xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิจจสมุปบาทกับลัทธิแก้กรรม (3)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ว่าด้วย ‘อัตตา’ และ ‘อนัตตา’

องคุลิมาลหลังจากเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ขอบวชเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ มุ่งแต่การทำกรรมดีหรือสร้างบุญ ช่วยและสอนผู้อื่นให้เข้าใจเส้นทางสู่ธรรม

‘ธรรมะ’ ก็คือการเข้าถึงธรรมชาติ ไม่ใช่การทำวิญญาณให้สะอาดและบริสุทธิ์ แยกจิตหรือวิญญาณออกจากกาย และเคลื่อนไปเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมมัน

ชีวิตเราก็คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าเราใช้ชีวิต (หรือก่อกรรม) ไปในทางที่สอดคล้องกับหลักธรรม ก็เท่ากับเราเข้าใจธรรมชาติ (ธรรมชาติแห่งชีวิตเราเอง และธรรมชาติรอบข้าง) ด้วย

การใช้ชีวิต (ก่อกรรม) เช่นไร หรืออย่างไร สามารถก่อผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ เสมอ เราจึงต้องก่อกรรมดี หรือกระทำเฉพาะในสิ่งที่ดี ไม่ไปเบียดเบียนรุกรานผู้อื่น เราก็จะได้รับสิ่งที่ดีตอบและจะอยู่อย่างมีความสุข

แต่เป้าหมายของพุทธไม่ได้มุ่งสอนให้คนทำกรรมดีเพื่อพบความสุขเท่านั้น พุทธศาสนายังสอนให้ผู้คนพ้นทุกข์ด้วย

แต่มีบางครั้ง การออกบวชก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ออกบวชพ้นทุกข์ได้ เพราะผู้ที่ออกบวชจะยิ่งตระหนักถึงเรื่องกรรมเก่าที่เคยทำมา

ตัวอย่างเช่นเรื่องของท่านหุ้ยเข่อ

ก่อนที่ท่านจะออกบวช ท่านเคยออกทำสงครามและฆ่าผู้คนจำนวนมาก

เมื่อท่านออกบวช ทุกครั้งที่ท่านนั่งสมาธิ ท่านกระวนกระวายใจมากเพราะภาพการฆ่าคนและภาพใบหน้าของบรรดาคนที่ถูกท่านฆ่าได้มาหลอกหลอน

ยิ่งนั่งสมาธิ ท่านยิ่งทุกข์หนัก เพราะใจของท่านจมอยู่กับกองทุกข์ที่ฝังแน่นอยู่ภายใน

ท่านหุ้ยเข่อจึงพยายามหาทุกหนทางที่จะพ้นทุกข์ให้ได้ วันหนึ่งท่านได้ยินว่าจะมีพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งเดินทางมาเผยแผ่ธรรม พระโพธิสัตว์องค์นี้คือ ท่านโพธิธรรม หรือที่ชาวจีนเรียกชื่อท่านว่า ตั๊กม้อ

ท่านจึงเดินทางไปหา

ท่านตั๊กม้อนั่งสมาธิสงบอยู่ จึงไม่สนทนาธรรมกับผู้ใด

วิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ท่านตั๊กม้อออกจากสมาธิได้ ท่านหุ้ยเข่อจึงตัดสินใจตัดแขนตนเองข้างหนึ่งทิ้ง

การตัดแขนทิ้งนี้ เพื่อจะแสดงให้ท่านตั๊กม้อประจักษ์ว่าท่านต้องการเข้าใจธรรม และต้องการพ้นทุกข์จริงๆ

ตั๊กม้อจึงออกจากสมาธิ และสนทนาธรรมกับท่าน

ท่านตั๊กม้อถามว่า

“ท่านมีทุกข์ เรื่องอะไรหรือ”

ท่านตอบว่า

‘ใจ’ ของท่านเป็นทุกข์มาก ถึงแม้จะบวชแล้วก็ตามแต่ยังไม่อาจลืมเรื่องราวในอดีตที่เคย ‘ฆ่า’ ผู้คนไว้มากได้

