xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมคิดชวนคุยกับ ก.ล.ต.:จุดจบจากการไว้ใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ลงทุนที่ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์และส่งคำสั่งผ่านบริษัทหลักทรัพย์คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่การตลาดเป็นบุคคลที่ท่านสนิทสนมที่สุดในบริษัท แต่ต้องระวังความสนิทสนมจะสร้างปัญหาให้ท่านในภายหลังนะคะ อย่างเช่นกรณีของคุณสมศรีที่จะเล่าต่อไปนี้ คุณสมศรีโทรศัพท์เข้ามาศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. บอกเล่าถึงประสบการณ์อันเลวร้ายของเธอกับการลงทุนในตลาดหุ้นเธอบอกว่า เธอเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับ บล. แห่งหนึ่งมาได้ 2 ปีแล้ว

โดย บล. จัดให้น้องสุนิสาเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดที่ดูแลบัญชีการซื้อขายให้เธอ เธอรู้สึกชื่นชมในความขยันหาข้อมูลและความรู้มาบอกเล่าให้เธอฟังอยู่เสมอๆ ช่วยให้เธอตัดสินใจลงทุนได้ไม่ผิดพลาดในจังหวะเวลาที่เหมาะสม แม้บางทีขาดทุนบ้างตามสภาพตลาดก็เป็นเรื่องที่รับได้มาเมื่อต้นปี สุนิสามาบอกว่าลูกค้าของเธอคนหนึ่งต้องการซื้อหุ้นตัวหนึ่งแต่วงเงินเต็มจึงจะขอยืมใช้บัญชีของเธอส่งคำสั่ง และให้เธอเซ็นใบโอนไว้ให้ด้วย ถ้ามีวงเงินพอแล้วเขาจะโอนหุ้นที่ฝากซื้อไว้กลับไป คุณสมศรีก็ตกลงเพราะสุนิสายืนยันว่า ลูกค้าของเธอเป็นเสี่ยใหญ่ยังไงก็ไม่เบี้ยวแน่ แต่เธอก็ไม่รู้ว่าหลังจากนั้นสุนิสาส่งคำสั่งของคนอื่นผ่านบัญชีเธออีกกี่ครั้ง เพราะบางครั้งเธอก็เห็นชื่อหุ้นที่เธอไม่ได้สั่งซื้อปรากฏอยู่ในใบยืนยันการซื้อขาย และเธอก็เตือนสุนิสาแล้วว่าอย่าทำอย่างนี้บ่อยนัก นอกจากนี้ สุนิสายังมาชวนให้เธอซื้อหุ้นตัวหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่นอกตลาด บอกว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เร็ว ๆ นี้ โดยให้เธอโอนเงินเข้าไปที่บัญชีธนาคารของสุนิสาเพราะไม่ได้ซื้อผ่าน บล. ซึ่งเธอก็ตกลงปกติเวลาที่ซื้อหุ้น เธอจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของ บล. เสร็จแล้วก็แฟ็กซ์ใบนำฝากธนาคารไปให้สุนิสา เวลาจะรับเอกสารอะไรจาก บล. เธอก็ให้สุนิสารับและเก็บไว้ให้ก่อนจนกว่าเธอจะเดินทางไปที่ บล. 2 - 3 เดือนครั้ง หรือไม่ก็ให้สุนิสาส่งแฟ็กซ์มาให้ เพราะสะดวกดีที่ติดต่อกับสุนิสาคนเดียว ซึ่งพอเห็นรายการซื้อขายในเอกสาร บางทีเธอก็จำไม่ได้แล้วว่า ใช่หุ้นที่เธอสั่งซื้อขายหรือเปล่า แต่ไม่เป็นไรเพราะตราบใดที่เธอยังไม่ได้เป็นหนี้ให้บริษัทต้องทวง ก็คงไม่มีปัญหาอะไร

