xs
xsm
sm
md
lg

เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 25)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

25. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)

“วิชาสมาธิพระโพธิสัตว์
มันจะทำให้จิตวิญญาณ สติ สมาธิ และกายของผู้นั้น รวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างชนิดเฉียบพลัน รวดเร็ว และเด็ดขาด ฉันคิดว่า พวกเธอก็ทำได้ สำคัญอยู่ที่ อย่าไปหวังผลเลิศ แต่ จงสรรหาวิธีที่เลิศ แล้วพวกเธอจะนำมาใช้ได้เอง”

“เขา” ครุ่นคำนึงถึงคำพูดข้างต้นของ คุรุ ของเขาที่กล่าวไว้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน พร้อมๆ กับที่ตัวเขาก็ได้เรียนรู้อย่างหนึ่งว่า จากจริยะของ คุรุ ของเขา ทำให้เห็นได้ชัดประการหนึ่งว่า วิถีของโพธิสัตว์ นั้น เป็น วิถีของผู้กล้า หรือ วิถีของนักรบ ด้วยในเวลาเดียวกัน

วิถีนักรบ คือ วิถีแห่งการล่าพลัง เพราะ นักรบ คือผู้ที่มุ่งหน้าไปหาพลัง และมณฑลแห่งพลัง การเป็น นักรบ หรือไม่ จึงไม่ใช่เรื่องของการอวดอ้างตีขลุม ข้อตัดสินว่าใครเป็น นักรบ หรือไม่ จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจแห่งการแต่งตั้งของผู้ใดทั้งสิ้น แต่อยู่ที่ตัว มณฑลแห่งพลัง เองต่างหาก ใครก็ตามที่เข้าถึงพลังได้ จนตัวเขากลายเป็น มณฑลแห่งพลังได้ เขาผู้นั้นก็คือ นักรบ ไม่ว่าผู้อื่น หรือสังคมจะมองเขาเป็นอื่นก็ตาม

นักรบ คือ นักล่าผู้ล่าพลัง และเป็นนักล่าที่สมบูรณ์แบบที่สุด ในความหมายที่ตัวเขาจะไม่แปดเปื้อน หลงงมงายอยู่กับวัตถุภายนอก หรือความสำเร็จภายนอกเหมือนนักล่า “ความสำเร็จ” ทั่วไปที่มีอยู่ดาษดื่นในสังคม เพราะ นักรบ จะล่าแต่พลังเท่านั้น และเมื่อใดก็ตามที่ นักรบ ล่าพลังได้สำเร็จ เขาก็จะกลายเป็น ผู้กระจ่าง หรือเป็น โพธิสัตว์ เต็มตัว

แต่พลังอะไรเล่า? ที่ นักรบ หรือ ผู้กล้า ผู้ปวารณาตัวเดินบนเส้นทางของ โพธิสัตว์มุ่งแสวงหา

คำตอบของ คุรุ ของเขา ก็คือ ผู้ที่อยู่บนเส้นทางแห่ง โพธิสัตว์ นั้น คนผู้นั้นจะล่า พลังวิเศษ 2 ชนิด ที่ดำรงอยู่ในจักรวาฬ พลังวิเศษ 2 ชนิดที่ว่านั้น คือ พลังอนันต์ กับ พลังอมตะ หรือ พลังบุญ กับ พลังจิต

ในตอนนั้น คำตอบของเขาเป็นแค่ “พลังแห่งจิตวิญญาณ” ซึ่ง คุรุ ก็ยังบอกว่าเป็นคำตอบที่ไม่เพียงพอ เพราะท่านบอกกับ “เขา” ว่า

“เธอเพิ่งได้แค่ขั้นนี้เองหรือ”

ท่านยังตำหนิ “เขา” ต่อไปอีกด้วยความเมตตาว่า

“ตัวเธอก็รู้จัก พลังกุณฑาลินี ดีอยู่แล้วนี่นา ฉันจะบอกให้นะ ในโลกนี้มีพลังอยู่ 2 ชนิด คือ พลังอนันต์ กับ พลังอมตะ โดยที่ พลังอมตะ เป็น พลังมหัศจรรย์ที่คล้ายกับพลังงานปรมาณู แต่เป็นพลังปรมาณูของจิต พลังกุณฑาลินี ก็เป็น พลังอมตะอันนี้แหละ”

