xs
xsm
sm
md
lg

“ไสว บุญมา” กับ “นพดล ปัทมะ” “ทนง ลำใย” ใน“การเมืองอุบาทว์”

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ

แท้ที่จริงวันนี้ผมต้องการแนะนำ “คิดถึงเมืองไทย” กับ “ไสว บุญมา” อย่างจะจะสักครั้ง

แต่ระบบสื่อก็เหมือนระบบอื่นๆ ของบ้านเราที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องเสียคนและตกอยู่ภายใต้มนต์ของการตลาดและอำนาจการเงิน เพราะผู้อ่านพากันเป็นอย่างนี้ ผู้เขียนจึงต้องเป็นอย่างนี้ ที่เป็นนักวิชาการอย่างผม ถ้ามีปัญญาก็จะเขียนอย่าง “ซ้อเจ็ด” ให้รู้แล้วรู้รอดแม่งซะเลย

แต่ผมก็ทำไม่ได้ และจำเป็นต้องแสวงหาคนที่ไม่มีวันจะยอมทำ คือ ดร.ไสว บุญมา นี่แหละมาช่วยต่ออายุ “คิดถึงเมืองไทย” แทน ผมเชื่อมั่นว่าดร.ไสวจะยืนหยัดทัศนะทางวิชาการ ไม่เข้าใครออกใคร ในขณะเดียวก็เสนอทางออกให้กับสังคมไทยอย่างมีปัญญากล้าหาญ

ผมเชื่อว่าคำว่า “กับ” ในหัวข้อบทความข้างต้นคงจะแยกดร.ไสวออกจากอีก 2 คน ซึ่งผมไม่มีเวลาและไม่มีความต้องการจะเขียนถึง

ถ้าจะเขียนให้เด็ก ป. 2 อ่าน ผมก็คงจะขยายหัวข้อเป็น “ดร.ไสว บุญมา ในแวดวงคนมีปัญญากับธนาคารโลก แตกต่างและมิใช่ประเภทเดียวกับ นพดล ปัทมะ และดร.ทนง ลำใย เพราะ 2 คนหลังนี้จมอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทย ส่วนเขาจะเป็นคนอุบาทว์หรือมีการกระทำที่อุบาทว์ด้วยอย่างไรหรือไม่ ผมไม่กล้าตัดสิน ปล่อยให้กาลเวลาหรือศาลเป็นผู้พิพากษาจะดีกว่า

แต่ที่ทั้ง 3 คนมีเหมือนกัน ก็คือ ความเป็นเด็กบ้านนอก ไสวกับนพดลน่าจะเป็นลูกชาวนาเหมือนกัน ส่วนทนง ลำใยนั้นผมไม่แน่ใจ ที่แน่ๆ คือทั้ง 3 คนเรียนหนังสือเก่ง ได้ใช้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเป็นใบเบิกทางออกไปสู่ความมั่งมีทางตำแหน่ง ฐานะ และชื่อเสียงเกินกว่าญาติพี่น้องและคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย

แต่ที่ผมแน่ใจในความแตกต่างกันก็คือ ไสว บุญมาไม่เคยสังกัดกองทหารที่ซอยเท้าอยู่กับที่ที่รักษาคนอุบาทว์และความอุบาทว์ที่มีอยู่ในบ้านเมืองของเรา ในขณะที่ 2 คนหลังได้กระโจนลงไปสู่อ้อมกอดของอำนาจ และประกาศความเป็นปฏิบัติชนชั้นนำ จึงหมดอิสรภาพ หมดความเป็นปัญญาชน ขาดความเชื่อถือหรืออำนาจทางศีลธรรมที่จะเป็นที่หวังพึ่งใดๆ ของสังคมได้

ผมถามไสว บุญมา ว่าจะให้ผมแนะนำว่าอย่างไร คำตอบที่ได้อยู่ในเครื่องหมายคำพูด

“คือลูกชาวนาจนๆ จากชายทุ่งนครนายกที่แม่ไม่เคยไปโรงเรียนและอ่านหนังสือไม่ออก เคยใช้ควายไถนาจนอายุกว่า 17 ปี เรียนหนังสือจากศาลาวัด โชคดีที่ได้ทุนไปเรียนถึงดุษฎีบัณฑิตในอเมริกา ได้ทำงานการพัฒนาในธนาคารพัฒนาเอเชียและธนาคารโลก และไปเห็นมาเกือบทุกมุมโลก

