5 ล้านตัน โดยมีตลาดหลักในปี 2551 ได้แก่ สหรัฐฯ 15% สหภาพยุโรป (อียู) 12% ไอวอรี่โคสต์ 11% เซเนกัล 10% ฮ่องกง 8% จีน 7% กานา 5% สิงคโปร์ 5% มาเลเซีย 5% และอื่นๆ 22%

สำหรับในปี 2553 กรมฯ ได้กำหนดแผนผลักดันการส่งออกข้าวไทยในลักษณะต่างๆ เช่น การขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ในตลาดที่มีการซื้อข้าวโดยรัฐบาล การขยายตลาดข้าวเชิงรุกในตลาดหลักและตลาดที่มีศักยภาพในการนำเข้าสูงในทุกภูมิภาค การจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดเพื่อเสริมสร้างตราข้าวหอมมะลิไทย ในตลาดจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ รวมทั้งการขยายตลาดข้าวที่มีคุณลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (ข้าว GI) และข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงในตลาดเป้าหมาย ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย
กำลังโหลดความคิดเห็น