บัดนี้หลังจากที่เวลาผ่านไปสิบปีเต็มแล้ว และหลังจากที่ “เขา” เริ่มสามารถที่จะบูรณาหลอมรวมวิชาสายต่างๆ ที่ตัวเขาได้ฝึกฝนมาชั่วชีวิตได้รุดหน้าขึ้นมากแล้ว ตัวเขาก็ได้ค้นพบว่า คำตอบของ “เขา” ในตอนนี้ได้เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน และเป็นคำตอบเดียวกับที่ คุรุ ของเขาได้เคยสอน และพร่ำสอนพวกลูกศิษย์ของท่านมาโดยตลอดนั่นเอง เพียงแต่ในตอนนั้นที่ได้ฟังคำตอบนี้จาก คุรุ ของเขา ตัว “เขา” ยังไม่ได้เข้าถึงแก่นแท้ของคำสอนนี้ในระดับเลือดเนื้อ ไขกระดูก และจิตวิญญาณเหมือนอย่างตอนนี้

คำตอบที่ว่านั้นก็คือ พลังอนันต์ กับ พลังอมตะ คือ พลังวิเศษ 2 ชนิดที่ “เขา” แสวงหาและจะใช้ พลังวิเศษ 2 ชนิดนี้เป็นที่พึ่งของตัวเขาในโลกนี้จนกว่าจะเข้าสู่พุทธภูมิ และลุถึงนิพพาน

“เขา” ต้องใช้เวลาหลายปีหลังจากนั้นทีเดียว กว่าที่ตัวเขาจะเริ่ม “ตาสว่าง” และเข้าใจความหมายที่แฝงเร้นอันเป็น “ความลับของฟ้า” ที่ซ่อนเร้นอยู่ในข้อเขียนชิ้นนี้ได้ อันที่จริง การที่ตัวเขาเริ่มตาสว่างและเข้าใจความหมายที่แฝงเร้นนี้ได้ มันก็ไม่เกี่ยวกับความสามารถของตัวเขาแต่อย่างใดเลย แต่เป็นเพราะความเมตตาหรือพรอันประเสริฐ (grace) จากพระมหาโพธิสัตว์ที่ตัวเขาได้รับโดยแท้ จึงทำให้อยู่ดีๆ ในวันวิสาขบูชาของปีหนึ่ง ขณะที่ตัวเขากำลังนั่งสมาธิเจริญภาวนาอยู่ ฉับพลันเขาก็มีปัญญาที่แจ่มชัดขึ้นมา จนสามารถเข้าใจความหมายที่แฝงเร้นอยู่ในข้อเขียนชิ้นนี้ของ คุรุ ของเขาได้

***

ความหมายอันแฝงเร้นที่เป็น “ความลับของฟ้า” ที่ตัวเขาเชื่อ และเป็นความเห็นส่วนตัวของตัวเขาเองว่ามันแฝงเร้นอยู่ในข้อเขียนชิ้นนี้ มีดังต่อไปนี้

(1) พระพุทธเจ้าหลังจากเสด็จปรินิพพานไปแล้วทรงมี ธรรมกาย ซึ่งก็เป็น ธรรมจิต (Spirit) ด้วย ธรรมกาย มิได้หมายถึงพระธรรมคำสั่งสอนที่เป็นความจริงเท่านั้น แต่รวมถึงพุทธคุณที่แผ่ซ่านแทรกซึมไปทั่ว ทั้งในธรรมชาติและในจิตของมนุษย์โดยเป็น “ครูผู้มีใจอารี” ที่ดำรงอยู่ในดวงใจของคนทุกคน แต่ทุกคนต้อง ปลุก ขึ้นมาให้มาสอนตัวเองแต่ละคน เพื่อให้หยั่งถึงความรู้แจ้งอย่างสมบูรณ์

(2) ผู้ที่สามารถเข้าถึง พลังอมตะ หรือ พลังจิต ได้ จะมี ธรรมกาย หรือเป็น ธรรมกาย ผู้นั้นจะเรียกตนเองว่า