ท่านตั๊กม้อจึงกล่าวตอบว่า

“เอา ใจ ของท่านมาให้เราซิ แล้วเราจะช่วยทำความสะอาดให้”

ท่านหุ้ยเข่อนั่งคิดอยู่นานเพราะไม่รู้ว่าจะหาใจที่ทุกข์ไปให้ท่านตั๊กม้อทำความสะอาดได้อย่างไร

ท่านคิดไปคิดมาหลายตลบ ก็เริ่มสงสัยว่า ‘ใจของตัวท่าน’ น่าจะไม่มีอยู่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า สาเหตุที่ท่านทุกข์ ก็เนื่องจากท่านยังไปติดหลง ‘อัตตา’ ในความมีอยู่ของตัวท่าน หรือหลักตัวกูของกูอยู่

เมื่อตัวกูของกูหรืออัตตาสิ้นไป ความทุกข์ก็ไม่มีหลงเหลืออยู่

ท่านจึงบรรลุธรรม หรือตรัสรู้แบบฉับพลัน

แต่ความเข้าใจเรื่อง ‘อัตตา’ และ ‘อนัตตา’ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่า อะไรคือ อัตตา และ อะไรคือ อนัตตา

ผมคิดว่างานแปลของท่านพุทธทาสเรื่อง เว่ยหล่าง น่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องอัตตาและอนัตตาได้ดีขึ้น

ที่สำคัญ เรื่องนี้สะท้อนภาพว่า คนจนไร้การศึกษา ยังไม่ได้บวชเป็นพระ ไม่เคยนั่งสมาธิแบบเอาจริงเอาจัง เช่น ท่านเว่ยหล่าง ก็ตรัสรู้ได้ และได้เป็นถึงสังฆปรินายกนิกายเซ็น

เรื่องมีอยู่ว่า เว่ยหล่าง ชายยากจนไร้การศึกษา แต่จิตใจสนใจเรื่องธรรมะมาก ท่านได้เดินทางไปสมัครเป็นลูกศิษย์สำนักเซ็นที่สำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งองค์สังฆปรินายกของวัดนี้คือผู้สืบทอดพุทธนิกายเซ็นมาถึงรุ่นที่ 5

ท่านสังฆปรินายกได้รับเว่ยหล่างเข้ามาอยู่ในสำนัก และให้เว่ยหล่างไปช่วยทำงานในครัว

ในช่วงเวลานั้น ท่านสังฆปรินายกอายุมากแล้ว ต้องการจะหาผู้สืบทอดตำแหน่งท่าน จึงจัดประชุมสงฆ์ขึ้น และบอกบรรดาพระทั้งหลายผู้อาศัยอยู่ในวัดให้เขียนโศลกขึ้นมาอธิบายธรรมว่าด้วย จิตเดิมแท้ หรือ จิตแห่งพุทธะ

ท่านซินเซา พระอาวุโสผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับของพระทั้งปวงว่าจะเป็นผู้สืบทอดจากท่านสังฆปรินายกได้เขียนโศลกขึ้นบทหนึ่ง มีความว่า

“กายของเราเปรียบได้ดั่งต้นโพธิ์
ใจของเราก็เป็นดั่งกระจกเงาอันใสสะอาด
เรามั่นเช็ดถูด้วยความระมัดระวังทุกๆ ชั่วโมง
โดยไม่ยอมให้ฝุ่นละอองจับ”


ท่านสังฆปรินายกอ่านโศลกบทนี้ ก็ตระหนักรู้ว่า ท่านซินเซานั้นเข้าใจพุทธธรรมได้ดีระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เข้าถึงแก่นของพุทธธรรม

ถ้าเปรียบ ก็น่าจะคล้ายๆ กับพุทธเถรวาท ที่มุ่งสอนเรื่องการมีสติติดตัวอยู่เสมอ และใช้สตินี้ช่วยทำให้ใจสะอาด ไม่ให้ฝุ่นละอองจับ

