xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นใหม่!รถไฟเด่นชัย-เชียงราย รัฐ-เอกชนปลุกกระแสอีกรอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตามสถานที่ต่างๆในเมืองเชียงราย ได้มีการติดป้ายรณรงค์เพื่อผลักดันให้มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเด่นชัย -เชียงรายเต็มไปหมด
เชียงราย – ลุ้นกันอีกเฮือก โครงการรถไฟเด่นชัย-เชียงราย โปรเจกต์ค้างทศวรรษ ตัวแทนรัฐ-เอกชนเชียงราย ชั้นนำรวมตัวตั้งคณะกรรมการฯ ผลักดันชุดใหม่ ติดป้ายปลุกกระแสในพื้นที่ ก่อนขยายเครือข่ายถึง 4 จังหวัดล้านนาตะวันออกร่วมมือด้วยอีกทาง หวังแจ้งเกิดรถไฟเชื่อมจีนให้ได้ แม้แท้งมาแล้วหลายรัฐบาล

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า ขณะนี้ได้มีการติดป้ายรณรงค์เพื่อผลักดันให้มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟไปยัง จ.เชียงราย ตามสถานที่ต่างๆ ในเมืองเชียงรายอย่างคึกคัก โดยบนป้ายรณรงค์ดังกล่าวระบุว่า มาจากคณะกรรมการรณรงค์รถไฟเชียงราย (รฟช.) 52 ด้านบนของป้ายขนาดใหญ่ดังกล่าวระบุว่า “เมื่อไหร่จะมาซักที รถไฟเชียงราย” และมีการนำรถไฟรุ่นเก่าไปติดเอาไว้กลางป้าย พร้อมระบุภาพถ่ายของบุคคลต่างๆ ที่ร่วมรณรงค์กันมาในอดีต ซึ่งถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึกเอาไว้

ขณะที่ด้านล่างเป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในคณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และสถานการศึกษา รวมทั้งสื่อมวลชน ประกอบด้วย นางรัตนา จงสุทธนามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) รศ.ดร.มาณพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.) ดร.อินทร์ จันทร์เจริญ อธิการบดีวิทยาลัยเชียงราย

นายชัยยง เอื้อวิริยานุกูล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.) เชียงราย นายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้า จ.เชียงราย นายเจริญชัย แย้มแขไข ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย นายทศวิทย์ ถ้ำแก้ว ประธานชมรมชาวอีสาน จ.เชียงราย นายโชติศิริ ดารายน นายกสมาคมสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์เชียงราย และนายสุรพล ดิษยะกมล ประธานชมรมธนาคารเชียงราย

นายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้า จ.เชียงราย หนึ่งในกรรมการชุดใหม่นี้ เปิดเผย "ASTVผู้จัดการรายวัน" ว่าคณะกรรมการ รฟช.52 เกิดขึ้นจากการที่บุคคลต่างๆ ในสังคมเชียงราย รวมตัวกัน เพื่อให้มีเส้นทางรถไฟเชื่อมจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ มาเชียงราย ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้วางแผนเอาไว้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการก่อสร้างอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น โดยผู้ที่รวมตัวกันก็เป็นบุคคลที่หลากหลายในทุกวงการและมุ่งหวังจะมีการผลักดันเหมือนกับกรณีที่ภาครัฐและเอกชนในเชียงราย เคยรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาลที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในพื้นที่ จ.เชียงราย เมื่อหลายปีก่อนนั่นเอง และครั้งนี้เราก็คาดหวังว่าจะทำได้สำเร็จเช่นกัน

นายวิรุณ กล่าวว่า การรวมตัวกันครั้งนี้ เกิดจากการประชุมหารือกันเพียงไม่กี่ครั้ง จึงเป็นลักษณะการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ เพื่อร่วมกันรณรงค์สร้างกระแส ให้ภาครัฐได้เห็นความสำคัญก่อน ยังไม่ถึงขั้นรวมตัวกันเพื่อไปยื่นหนังสือต่อรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แต่ถ้านายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องเดินทางไปเชียงรายก็อาจจะรวมตัวกันไปยื่นหนังสือก็ได้

ในอนาคตก็คงจะมีการประชุมหารือกันให้บ่อยครั้งขึ้น เพื่อร่วมกันผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไป โดยต้องคัดกรองว่าแต่ละฝ่ายร่วมกันผลักดันอย่างบริสุทธิ์ใจจริงๆ ไม่ใช่หวังประโยชน์ส่วนตัว