“เรา คือ โลก โลก คือ เรา
จิต คือ โลกโลก คือ จิต
จิต คือ เราเรา คือ โลก”

โดยที่ จิต ในคำพูดข้างต้นคือ ธรรมจิต (Spirit) ซึ่งเป็น ธรรมกาย ด้วย

(3) จักรวาฬทัศน์ของโพธิสัตว์ จะมองว่า จักรวาฬนี้คือ วิวัฒนาการของธรรมจิต (Spirit) โดยที่ตัวจักรวาฬเอง มีวิวัฒนาการจาก วัตถุธาตุ ไปสู่ ชีวิต ไปสู่ จิตใจ ไปสู่ วิญญาณ (soul) เพื่อเข้าถึง ธรรมจิต ที่เป็นปลายทาง หรือระดับสูงสุดของวิวัฒนาการของจักรวาฬ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นกระบวนการทั้งหมดของจักรวาฬด้วย

ธรรมจิต จึงเป็นสิ่งที่ เหนือโลก นี้อย่างสิ้นเชิง แต่ในขณะเดียวกัน ธรรมจิต ก็โอบอุ้ม ครอบคลุมทุกสรรพสิ่ง สรรพชีวิตในโลกนี้อย่างสิ้นเชิงด้วย

ความรู้แจ้งของโพธิสัตว์ จึงมิใช่สิ่งใดอื่น นอกไปจากการ “ตื่น” ขึ้นของ ธรรมจิต ที่ดำรงอยู่เสมอมาในตนเองอยู่แล้ว โดยตื่นขึ้นมาตระหนักรู้อย่างกระจ่างแจ้งในธรรมชาติที่แท้จริงของตนเองเท่านั้น

(4)วิชาลม 7 ฐาน อันเป็น วิชาสูงสุดของโพธิสัตว์ คือ วิชาที่สามารถทำให้ผู้นั้นเข้าถึง พลังอมตะ หรือ พลังจิต นี้ได้ วิชาลม 7 ฐาน นี้เป็นวิชาหนึ่ง พระศาสดา ทรงถ่ายทอดให้ พระมหากัสสปะ และเป็นวิชาเดียวที่พระองค์ทรงยอมรับว่า “กัสสปะ เธอมีธรรมอันเสมอเรา” พระมหากัสสปะ เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นเลิศในทางปฏิบัติ และเป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์

(5) พระมหากัสสปะ เป็นปฐมพระสังฆปริณายกของ สำนักธยานะ (หรือสำนัก เซน) ที่สืบทอดจากอินเดียไปสู่จีน โดยพระสังฆปริณายก รุ่นที่ 28 คือ พระโพธิธรรม (ตั๊กม้อ) ที่มาจำวัดอยู่ที่วัดเส้าหลิน และถ่ายทอด สมาธิลมปราณชำระกระดูก (ลมปราณล้างไขกระดูก) ให้แก่ศิษย์วัดเส้าหลิน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ แนวทางปฏิบัติแบบสำนักเซนสายตั๊กม้อ นั้น จะต้องมีการฝึก วิชาลมปราณชำระกระดูก ซึ่งเป็น วิชาหลักของวิชาลม 7 ฐาน ด้วย

(6)วิชาลม 7 ฐาน ในสายธยานะ (เซน) ของพระมหากัสสปะ ไม่ค่อยปรากฏในตำราเล่มใดๆ และก็ไม่ปรากฏในคำสอนของพระศาสดา หรือคำสอนของเกจิอาจารย์องค์ไหนๆ เหตุผลก็เพราะ วิชาลม 7 ฐานนี้เป็นเรื่องของการถ่ายทอดกันจากจิตสู่จิต วิญญาณสู่วิญญาณ กายสู่กายในสายของโพธิสัตว์ อันเป็นเอกลักษณ์ในการถ่ายทอดของสายธยานะ (เซน) อย่างตัว “เขา” เอง ตอนได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชาลม 7 ฐานจาก คุรุ ของเขาแบบกายสู่กาย และจิตสู่จิตก็กระทำกันที่ถ้ำไก่หล่น ในช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 ส่วนการถ่ายทอดจากวิญญาณสู่วิญญาณนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 2 เดือนมกราคม พ.ศ. 2542 ขณะที่ “เขา” กำลังนั่งเจริญภาวนาอยู่ในถ้ำไก่หล่นใต้ปล่องอากาศแล้วมี “ประสบการณ์ทางวิญญาณ” กับวิชาลม 7 ฐาน ที่นั่น