แต่น่าเสียดาย โศลกบทนี้สะท้อนภาพว่าท่านยังไม่หลุดจากตัวตนหรืออัตตา จึงยังต้องเฝ้าระวังทำความสะอาด ‘ใจของท่าน’ ให้ใสสะอาดอยู่เสมอ อยู่ทุกวัน

ท่านสังฆปรินายกจึงบอกให้ท่านซินเซาลองพิจารณาศึกษาธรรมใหม่ และเขียนโศลกชิ้นใหม่ ซินเซาพยายามคิดเท่าไร ก็ไม่สามารถแต่งโศลกใหม่ได้

เว่ยหล่างได้ดูโศลกของซินเซาที่เขียนไว้ และขอให้พระอีกรูปหนึ่งช่วยอ่านโศลกให้ฟังเนื่องจากท่านไม่รู้หนังสือ พอฟังจบ เว่ยหล่างก็บอกแก่พระรูปนั้นว่าท่านได้แต่งโศลกไว้ชิ้นหนึ่งเหมือนกัน แต่ท่านเขียนหนังสือไม่ได้ พระรูปหนึ่งจึงถาม “โศลกของท่านมีความว่าอย่างไร” เว่ยหล่างจึงกล่าวโศลกให้ฟัง พระรูปนี้พอฟังโศลกก็ประทับใจยิ่ง และได้เขียนโศลกนี้ปิดไว้ให้คนในวัดได้อ่าน โศลกของท่านเขียนไว้ว่า

“ไม่มีแม้แต่ต้นโพธิ์
ไม่มีกระทั่งกระจกเงาอันใสสะอาด
เมื่อทุกอย่างล้วนว่างเปล่า
จะมีฝุ่นที่ไหนเล่าจะลงไปจับได้”

ท่านสังฆปรินายกพออ่านโศลกบทนี้ก็รู้ได้ทันทีว่า เว่ยหล่างได้เข้าถึงหัวใจของพุทธธรรม โดยเฉพาะเข้าใจเรื่องอัตตาและอนัตตา

ท่านตระหนักรู้ว่า ชายคนนี้แม้ยังไม่ได้บวชเป็นพระ แต่น่าจะเป็นผู้ที่สามารถสืบทอดพัฒนานิกายเซ็นได้

ท่านสังฆปรินายกจึงเรียกเว่ยหล่างเข้าไปพบและอธิบายเรื่อง ‘จิตแห่งพุทธะ’ ให้ฟัง

เว่ยหล่างพอได้ฟังก็เข้าใจ และตระหนักรู้โดยฉับพลันว่า

“ที่แท้ จิตเดิม หรือ จิตแห่งพุทธะ นี้ก็คือส่วนหนึ่งของธรรมชาตินั่นเอง ไม่ใช่สิ่งอื่นไกลที่ไหน”

เราจะแยกจิต รวมทั้งกายของเรา ออกจากธรรมชาติไม่ได้เพราะต่างประกอบกันเป็นหนึ่งเดียว

หรือกล่าวว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จิตมนุษย์ก็คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และแยกไม่ได้จากธรรมชาติ

คำว่า แยกไม่ได้เลย นี้หมายความว่า ความเป็นมนุษย์ รวมทั้งจิต ไม่ได้มีแก่นสารของตัวเองที่บอกได้ว่าเป็นตัวเป็นตนที่ดำรงอยู่ได้เองหรือเปลี่ยนไปได้ด้วยตัวเอง

นี่คือหลักการพื้นฐานแนวคิดเรื่อง ‘อนัตตา’ อนัตตาไม่ได้หมายถึง ความว่าง หรือ ความไม่มีอะไร แต่คือ ความมีอะไร เป็นความมีที่ไม่สามารถแบ่งแยกเป็นชิ้นๆ เป็นท่อนๆได้ (หรือเป็นตัวเป็นตนเฉพาะได้)