ทุกอย่างดำเนินมาด้วยดีจนวันหนึ่งที่สุนิสาไม่รับโทรศัพท์มือถือที่คุณสมศรีโทรเข้าเป็นประจำ เธอร้อนใจเพราะวันนี้มีรายการต้องใช้จ่ายเงินจึงอยากขายหุ้นสักหน่อย เธอจึงเดินทางไปที่บริษัท พนักงานของบริษัทแจ้งว่าสุนิสาลาพักร้อนไป 2 วันแล้ว และยื่นลาไว้ถึงสัปดาห์หน้า คุณสมศรีจึงขอสั่งขายหุ้นตามที่ตั้งใจไว้ แต่ปรากฏว่าหุ้นของเธอไม่เหลือแม้แต่รายการเดียว เธอแทบจะเป็นลม มันเกิดอะไรขึ้น และมันเกิดขึ้นได้อย่างไรเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยหรือมีจำนวนมากนักในตลาดทุนบ้านเราหรอกนะคะ แต่ถ้าหากท่านไว้ใจเจ้าหน้าที่การตลาดมากเกินไป สักวันคนโชคร้ายอาจเป็นท่านก็ได้ 

ก.ล.ต. จึงขอเตือนท่านผู้ลงทุนทุกท่านให้ระมัดระวัง ดังนี้ค่ะ

1.  ติดต่อโบรกเกอร์ตามระบบงานที่ถูกต้อง อย่าติดต่อทุกอย่างกับเจ้าหน้าที่การตลาดเพียงเพราะความสะดวกสบาย ระบบงานของ บล. ได้ถูกออกแบบและกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในทรัพย์สินของลูกค้า โดยแยกความรับผิดชอบของแต่ละส่วนงานไว้ดังนี้

- สั่งซื้อขายหรือรับคำแนะนำ ติดต่อเจ้าหน้าที่การตลาด

- ชำระเงินโดยโอนเข้าบัญชีของโบรกเกอร์ แล้วส่งหลักฐานการชำระเงินให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (back office) และเก็บหลักฐานการชำระเงินดังกล่าวไว้ด้วย

- มีปัญหาหรือพบความผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงาน (compliance)

2. ติดต่อเจ้าหน้าที่การตลาดทางโทรศัพท์ของบริษัท เพื่อให้มีการบันทึกเทปเป็นหลักฐานการสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ และการชักชวน แนะนำต่างๆ อย่าโทรเข้าโทรศัพท์มือถือของเจ้าหน้าที่การตลาดเพราะเป็นช่องโหว่ที่อาจทำให้การตรวจสอบและการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทำไม่สำเร็จ

3. ไม่มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่การตลาดดำเนินการแทนในเรื่องใด ๆ หากจำเป็นต้องมอบอำนาจ ให้มอบอำนาจให้บริษัทหลักทรัพย์โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น

4. อย่ายินยอมให้บุคคลอื่นส่งใช้บัญชีของท่านส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์

5. เอกสารที่ได้รับจากโบรกเกอร์ต้องเป็นฉบับจริงและส่งมาจากสำนักงานใหญ่ ไม่ใช่สำเนา หรือเอกสารที่แฟกซ์มา เนื่องจากอาจเป็นเอกสารที่ทำปลอมขึ้นและท่านต้องได้รับตรงตามเวลาด้วย

6. ตรวจสอบข้อมูลในเอกสารที่ได้รับโดยทันที เพื่อไม่ให้ลืมข้อมูลหากปล่อยไว้นาน และหากพบความผิดปกติ ต้องรีบติดต่อบริษัทตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุในเอกสารนั้น หรือติดต่อฝ่าย compliance โดยตรง

7.  เมื่อพบว่าถูกใช้บัญชีหรือหุ้นหายไปจากบัญชี ให้ร้องเรียนต่อ บล. ให้ดำเนินการก่อน และหากไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอให้แจ้งมายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ก.ล.ต. โทรศัพท์ 0-2263-6000 หรือโทรสาร 0-2256-7755 โดย ก.ล.ต. จะตรวจสอบและดำเนินการกับผู้กระทำผิด รวมทั้ง บล. ในกรณีที่ระบบงานมีข้อบกพร่อง

อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ไม่อาจเรียกให้ บล. หรือผู้กระทำผิดชดใช้ค่าเสียหายให้ได้ ผู้ที่เสียหายจึงต้องไปแจ้งความดำเนินคดีหรือฟ้องร้องทางแพ่ง หรือ เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ของ ก.ล.ต.  ซึ่งเป็นช่องทางในการระงับข้อพิพาทและเรียกร้องค่าเสียหายที่เป็นธรรม รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามในตอนหน้าค่ะ (ผู้จัดการ 21 ก.ย. 52)
กำลังโหลดความคิดเห็น