(7) เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะศึกษา วิชาลม 7 ฐาน ผู้นั้นก็ต้องทำให้กายศักดิ์สิทธิ์ จิตศักดิ์สิทธิ์ และเกิดธรรมศักดิ์สิทธิ์เสียก่อน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เมื่อคนผู้นั้นคิดจะศึกษาวิชาลม 7 ฐานของพระโพธิสัตว์ คนผู้นั้นก็ต้องมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเอง ทั้งกาย จิต และกระบวนการเรียนรู้คือ ธรรมะให้เกิด กระบวนการสามศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นมาเสียก่อน

(8) อันที่จริง เคล็ดวิธีในการเข้าถึง กระบวนการสามศักดิ์สิทธิ์ นี้ โดยตัวมันเองก็เป็นเรื่องยากที่จะถ่ายทอดอยู่แล้ว นอกจากคนผู้นั้นจะต้องฝึก พลังวิเศษ นี้ด้วยตนเองเท่านั้น หากผู้ใดคิดจะ ฝึกพลัง ก็ต้องมีความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า พลังในกายทวาร ของคนเรานั้น มีทั้งหมด 3 ชนิดด้วยกันคือ พลังทางเพศ (พลังกายหรือจิง) พลังปราณ (ชี่) และพลังจิต (เสิน หรือ พลังจิตวิญญาณ หรือ พลังอมตะ ในนิยามของ คุรุ) ผู้ใดก็ตามที่สามารถ รวมพลัง ตามเคล็ด “จิตรวมกาย กายรวมพลัง (ปราณ) พลัง (ปราณ) รวมจิตเป็นหนึ่งเดียว” ได้ คนผู้นั้นคือผู้ที่จะเข้าถึงสามศักดิ์สิทธิ์ คือ กายศักดิ์สิทธิ์ จิตศักดิ์สิทธิ์ และธรรมศักดิ์สิทธิ์ได้ และจะเป็นผู้ที่สามารถเปิดประตูแห่งวิโมกข์ หรือวิมุติได้ในที่สุด

เพราะฉะนั้น เมื่อ คุรุ สอนการทำสมาธิแบบพระโพธิสัตว์ หรือแบบวิชาลม 7 ฐาน ท่านจึงไม่ได้ให้บริกรรมพุทโธ เพราะท่านคิดว่า เป็นวิธีที่เนิ่นช้า และไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้นั้นต้องการในขณะนั้น ผู้นั้นทำสมาธิก็เพราะต้องการความสงบ แต่กลับไปพูดกับพระพุทธเจ้า ภาวนาหาพระพุทธเจ้า ผู้นั้นต้องการสันติสุข กลับไปนึกถึงพระธรรม วิธีแบบนี้ท่านเห็นว่า เป็นวิธีที่เนิ่นช้าในการทำให้เกิดสมาธิ เพราะสมาธิเป็นเรื่องที่ผู้นั้นจะต้องสลัดตัดให้หลุด ฉุดตัวเองให้ขึ้นมาจากกองขยะทางความคิด และอารมณ์ที่เหลวแหลก พระพุทธเจ้าช่วยไม่ได้ พระธรรมก็ช่วยไม่ได้ พระสงฆ์ก็ช่วยไม่ได้ ผู้นั้นต้องช่วยตัวเองเท่านั้น สมาธิจึงเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นโลกส่วนตัว เป็นกระบวนการส่วนตัวของคนผู้นั้น ที่ต้องเริ่มจากการปลุก “ครูผู้มีใจอารี” ของตัวเองขึ้นมาสอนตัว ให้สามารถรักษาสมดุลของชีวิต รักษาความเป็นอิสระของตัวเองได้ หากทำได้เช่นนี้แล้ว หลับตาก็เป็นสมาธิ ลืมตาก็เป็นสมาธิ เดินอยู่ นั่งอยู่ ยืนอยู่ก็เป็นสมาธิ (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น