สาเหตุหนึ่งที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงธรรมเรื่อง ‘อนัตตา’ ได้ก็อาจเพราะเราคิดว่า “ธรรมชาติ คือโลกวัตถุที่ไร้ชีวิต” จิตใจจึงต่ำต้อยกว่าความเป็นมนุษย์ หรือไม่ก็เลยเถิดคิดไปว่า “ธรรมชาติ คือศัตรูที่มนุษย์ต้องเอาชนะ” ส่วนมนุษย์เท่านั้นที่มีชีวิตจิตใจ

หลงคิดไปว่า ตัวเราสามารถแยกจากธรรมชาติได้

เราลืมคิดไปว่า ธรรมชาติ คือแม่ผู้ให้กำเนิดทุกสิ่งทุกอย่าง

ผมเคยสอนนักศึกษาเรื่องหลักอนัตตา ว่าคือหลัก “ไม่มี A” คำว่า A ในภาษาอังกฤษ จะใช้นำหน้าสิ่งต่างๆ เช่น นำหน้าโต๊ะ (A Table) เก้าอี้ (A Chair) หมายความว่า เราสามารถแยกโต๊ะและแยกเก้าอี้ออกจากกันเป็นตัวๆได้ และสามารถอธิบายได้ว่า โต๊ะคือ อะไร เก้าอี้คือ อะไร ถ้ามีโต๊ะเก้าอี้หลายตัวภาษาอังกฤษก็จะเติม s ไว้ข้างท้ายเสมอ

วิถีการเข้าใจโลกแบบนี้คือการมองโลกแบบแยกส่วนเป็นชิ้นๆ เป็นตัวเป็นตน นี่คือการเข้าใจแบบอัตตา แยกต้นไม้แต่ละต้นออกจากกันได้ และให้ชื่อต้นไม้แต่ละชนิดว่าคือต้นอะไร อย่างเช่น เราเรียกต้นไม้ชนิดหนึ่งว่า ต้นโพธิ์

แต่ถ้าเราคิดแบบอนัตตา ต้นไม้ที่เรียกชื่อว่า ต้นโพธิ์ หาได้มีอยู่ไม่ ทำไมจึงกล่าวว่า “ไม่มีอยู่”

สาเหตุเพราะต้นไม้ทุกต้นที่เกิดขึ้นในโลกนี้ต้องพึ่งธรรมชาติและแยกออกจากธรรมชาติไม่ได้เลย เพราะต้องอาศัยอาหารจากดิน ต้องใช้อากาศ และแสงแดด หากไม่มีอาหารและน้ำจากดิน หรือไม่มีลมและแสงแดด ต้นไม้นี้ก็ไม่สามารถดำรงหรือเติบใหญ่ได้

พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า การดำรงอยู่ของบรรดาต้นไม้ทั้งหมดล้วนไม่มีแก่นสารของตัวเอง หรือไม่สามารถดำรงอยู่และเติบโตได้ด้วยตัวเอง

ต้นไม้ที่แท้ทุกต้น (แม้จะมองได้ว่าคือ หน่วยหนึ่งของชีวิต) ก็คือส่วนประกอบหนึ่งของโลกใบนี้และธรรมชาติรอบข้าง

คนเราก็เหมือนกัน ถ้าคนเดินไม่ได้เหมือนต้นไม้และมีรากติดดิน เราจะเข้าใจเรื่องอนัตตาได้ดี

เผอิญ ‘คนเดินได้’ จึงหลงคิดว่าตัวเองเป็นตัวเป็นตนที่อิสระ แยกจากธรรมชาติได้ หรือเลยเถิดคิดและหลงว่า คนแต่ละคนมีแก่นสารความเป็นคนของตัวเอง

แก่นสารนั้นคือ ‘วิญญาณ’ หรือ ‘จิตใจ’ ที่สามารถเป็นตัวกูของกูได้

ถ้ามองแบบอนัตตา ไม่ว่า ‘ต้นโพธิ์’ หรือ ‘จิตใจมนุษย์’ ล้วนเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของโลกธรรมชาติ ไม่สามารถใส่ A เข้าไปข้างหน้าได้ และแยกส่วนไม่ได้จากโลกใบนี้ด้วยกันทั้งนั้น

