xs
xsm
sm
md
lg

มฟล.ดึงเอกชนป้อนงานซอฟต์แวร์ดันเชียงรายเป็นเมืองไอที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจับมือ MFEC สร้างแหล่งงานไอทีในท้องถิ่น รองรับบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ดันเมืองพ่อขุน เป็นเมืองไอที

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเทคโนโลยีและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ร่วมกับบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) (MFEC Public Company Limited) ซึ่งประกอบกิจการด้านการรับทำซอฟต์แวร์ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการไอที จ.เชียงราย โดยบริษัทจะรับฝึกอบรมนักศึกษา ที่จบจากสำนักเทคโยโลยีและสารสนเทศจำนวนหนึ่ง เข้าประกอบอาชีพเกี่ยวกับด้านซอฟต์แวร์ภายในกิจการของบริษัท

ทั้งนี้ ให้นักศึกษาที่จบทำงานภายในพื้นที่เชียงราย ไม่ต้องเดินทางไปประจำที่สำนักงานใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ฯลฯ ซึ่งพบว่าหลังผ่านพ้นระยะเวลาโครงการไปได้ราว 5 เดือน ได้มีนักศึกษาที่มีความสามารถเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 16 คนและทางบริษัทตั้งเป้าว่าจะรับให้ได้จำนวน 30 คน ในอนาคตอันใกล้นี้

นาวาเอก ดร.ธงชัย อยู่ญาติวงศ์ คณบดีสำนักเทคโนโลยีและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า ตามปกติมหาวิทยาลัยได้ผลิตบุคลากรด้านไอทีออกมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือไม่มีงานให้ผู้ที่จบการศึกษาออกมาได้ทำในพื้นที่เชียงรายเลย ทำให้ต้องเดินทางไปทำงานตามเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ฯลฯ ดังนั้น จึงได้ริเริ่มโครงการกับบริษัทเอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) ในการให้ผู้ที่จบการศึกษาได้รับงานจากบริษัทไปดำเนินการในพื้นที่ โดยใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยไปพลางก่อน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการนำร่อง 3 ปี จากนั้นคาดหวังว่าในอนาคตจะสามารถทำให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการสามารถออกมาเป็นผู้ประกอบการได้เองต่อไป

ด้าน นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทเอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีพนักงานเจ้าหน้าที่อยู่กว่า 700 คน และที่ผ่านมาได้สังเกตเห็นว่าฐานของธุรกิจไอทีมักอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ และเป็นอาชีพที่ทำให้คนมีรายได้มากกว่าคนทีทำงานในชนบทถึง 10 เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ความเป็นอยู่ของผู้ทำงานก็ขัดกับหลักเศรษฐกิจ เพราะค่าครองชีพตามเมืองใหญ่ๆ แพงกว่ามาก ดังนั้น บริษัทจึงหาฐานบุคลากรด้านไอทีตามต่างจังหวัด และได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงดังกล่าว แต่ก็พบว่าในพื้นที่ไม่มีกิจการด้านซอฟต์แวร์เลย รวมทั้งไม่มีความต้องการซื้อ-ขาย ดังนั้น จึงได้เลือกสร้างบุคลากรเพื่อเป็นผู้จัดทำก่อนและส่วนการตลาดนั้นจะประสานกับบริษัทแม่เพื่อรับงานมาทำตามขั้นตอน

นายศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่าผลการดำเนินการ พบว่า นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงสามารถผลิตชิ้นงานด้านไอทีได้อย่างมีคุณภาพดีมาก และมีลูกค้าสั่งงานเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในอนาคตก็จะผลักดันให้เชียงรายเป็นฐานของไอทีโดยภายใน 3 ปีนี้ก็จะประเมินผล หากสำเร็จก็จะย้ายไปดำเนินโครงการในพื้นที่จังหวัดอื่นต่อไป

ส่วนที่เชียงรายก็คาดหวังว่า ผู้ที่ทำงานด้วยจะสามารถประกอบกิจการได้เอง โดยเป็นเครือข่ายพันธมิตรกับบริษัท ทั้งนี้ธุรกิจด้านซอฟต์แวร์ในพื้นที่เชียงรายยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก

“หากมองแค่มุมด้านการท่องเที่ยวมุมเดียวก็ถือว่ามีมหาศาล เพราะสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ สามารถนำไปพัฒนาสู่การสร้างเว็บไซต์ ฐานข้อมูล การส่งเสริมการท่องเที่ยวทางระบบอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดอย่างมาก รวมทั้งมีตัวอย่างที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีการเผยแพร่การท่องเที่ยวทางอินเทอร์เน็ตจนไปสู่ต่างประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวของอำเภอขยายตัวมากถึง 200% และหากมองกลับมาที่เชียงรายก็มีตัวอย่างมากมาย เช่น เชียงแสน เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีโบราณสถานและเรื่องราวต่างๆ มากมายที่สามารถนำมาจัดการด้วยซอฟต์แวร์เพื่อการเผยแพร่ได้”

นายศิริวัฒน์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์ โดยมหาวิทยาลัยได้ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกมาและสามารถทำงานได้ ส่วนนักศึกษาก็มีงานทำและได้เรียนรู้งานทันทีเพราะบริษัทจะจัดส่งผู้ชำนาญการไปฝึกสอน ขณะที่บริษัทก็ได้ช่วยเหลือสังคมและได้ต้นทุนที่ต่ำลง เพราะตามเมืองใหญ่ๆ อาจจ่ายค่าทำงานวันละ 5,000-7,000 บาท แต่สำหรับเชียงรายจะต่ำกว่าเป็นวันละ 2,000 บาท เป็นต้น ผู้ที่ทำงานก็สามารถครองชีพอยู่ได้

ด้าน รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและเอกชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตกับคนในท้องถิ่นเชียงราย เพราะเชียงรายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะกับภาคอุตสาหกรรมหนัก ดังนั้น อุตสาหกรรมไอทีหรือการจัดทำซอฟต์แวร์จึงมีความเหมาะสมมากที่สุด ไม่ต้องใช้เครื่องมือมากแต่ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้เรียนรู้มาเป็นหลักและสามารถทำงานโดยใช้สถานที่ไหนก็ได้

ดังนั้น องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถแวะชมผลงาน หรือสอบถามการจัดทำซอฟต์แวร์คุณภาพดีได้ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ และหากว่าความร่วมมือครั้งนี้ประสบความสำเร็จในอนาคตมหาวิทยาลัยก็จะแสวงหาความร่วมมือกับเอกชนด้านอื่นๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามนโยบายของมหาวิทยาลัยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น