xs
xsm
sm
md
lg

กังขาภาษีรถนิสสันถามรัฐยุติธรรมหรือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – ค่าย “นิสสัน” ข้องใจโครงสร้างภาษีรถยนต์ไทย มีความได้เปรียบเสียเปรียบชัด ยกภาษีสรรพสามิตรถพลังงานไฟฟ้า และอีโคคาร์ เทียบกับรถไฮบริด-รถใช้น้ำมัน อี20 สิทธิประโยชน์ภาษีเทียบเท่ากัน หรือมีช่องห่างเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นพร้อมโยนคำถามกลับไปที่ภาครัฐ ยุติธรรมหรือไม่ กับรถที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าทันสมัย และต้องลงทุนเป็นมูลค่ามหาศาล

นายโคซากุ โฮโซกาวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามนิสสัม ออโตโมบิล จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันแม้นิสสันจะมุ่งไปที่รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรืออีโคคาร์ แต่เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้ว ย่อมต้องมีโปรดักซ์ใหม่ๆ ตามมา ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ในการทำตลาด หรือผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electronic Vehicle: EV) ในไทย เมื่อถึงตรงนั้นคงจะต้องมีการร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อเจรจาขอรับการสนับสนุนต่างๆ เพราะเป็นรถที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษไอเสีย และใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีแหล่งที่มาหลายทาง
“ปัจจุบันภาษีสรรพสามิตรถพลังงานไฟฟ้าในไทยอยู่ที่ 10% ซึ่งเทียบเท่ากับรถยนต์ไฮบริด แต่รถพลังงานไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีทันสมัย มีความก้าวหน้าไปอีกระดับ และต้องลงทุนในการผลิตสูง ขณะที่ไฮบริดที่ผลิตในไทยเพียงแค่นำมาประกอบ แต่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเทียบเท่ากัน จึงอยากถามกลับไปที่ภาครัฐว่า มันยุติธรรมหรือไม่ เพราะภาษีสรรพสามิตของรถพลังงานไฟฟ้าต้องต่ำกว่านั้นอีก”
นายโฮโซกาวากล่าวว่า เช่นเดียวกับรถยนต์อีโคคาร์ อัตราภาษีสรรพสามิต 17% ขณะที่รถยนต์นั่งทั่วไปเสียภาษีต่ำสุด 30% มีช่องห่าง 13% ซึ่งเป็นอัตราที่ยอมรับได้ ทำให้เกิดแรงจูงใจพอสมควร แต่ต่อมามีรถยนต์ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 ภาษีลงมาอยู่ที่ 25% ช่องระหว่างภาษีลดลงมาอยู่ที่ 8% แคบลงมาอีก ทั้งที่อีโคคาร์เป็นโครงการใหม่ลงทุนมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทขึ้นไป แต่รถยนต์ใช้น้ำมันอี 20 แค่ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์นิดหน่อยเท่านั้น
“หรือเทียบโครงสร้างภาษีอีโคคาร์กับรถยนต์ไฮบริด อัตราภาษีอยู่ที่ 17 และ 10% ต่างกันนิดหน่อย แต่อีโคคาร์ต้องลงทุนโครงการใหม่ ไฮบริดที่ผลิตในไทยปัจจุบันเพียงแค่นำชิ้นส่วนมาประกอบเท่านั้น ขณะที่เรื่องของอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง หรือการปล่อยมลพิษไอเสียก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก ที่สำคัญอีโคคาร์เป็นรถยนต์โมเดลหลักในอนาคตของไทย มีการผลิตและใช้ชิ้นส่วนในไทย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงเกิดคำถามยุติธรรมหรือไม่เช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม โครงการอีโคคาร์ของนิสสันยังคงดำเนินงานเป็นไปตามแผนทุกอย่าง โดยมีกำหนดแนะนำสู่ตลาดไทยช่วงต้นปีหน้า และการที่หลายค่ายเรียกร้องคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ให้ลดเงื่อนไขของอีโคคาร์ต้องผลิต 1 แสนคัน ในปีที่ 5 เป็นต้นไป ในส่วนของนิสสันไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ แต่รู้สึกไม่ถูกต้องที่จะมาปรับเปลี่ยน เพราะหากจะเปลี่ยนต้องก่อนเริ่มโครงการ ไม่ใช่มาเปลี่ยนขณะที่ทุกอย่างจบแล้ว และผู้ประกอบการรายอื่นได้ดำเนินการไปตามแผนทุกงานอย่าง
นายมิตซูฮิโกะ ยามาชิตะ รองประธานบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า รถยนต์พลังงานทดแทนและเพื่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีอยู่หลากหลายชนิด แต่เชื่อว่าทิศทางในอนาคตจะมีเหลืออยู่เพียง 2 ประเภท แน่นอนหนึ่งในนั้นจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งนิสสันได้เล็งเห็นและพัฒนาสู่ตลาด โดยได้มีเผยโฉมรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ นิสสัน ลีฟ (Leaf) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีกำหนดเปิดตัวขายในตลาดตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรปในปีหน้า จากนั้นในปี 2012 จะขยายสู่ทั่วโลก
“สาเหตุที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเป็นทางเลือกหลัก เนื่องจากเป็นรถที่ไร้มลพิษไอเสีย ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากหลายแหล่งที่มา ชาร์ตไฟฟ้าได้สะดวกไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีสถานีบริการรองรับ และช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งรถพลังงานไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบ 6 เท่า”
นายยามาชิตะกล่าวว่า จากข้อดีของรถพลังงานไฟฟ้าดังกล่าว ทำให้ภาครัฐของหลายประเทศต่างสนับสนุนเต็มที่ ทำให้ราคาของแบตเตอรี่ที่มีต้นทุนสูงกว่าครึ่งของตัวลด ราคาลดลงมากกว่าครึ่ง และในประเทศไทยแม้นิสสันจะยังไม่ศึกษาตลาดนี้อย่างจริงจัง แต่รถพลังงานไฟฟ้ามีความเหมาะสมกับการใช้งานในเมืองอย่างกรุงเทพฯ มาก ดังนั้นจึงอยากจะสื่อสารประโยชน์ของรถพลังงานไฟฟ้าให้ภาครัฐไทยรับทราบ และจากนั้นจึงน่าจะมาเจรจากัน แน่นอนว่าช่วงแรกรัฐคงจะต้องสนับสนุนภาษี และงบประมาณ เพื่อให้ช่วงระยะ 3-4 ปีแรกของการผลิตผู้ประกอบการอยู่ได้ และเมื่อมีปริมาณการผลิตมากขึ้น จะทำให้การผลิตรถพลังงานไฟฟ้าเติบโตได้เองอย่างมั่นคง
กำลังโหลดความคิดเห็น