คำว่า ใจของฉัน และ ใจของเธอ จึงไม่มีอยู่จริง (หรือว่างเปล่า)

ทั้งหมด หรือทุกสรรพสิ่งที่เรามองเห็น เราสัมผัสได้หรือไม่ได้ ล้วนแต่คือองค์ประกอบของสิ่งอื่นๆ ทั้งนั้น การดำรงอยู่ของทุกสรรพสิ่งล้วนแต่เป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน

นี่คือหลักธรรมที่มีชื่อว่า “อิทัปปัจจยตา”

ทุกสรรพสิ่ง (หน่วยชีวิต) ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นโลก เป็นจักรวาลนี้ จึงล้วนมีค่าด้วยกันทั้งนั้น การกระทำ (หรือการก่อกรรม) หรือการเคลื่อนไปของสิ่งต่างๆ จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ อย่างยิ่ง

หลักพุทธจึงสอนให้เราเข้าใจค่าของการกระทำ และผลกรรม (ต่อ) ทุกสิ่ง และปฏิบัติต่อทุกสิ่งราวว่าเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา ด้วยหลักธรรมว่าด้วยความเมตตากรุณา และความเอื้ออาทรต่อกัน

จิตเดิม (หรือจิตพื้นฐานของมนุษย์) เมื่อเป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติ จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาและกรุณาต่อสิ่งอื่นๆ และรู้ค่าแห่งธรรม (ชาติ)

ท่านสังฆปรินายกตระหนักรู้ว่า เว่ยหล่างรู้แจ้งถึงสภาวธรรม (ชาติ) และจิตแห่งพุทธะ จึงได้มอบผ้ากาสาวพัสตร์ซึ่งเป็นธรรมเนียมของเซ็น ที่จะมอบจากองค์สังฆปรินายกองค์หนึ่งไปสู่อีกองค์หนึ่ง

แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือ จะทำให้บรรดาพระอื่นๆในวัดเข้าใจได้อย่างไรว่า ฆราวาสไร้การศึกษาสามารถเข้าถึงจิตแห่งพุทธะ หรือตรัสรู้ได้โดยไม่ต้องบวช ไม่ต้องเรียนธรรมะ (พุทธศาสนา) ไม่ต้องนั่งสมาธิ

ท่านสังฆปรินายกจึงตัดสินใจพาเว่ยหล่างหนีออกไปจากวัด สั่งให้เว่ยหล่างไปตั้งสำนักใหม่ และเผยแผ่พุทธธรรมที่อื่น

เรื่องสะท้อนภาพ 2 มุมตรงข้ามกัน มุมหนึ่งสะท้อนภาพว่า การตรัสรู้ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่พระผู้ศึกษาธรรมมานานปี นั่งสมาธิอยู่ทุกวัน ก็ไม่สามารถก้าวถึงการตรัสรู้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็บอกว่า การตรัสรู้เป็นเรื่องง่ายๆ นิดเดียว เพราะแม้แต่ฆราวาสต่ำต้อย ไร้การศึกษา ก็สามารถตรัสรู้ได้โดยไม่ยากนัก

ทำไมเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้นได้

ถ้าอ่านโศลกของซินเซาอีกสักครั้งหนึ่ง ก็อาจจะตีความได้ว่า ท่านเข้าใจว่า จิตแห่งพุทธะ คือจิตที่ไร้กิเลส การตรัสรู้ ก็คือการชำระล้างกิเลสให้สิ้นซาก ซึ่งคล้ายกับความเข้าใจของพระไทยจำนวนมาก

เพื่อจะขจัดกิเลสให้สิ้นซากลง จึงต้องทำสมาธิและเจริญสติให้มั่นคง ใช้สติคอยเฝ้าระวัง ช่วยทำให้จิตใสสะอาดปราศจากกิเลสตลอดเวลา