การสนธิกัน (cross fertilization) ของประสบการณ์จากทุ่งนาถึงธนาคารโลก ยืนยันคำขวัญของโรงเรียนฝึกหัดครูเทพสตรีที่เคยเรียนจบวิชาครูมาคือ “นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา”- แสงสว่างอันเสมอด้วยปัญญาไม่มี ครูคนแรกที่เคยสอนในสมัยเรียนอยู่ที่ศาลาวัดเน้นย้ำจนจำได้อย่างขึ้นใจว่า การให้ปัญญาเป็นทานอันประเสริฐสุด การพัฒนาก็คือการสร้างปัญญา ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

เกษียณจากธนาคารโลกเมื่ออายุ 53 ปีเพื่อหวังใช้ชีวิตที่เหลือทดแทนคุณแผ่นดินและผู้มีคุณผ่านการให้ทานปัญญาดังที่ครูชั้นประถมเคยพร่ำสอนและยังสอนอยู่ในตอนนี้ ในช่วงเวลา 11 ปีที่พยายามทดแทนคุณแผ่นดินและผู้มีคุณ พิมพ์หนังสือแล้ว 18 เล่มและกำลังอยู่ในระหว่างจัดพิมพ์อีก 2 เล่ม เขียนบทความให้ 3 ค่ายหนังสือพิมพ์คือ เนชั่น มติชน และบางกอกโพสต์ บวกกับให้นิตยสารอื่นๆ (ผู้จัดการจึงจะเป็นค่ายที่ 4) คำขวัญในการเขียนคือ “ความรู้นิด ความคิดหน่อย” รายได้จากการขายหนังสือและการเขียนทั้งหมดบริจาคให้การศึกษาของเด็กไทยซึ่งในขณะนี้มี “มูลนิธินักอ่านบ้านนา” เป็นผู้รับบริจาคหลัก

ตอนนี้ใช้ชีวิตส่วนหนึ่งในเมืองไทยและส่วนหนึ่งในอเมริกา เพราะเชื่อว่าการหาทางแก้ปัญหาต้องมองให้เห็นทั้ง “ป่า” และ “ต้นไม้” การอยู่ในอเมริกาทำให้มองเห็น “ป่า” ชัดขึ้น การอยู่ในเมืองไทยทำให้เห็น “ต้นไม้” ชัดขึ้น การสนธิกันของการมองจากสองจุดคือกรอบของการเขียน ซึ่งเป็นแบบตรงไปตรงมาแม้จะต้องถูกด่าถูกรังแกบ้างเป็นครั้งคราวก็ถือว่าเป็นสิ่งที่มากับอาชีพ

แท้ที่จริง ผมรู้มากกว่านี้แยะ แต่เขาเลือกที่จะไม่บอก แค่นี้ผมก็เข้าใจว่าเขามิใช่คนที่ลืมกำพืดหรือบ้ายศถาบรรดาศักดิ์ ถึงแม้จะต่างกับผมที่ไม่ชอบมีดร.นำหน้า นั่นก็เป็นแต่เพียงมารยาทอย่างหนึ่งในการอ้างอิงเพื่อความสะดวกในสังคม ไสวมิใช่คนไทยที่ชอบเห่อ โอ้อวด และข่มคนอื่นด้วยปริญญาสูงๆ ชื่อโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยชั้นยอดๆท็อป 5-10 ของโลก ที่ผมเห็นว่าไร้สาระสิ้นดี

แต่ผมรู้ว่าไสวจบปริญญาตรีโทเอกจาก Claremont มหาวิทยาลัยที่มีระบบเป็นเอกลักษณ์ที่สุดของอเมริกา คือประกอบด้วยวิทยาลัยใหญ่น้อยที่มีชื่อเสียงเฉพาะวิชา นักเรียนอเมริกันจำนวนไม่น้อยสละสิทธิจาก Harvard เพื่อมาเรียน Claremont และนักเรียน Claremont ก็มักจะต่างกับที่อื่น คือได้ปริญญาตรีแล้วก็มุ่งจะเอาปริญญาเอกจากที่เดียวกัน