“ตอนนี้อยู่ในช่วงที่คณะกรรมการจะรณรงค์ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เห็นว่าคนเชียงรายและภาคเหนือต้องการรถไฟจริงๆ โดยเฉพาะ เพื่อเชื่อมกับรถไฟของจีนตอนใต้ เพราะเป็นระบบขนส่งสินค้าได้ครั้งละมากๆ ราคาถูกเหมาะสมต่อการขนส่งสินค้าทางบกเชื่อมระหว่างเชียงรายกับจีนตอนใต้ ทั้งยังมีความปลอดภัย ประหยัดเชื้อเพลิงและในแง่ของการท่องเที่ยวยังมีความปลอดภัยอีกด้วย”

ประธานหอฯเชียงราย บอกอีกว่า นอกจากการรณรงค์ภายในจังหวัดแล้ว ตนเห็นว่าในอนาคตเราคงจะมีการขยายไปสู่กลุ่มล้านนาตะวันออก 4 จังหวัดคือเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ด้วย เพราะการจะเกิดเส้นทางรถไฟจะต้องผ่านจังหวัดต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งก็พยายามชี้แจงให้เห็นว่าจังหวัดต่างๆ เหล่านี้มีความต้องการร่วมผลักดันจึงจะมีพลังจากแนวร่วมในจังหวัดอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลายรัฐบาลได้ศึกษาโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจาก อ.เด่นชัย -เชียงราย ล่าสุดภาครัฐและเอกชนในเชียงราย ได้เปิดประเด็นเรื่องการสร้างเส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมกับท่าเรือเชียงแสนในแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ซึ่งกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กำลังก่อสร้างที่ปากแม่น้ำกก ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่หมู่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน มูลค่า 1,546,400 ล้านบาท และยังเชื่อมไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ระหว่าง อ.เชียงของ กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว มูลค่า ประมาณ 1,934 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2555 เพื่อเชื่อมกับถนน R3a ผ่าน สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ระยะทาง 250 กิโลเมตร

เปิดปูมเมกะโปรเจกต์ร.ฟ.ท.

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2528 มีการออกแบบและประเมินงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกครั้งตามสภาวะเศรษฐกิจและความเจริญเติบโตของบ้านเมือง กระทั่งปี 2539-2541 ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ อ.เด่นชัย - อ.เมือง จ.เชียงราย และได้ประมาณราคาก่อสร้างและเวนคืนที่ดินรวมกันทั้งสิ้น 21,106 ล้านบาท

ปี 2544 ร.ฟ.ท.ได้รายงานเสนอกระทรวงคมนาคม ขออนุมัติดำเนินโครงการโดยเสนอแนวทาง 2 ลักษณะคือ ให้เอกชนก่อสร้างและรัฐบาลจ่ายค่าก่อสร้างวิธี Counter-Trade ด้วยผลผลิตการเกษตรภายในประเทศ หรือให้เอกชนเข้าร่วมทุนโดยให้ได้รับสัมปทานโครงการ ภายในกำหนดเวลา และรัฐบาลให้การสนับสนุนเงื่อนไขบางประการ

แต่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2544 เห็นว่า เป็นโครงการที่ใช้การลงทุนสูงและมีเงื่อนไขหลายอย่าง จึงให้ศึกษาทบทวนใหม่ ทำให้ในปี 2546-2547 ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทำการทบทวนอีกครั้งและสรุปว่ามีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ ทั้งได้เสนอการก่อสร้างเป็น 3 ระยะ คือ จากเด่นชัย-เชียงราย ระยะทาง 246 กิโลเมตร จากเชียงรายไปยังสถานีบ้านสันนา ต่อไปยังท่าเรือเชียงแสนในแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ระยะทาง 60 กิโลเมตร และจากสถานีบ้านสันนาไปยัง อ.เชียงของ ระยะทาง 40 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมกับเส้นทางรถไฟของ สปป.ลาว ที่เชื่อมไปถึงจีนตอนใต้ต่อไป

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 ครม.กลับมีมติมอบหมายให้ ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคม พิจารณาแนวทางเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมพัฒนาระบบรถไฟขนาดรางมาตรฐานตั้งแต่สถานีบ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ไปจนถึง อ.เชียงของ รวมระยะทาง 796 กิโลเมตร ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ในช่วงการขออนุมัติงบประมาณเพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาในการศึกษาทบทวน สำรวจ กำหนดแนวทางเส้นทาง ออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรม ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาระบบรางมาตรฐาน ฯลฯ ให้ครบถ้วนอีกครั้งหนึ่ง โดย ร.ฟ.ท.จะเสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 เพื่อการศึกษาตามแนวทางใหม่นี้ต่อไป

ทั้งนี้ ความล่าช้า-ยืดเยื้อของโครงการนี้ ทำให้หลายฝ่ายพยายามผลักดันกันอีกครั้ง แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะมีกลุ่มคนที่พยายามเข้าไปแทรกซึมในการรณรงค์หลายครั้ง เพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัวจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น