แต่ท่านยังหลงอยู่ในโลกของจิตสูงสุด และมี A นำหน้าอยู่

อย่างเช่น พอบรรดาพระสามารถควบคุมกิเลสได้ดีแล้ว ก็จะเชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ทันทีที่คิดว่า ตัวท่าน คือพระอรหันต์ อัตตาในนามว่า ‘อรหันต์’ ก็ก่อตัวขึ้นในทันทีด้วย

ยิ่งทำให้จิตสงบ นิ่งได้ราวกับตัวตนหายไป ก็ไปเข้าใจว่าตนเข้าถึงนิพพานหรือความว่าง แต่แค่คิด ‘ตัวตนแห่งนิพพาน’ ก็เกิดขึ้นอีกเช่นกัน

ยิ่งมุ่งไปนิพพานมากขึ้นเท่าไร ตัวตนแห่งนิพพานก็ยิ่งขยายใหญ่

พูดง่ายๆ ว่า อย่างไร อย่างไร...ก็ก้าวไม่พ้นตัวตน (หรืออัตตา)

ยิ่งนั่งสมาธิมากๆ เพื่อลดละตัวตน ความมีตัวตนก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะไปสนใจเฉพาะแต่ ‘ตัวเอง’ เท่านั้น

พระพุทธเจ้าเคยกล่าวเตือนไว้ว่า

“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย วิหารนี้ก็ว่าง ป่าไม้นั้นก็ว่าง ที่ไม่ว่างคือ ภิกษุ”

พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ยิ่งอยากจะตรัสรู้ อยากนิพพานมาก จิตก็ยิ่งอยู่กับตัวเอง ยิ่งพยายามเฝ้ามองเฝ้าระวังตัวเอง คุมตัวเอง

จิตใจก็จะหลงวิ่งวนอยู่กับตัวเองเท่านั้น ทุกอย่างในโลกนี้จึงดูว่างหรือไร้ความหมาย

แต่ที่ ‘ไม่ว่าง’ คือตัวตนของพระเอง

หลักอนัตตาจะช่วยให้เราเข้าใจว่า สิ่งที่เราเห็นว่าแยกได้ สามารถเห็นเป็นหน่วยๆ นั้น หาได้ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระไม่ หรือมีตัวตนจริง

สรรพสิ่งในโลกธรรมชาติล้วนประกอบกันเป็นหนึ่งเดียว พึ่งพากัน และหาได้ “มีเรา มีเขา” มีต้นไม้ชนิดต่างๆ ที่สามารถอธิบายแบบแยกเป็นชิ้นๆ ได้จริง

แม้แต่จิตใจ (หรือความรับรู้ และความเชื่อ) ที่คิดว่า ‘เป็นของเราเอง’ ก็ไม่ได้เกิดก่อขึ้นอย่างเป็นอิสระ

เราจริงๆ แล้ว บอกไม่ได้ด้วยซ้ำไปว่า “ตัวเราคือ ใคร”

ความคิดพื้นฐานของเรา (หรือจิตใจของเรา) ก็ล้วนแต่ได้รับการสั่งสอน เรียนรู้และสืบทอดมาจากอดีตกาล

คนทุกคนที่เกิดมา ก็ล้วนแต่เรียนรู้เรื่องราวพื้นฐานไม่ต่างกัน

หากจิตใจไม่ยึดติดในตัวตน เราก็จะมองโลกแบบอนัตตา มองเห็นค่าของสิ่งอื่นๆ รอบตัว

สัตว์ พืช ต้นไม้ ใบไม้ ก็มีค่าไม่น้อยกว่าตัวเรา และแม้แต่สิ่งที่เราเรียกว่า ‘ตัวเชื้อโรค’ ก็มีค่า

ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า มี หรือ ไม่มีชีวิต ที่แยกออกจากกันได้ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ใจของเรา’ ที่แยกออกจาก ‘ใจของเขา’ ได้

พูดง่ายๆ “เราก็คือ เขา และเขาก็คือ เรา” หรือกล่าวอีกแบบได้ว่า “เราก็คือโลก โลกธรรมชาติก็คือ ตัวเรา”

