xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงพาณิชย์ : THAI – EU FORUM

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

ขอควันหลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่ “กระทรวงพาณิชย์” เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ “ไทย-สหภาพยุโรป (Thai– European Forum)” ซึ่งไม่ได้มีการจัดการประชุมระดับเวทีโลกอย่างนี้มายาวนานหลายปี หลังจากโลกประสบสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ทำเอาเศรษฐกิจแน่นิ่งไปหลายปี

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-อียู นั้น ก็มิใช่ราบรื่นมาโดยตลอด ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว “การเจรจาต่อรองด้านการค้าการลงทุน” ต้องเติมเสริมเพิ่มตลอด มิเช่นนั้น จะก่อให้เกิดการเสียเปรียบและพลาดโอกาสทุกครั้งที่มิได้เชื่อมสัมพันธภาพ

นอกเหนือจากนั้น ปัญหาด้านวิกฤตเศรษฐกิจการเงินสหรัฐฯ จนลามไปทั่วโลก แถมด้วยสารพัดโรคระบาด ยิ่งซ้ำเติมให้การค้าขายระหว่างไทย-อียู ยิ่งประสบอุปสรรคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ “สัตว์ปีก-ไก่” ที่ช่วงหลายปีก่อน เอเชียเจอปัญหา “ไข้หวัดนก” จึงทำให้ตลาดสหภาพยุโรปปฏิเสธ “ไก่สด” ที่ไทยเราเคยส่งให้ในปริมาณหลายหมื่นตัน สร้างรายได้สู่ประเทศชาตินับแสนล้านบาท

แต่ปัจจุบันไทยเราสามารถส่งออกได้เพียง “ไก่ปรุงสุก” เท่านั้น ซึ่งก็ยังดีที่สามารถรักษาตลาดอียูไว้ได้ โดยมี “กลุ่มซีพี : เจริญโภคภัณฑ์” และ “กลุ่มสหฟาร์ม” ที่ค้าขายไก่ปรุงสุกกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปได้

ทั้งนี้ ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือว่า “ตลาดสหภาพยุโรปเขี้ยว!” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็หมายความว่า กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเป็น “ตลาดใหญ่” และมักรักษามาตรฐานอย่างมาก ตลอดจน “มาตรการกีดกันทางการค้า” จะเยอะแยะและ “หยุมหยิม” เยอะมาก จนประเทศเล็กๆ อย่างไทยเราต้องเจรจาและพิสูจน์คุณภาพตลอดเวลา ชนิดที่เรียกว่า “เหนื่อย!”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย ประชุมร่วมกับ “สภาธุรกิจไทย-สหภาพยุโรป (Thai-EU Business Council : TEUBC)” อย่างไม่เป็นทางการมาหลายครั้ง เพื่อเดินเครื่องในการเปิดเจรจาด้านการค้าการพาณิชย์กับสหภาพยุโรปใหม่

ในที่สุดเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว “งาน Thai-European Forum” ได้ถูกจัดขึ้นโดยกระทรวงพาณิชย์ ร่วมมือกับสถาบันภาคเอกชน 3 สถาบัน กล่าวคือ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้า การพาณิชย์ และการลงทุนระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

การจัดงานครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17-18 กันยายน ที่ผ่านมา ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี โดยเบื้องต้นมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเป็นประธานกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ แต่ในที่สุด รัฐมนตรีฯ พรทิวา นาคาศัย ได้เปิดงานและกล่าวสุนทรพจน์และบรรยายร่วมกับทูตอียู เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย และนายกสมาคมหอการค้าไทย คุณดุสิต นนทะนาคร

รัฐมนตรีฯ พรทิวา นาคาศัย เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับสภาธุรกิจไทย-สหภาพยุโรป (Thai-EU Business Council) และสถานทูตของประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศในสหภาพยุโรป ร่วมจัดการประชุม Thai-European Forum ขึ้นเมื่อวันที่ 17-18 กันยายน 2552 ตลอดจนกลุ่มประเทศสมาชิก EFTA (European Free Trade Agreement) 2 ประเทศและผู้แทนคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยรวม 23 สถานทูต

ซึ่งในวันเปิดงานได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและพูดในหัวข้อ “Deepening and Widening Business Relations” โดยภายในงานมีการแสดงนิทรรศการ การสัมมนาเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารต่อผู้บริโภค (Food Safety) การบริหารจัดการด้านขนส่งหรือระบบลอจิสติกส์, พลังงานทดแทน, การขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-ยุโรป, กฎระเบียบของยุโรป และการให้คำปรึกษาด้านการค้าระหว่างไทยและประเทศในแถบยุโรป (Export Clinic) ด้วย

ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 800-1,000 คน โดยมีเป้าหมายเป็นนักธุรกิจ นักลงทุน กลุ่มผู้ค้า (ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก) จากทั้งไทยและยุโรป ร่วมทั้งคณาจารย์ นิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการเพื่อประชาสัมพันธ์การค้า การลงทุนระหว่างไทยกับยุโรปของสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ การเปิดตัวสภาธุรกิจไทย-ยุโรป ซึ่งต่อไปจะเป็นหน่วยงานและเป็นตัวแทนภาคเอกชนทั้งจากไทยและยุโรป และจุดมุ่งหมายที่สำคัญในการตั้งสภาธุรกิจไทย-ยุโรปเพื่อกระตุ้น เร่งรัดสหภาพยุโรปให้เร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงสินค้าในภาคต่างๆ ของไทยที่มีศักยภาพไปยังต่างประเทศ ภายใต้โครงการยุทธศาสตร์เชื่อมโยงการค้าในประเทศสู่สากล (Local to Global) โดยกระทรวงพาณิชย์ และจากภาคเอกชนในต่างจังหวัดเป็นผู้ร่วมจัด

ผลที่จะได้รับจากการจัดงานครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ตลอดจนมีความใกล้ชิดและความร่วมมือกับสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ และอีก 4 ประเทศ จาก EFTA (European Free Trade Agreement) มากยิ่งขึ้น และทำให้บริษัทไทยสามารถสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าเพื่อบุกตลาดยุโรปได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการส่งออกของไทยไปยังยุโรปให้สูงขึ้น

ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2552 ไทยมีอัตราการส่งออกไปยังยุโรปลดลงถึงร้อยละ 30 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้วางยุทธศาสตร์ในประเทศ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิต ส่งออกสินค้าอาหารสุขอนามัยของโลก และการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานลอจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานของไทย เพื่อเตรียมการเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายลอจิสติกส์ของยุโรป ตลอดจนวางยุทธศาสตร์การผลิตเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน และเชื้อเพลิงในอนาคต รวมทั้งพัฒนาการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์สำหรับตลาดรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงทดแทน (Flex-fuel Vehicle : FFV) ด้วย

ทั้งนี้ จะเห็นว่าหากดูกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปในหลายประเทศให้ความสำคัญเกี่ยวกับระบบการให้บริการลอจิสติกส์อย่างมาก เพราะถือว่าเป็นการลดต้นทุนสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาหากดูยอดลอจิสติกส์ของไทยในแต่ละปีถือว่าสูงมากกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกสินค้าไทยในหลายอุตสาหกรรมสำคัญจะต้องนำรูปแบบการพัฒนาลอจิสติกส์จากหลายประเทศมาปรับใช้

รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก และมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของไทยให้มีการปรับตัวลดลงได้ในอนาคต จึงเชื่อว่าการจัดประชุม “Thai-European Forum” ในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออกไทยจะได้รับข้อมูลและข่าวสารความเคลื่อนไหวต่อการปรับปรุงบริหารจัดการระบบการให้บริการลอจิสติกส์ในกลุ่มสหภาพยุโรปได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

รัฐบาลให้ความสำคัญด้านการปรับปรุงระบบลอจิสติกส์อย่างมาก ที่สำคัญในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวก 3 และบวก 6 (AEM) เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้มีการพูดถึงในวงกว้างถึงแนวทางการเชื่อมระบบขนส่งต่างๆ ระหว่างกันให้มากขึ้น และรัฐบาลได้กำหนดแผนต่อการปรับปรุงระบบขนส่งทางราง โดยเฉพาะรถไฟรางคู่ ระบบขนส่งทางน้ำ และระบบขนส่งทางบก ให้เป็นระบบที่สามารถเชื่อมโยงกันที่จะสามารถลดต้นทุนด้านขนส่งให้น้อยลง แต่สามารถขนส่งสินค้าทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับอย่างคุ้มค่าต่อไป

กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเพียรพยายามเป็นกลไกทำงานอย่างต่อเนื่อง มิได้ย่อท้อว่าสภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร จะเป็นรูปตัว V หรือ U หรือ W คุณพรทิวา นาคาศัย “ลุยตลอด!” และ “ทนได้!”
กำลังโหลดความคิดเห็น