ศูนย์ข่าวภูเก็ต - “อัญชลี วานิช เทพบุตร” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชี้แนวโน้มการท่องเที่ยวภูเก็ตและอันดามันแนวโน้มดี สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ส่งเสริมตลาด MICE เข้าพื้นที่มากขึ้นด้วยการลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท สร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าที่กำลังรองบไทยเข้มแข็งรอบ 2 ปีหน้า
นางอัญชลี วานิช เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตว่า ขณะนี้การลงทุนต่างๆ เริ่มที่จะดีขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะภูเก็ตเท่านั้น แต่รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง เช่น เขาหลัก จ.พังงา กระบี่ เป็นต้น ก็เริ่มที่จะมีการเคลื่อนไหวด้านการลงทุนธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทำให้มองเห็นแนวโน้มและทิศทางของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังชัดเจนมากขึ้น
โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว แม้อาจจะไม่เท่ากับในปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่การท่องเที่ยวของภูเก็ตและอันดามันบูมสุดๆ ส่วนว่าจะเติบโตเป็นลักษณะตัวยูหรือตัววี ต้องรอดูในปีหน้า แต่แนวโน้มของอันดามันถือว่าดีขึ้นมาก
“แนวโน้มดังกล่าวสอดรับกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และของโลกด้วย หลังจากที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย บางประเทศเริ่มกลับตัว โดยรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะๆ ในทุกภาคส่วนทำให้เศรษฐกิจโดยรวมปีหน้าเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น”รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า
สิ่งสำคัญที่รัฐบาลมองขณะนี้ คือ เราต้องค้นพบตัวเองให้ได้ว่า ธุรกิจหลักที่สำคัญของประเทศไทยและคนไทยที่จะดำเนินการต่อไป รวมทั้งการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านหรือโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องของเกษตรกรรม ซึ่งเรามีการบ่มเพาะประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญชำนาญมาตั้งแต่บรรพบุรุษ รองลงมาเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ด้วยเรามีจิตใจด้านการให้บริการหรือเซอร์วิสไมนด์ ดังนั้น หากจะฟื้นเศรษฐกิจในระยะนี้จึงจำเป็นต้องนำความรู้ความชำนาญที่มีอยู่มาพลิกฟื้นให้เกิดประโยชน์
รัฐบาลจึงจัดทำโครงการไทยเข้มแข็งมาช่วยกระตุ้นโครงข่ายใหญ่ๆ เพื่อรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น เช่น ด้านการเกษตรก็ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนระบบชลประทานขนาดใหญ่ประมาณ 200,000 ล้านบาท ป้องกันภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อเพิ่มศักยภาพและสมรรถภาพให้แก่เกษตรกร เรื่องเงินทุนหมุนเวียนในการประกันรายได้ขั้นต่ำให้เกษตรกร นำร่องพืช 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง
นอกจากนั้นยังมาดูและในภาคธุรกิจโดยรวม ตั้งแต่โครงข่ายลอจิสติกส์ทั้งหมด ได้แก่ระเบียงภาคตะวันออก เชื่อมโยงระหว่างภาคเหนือกับภาคอีสาน เพื่อเป็นเส้นทางการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังสปป.ลาวและเวียดนาม รวมไปถึงโครงข่ายนอร์ทเวสต์ด้วย
นางอัญชลี กล่าวอีกว่า ในส่วนของการท่องเที่ยว มีการแบ่งกลุ่มในการส่งเสริม เช่น กลุ่มอันดามันกำหนดให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางส่งต่อนักท่องเที่ยวให้แก่เขาหลัก จ.พังงา และกระบี่ เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมตลาด MICE เพราะการประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ ซึ่งจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งมีการเข้าไปพัฒนาเรื่องการคมนาคมถนนหนทางต่างๆให้ดีขึ้นที่เกาะสมุย ให้มีศักยภาพรองรับการเดินทางและการขนส่ง ส่วนของภาคเหนือ มองไปยัง จ.พิษณุโลก เป็นประตูอินโดจีน ฝั่งอีสาน มองไปยังมุกดาหารใช้เส้นทาง R9 ส่วนภาคใต้ตอนล่างก็มีจัดงบประมาณลงไปค่อนข้างมาก เพื่อสร้างเศรษฐกิจเป็นตัวนำและเรียกความเชื่อมั่นร่มเย็นให้กลับคืนมา
ส่วนศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติภูเก็ต ได้มีการบรรจุไว้ในแผนไทยเข้มแข็งเช่นกัน โดยจะใช้งบประมาณ 3,740 ล้านบาท แต่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาฯ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของรัฐสภา
สำหรับสถานที่ก่อสร้าง คือ ที่ราชพัสดุที่ท่าฉัตรไชย อ.ถลาง เนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ และอาจจะมีการขยายเพิ่มเติมเพิ่มอีกประมาณ 250 ไร่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวแต่มีบางส่วนที่ติดพื้นที่อุทยานฯ ในโครงการประกอบด้วยอาคารศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ 1 ห้อง ซึ่งจุคนได้ 4,000 คน ห้องประชุมขนาดกลาง 1 ห้อง ขนาดเล็ก 4 ห้อง และขนาดย่อยอีก 20 ห้อง รองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้ปีละ 2 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังมีอาคารจัดนิทรรศการ โรงแรมที่พัก พื้นที่จอดรถ ส่วนบ้านพักพิเศษรองรับแขกวีไอพี และบุคคลสำคัญของประเทศ คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ปี 2553
ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ฝั่งอันดามันก็จะมีพื้นที่รองรับกิจกรรมการประชุมและจัดนิทรรศการรองรับกลุ่ม MICE และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการประชุมในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ โครงการนี้ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจทางภาคใต้ รวมถึงเพิ่มการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ สามารถนำสินค้าที่มีชื่อเสียงของแต่ละพื้นที่มาจำหน่ายในศูนย์ประชุมได้