ถ้าเราศึกษาธรรมชาติแบบกว้าง ก็จะพบกฎแห่งธรรม ตัวอย่างเช่น ธรรม (ชาติ) ทั้งมวลล้วนแต่เคลื่อนไปไม่สิ้นไม่สุด ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว เคลื่อนไปแบบอนิจจัง (พลิกผัน) และแบบทุกขัง (ไม่อาจเป็นอย่างที่เคยเป็น) และบนฐานแห่งอนัตตา (ไร้ตัวตนที่แยกเป็นชิ้นๆได้)

ธรรม (ชาติ) นั้น ที่แท้แล้วไร้รูปไร้นาม ไม่มีตำแหน่งแห่งที่แน่นอน มีแต่สภาวะที่เปลี่ยนไปอย่างไร้ขอบเขตและไร้เวลา ไม่มีเกิด ไม่มีตาย

จิตเดิม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ก็มีสภาวะไม่ต่างกัน

เคลื่อน (เปลี่ยนไป) ไม่สิ้นไม่สุด ไร้รูป ไร้นาม เป็นอิสระ และมีความว่าง (ไร้ตัวตน) เป็นฐาน

เพื่อนบางคนอาจจะไม่เข้าใจเรื่องจิตเดิม ก็ให้ลองสังเกตบรรดาเด็กเล็กๆ หรือไม่ก็คิดถึงตัวเองตอนที่เป็นเพียงเด็กๆ

เราจะพบว่าจิตใจของเด็กเล็กๆ นั้นจะไม่ติดยึดอยู่กับอะไร (เป็นอิสระ) จะสนใจไปทุกเรื่อง ชอบเล่น ชอบสนุกเกือบตลอดเวลา

เมื่อจิตเป็นอิสระ จิตก็จะไม่ติดยึด (หรือว่าง) เมื่อว่างและวางได้ จิตก็จะไม่เป็นทุกข์ จิตที่ไม่ทุกข์ร้อนก็จะสงบเย็น (หรือนิพพาน)

‘นิพพาน’ ที่จริงแล้ว ไม่ได้แปลว่า ‘การดับสูญ’ แต่แปลว่า ‘ความสงบเย็น’

ดังนั้น ‘นิพพาน’ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะนิพพานก็คือสภาวะธรรมชาติแบบหนึ่ง

คนเราที่อยู่อย่างไร้ทุกข์ ย่อมมีจิตใจที่สงบเย็น ก็จะพบกับนิพพานได้ เช่นกัน

ตรงจุดนี้ จะเห็นว่าผมตีความคำว่า นิพพาน ต่างจากคนอื่นๆ ทั่วไป ที่พยายามทำให้นิพพานเป็นเรื่องสูงสุด เป็นเรื่องที่คนทั่วไปก้าวไปไม่ถึง

ดังนั้น นิพพานของผมเป็นเรื่องที่ไม่ยากอย่างที่เข้าใจ ซึ่งก็คือการเข้าใจถึงธรรมชาติแห่งความสงบเย็นของจิตนั่นเอง

คนทุกคนก็พบนิพพานได้ด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่า ‘ที่พบ’ มักจะเป็นสภาวะนิพพานแบบชั่วคราว

หลักพุทธ ที่ว่าด้วยเรื่อง “จิตเดิมที่เป็นอิสระและสงบเย็น” นี้จะคล้ายกับหลักหัวใจของเต๋าที่ว่าด้วยเรื่อง “การคืนกลับสู่ความเป็นธรรมชาติ”

ที่สุดแล้ว ชาวเต๋าก็จะเลือกดำเนินชีวิตไปอย่างเรียบๆ ง่ายๆ และสอดคล้องกับกฎแห่งธรรมชาติ ส่วนชาวพุทธจะเลือกเดินชีวิตตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 ที่มีความเรียบง่าย มีความพอเพียงเป็นฐานไม่ต่างกัน เช่นกัน

ชีวิตที่เรียบง่าย ไร้อัตตา จึงไร้ทุกข์ (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น