ดร.ไสว ก็อีกคนหนึ่ง และผมเคยผิดหวังกับ ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ แห่งธรรมศาสตร์ รุ่นพี่ของไสว 1 ปี ทั้งคู่เป็นนักเรียนชั้นยอดคือได้เกียรตินิยมสูงสุด summa cum laude ไสวทางเศรษฐศาสตร์ สมบัติทางทฤษฎีการเมือง ผมเคยขอทุนให้สมบัติและขอให้เพื่อนที่เป็นครู Yale จดหมายมาเชิญสมบัติไปต่อปริญญาเอก สมบัติไม่ยอมไปเพราะอยากเรียนต่อเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของ Leo Strauss เทพบิดรของกลุ่ม Neocons (อนุรักษนิยมใหม่) รวมทั้งผู้ว่าธนาคารโลกคนที่แล้ว

สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาอาเซียนปัจจุบัน จบหลัง ไสว 1 ปี เข้าใจว่าจะได้เกียรติยม Magna รองลงมาจากไสวและสมบัติหนึ่งขั้น สุรินทร์จบปริญญาเอกจากฮาร์วาร์ด ถ้าจำไม่ผิด ผมเป็นคนแนะนำ เพราะอยากได้อาจารย์ฮาร์วาร์ดสักคนที่ธรรมศาสตร์

ผมเป็นเพื่อนกับ Mrs. Appllby Harnish โดยสมบัติแนะนำ เธอและอดีตสามีจับใจบุคลิกของเคมาล อตาเติร์กและจอมพล ป. ศรัทธาว่าทั้งคู่จะสร้างประชาธิปไตยได้ จึงตั้งทุน Paul Appleby ให้นักเรียนที่จบมหาวิทยาลัยปี 2 จากไทยและตุรกีให้ไปต่อปริญญาตรีที่ Claremont ตั้งแต่ดร.พนัส สิมะเสถียร ดร.พิศิฏฐ์ ภัคเกษม ดร.แสง สงวนเรือง เรื่อยลงมาก่อนดร.สมบัติและดร.ไสว ตอนหลังแกไม่ชอบใจที่ Claremont หัวเก่าไม่พอ เลยยกสมบัติย้ายไปให้มหาวิทยาลัย Pepperdine ผมเคยไปเยี่ยมพักเรือนรับรองบนยอดเขา อธิการที่นั่นรับรองผมราวกับเทวดาเพราะผมเป็นเพื่อน Harnish

ผู้อ่านอาจจะคนเดียวเปลี่ยนสำนวนโพสต์มาค่อนผมเป็นประจำเรื่อง น.อ.อนุดิษฐ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขาเป็นน้องของน.อ.ฐากูร ซึ่งลาออกมาสมัคร ส.ว.และเกลียดทักษิณแทบอ้วก และเป็นพี่ของชมพูนุท ส.ส.สอบตกประชาธิปัตย์ ปัจจุบันที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ทั้งหมดเป็นหลานรักที่ผมเชื่อว่าเป็นคนดีมีความสามารถและรักประเทศชาติ แต่ผมเป็นห่วงอนุดิษฐ์มากกว่าเพื่อนที่เขาเข้าพรรคเถื่อนเป็นเพื่อนการุณ คนดีจะทานระบบชั่วได้นานเพียงใด

แต่เสรีภาพทางการเมืองก็เหมือนกับการมีคู่ครอง จะให้เหมือนกันหมดได้อย่างไร หากชาวพุทธคนหนึ่งไปประกอบอาชญากรรม จะหาว่าศาสนาพุทธชั่วอย่างนั้นหรือ หากคนไทยคนเดียวเร่ไปคดโกงต้มตุ๋นเขาไปทั่วโลก จะหาว่าคนไทยโกงทั้งชาติได้อย่างไร ผมไม่ขุ่นเคืองเลย แต่เป็นห่วงวิธีคิดของพวกเราจำนวนมากทุกวันนี้

ท่านผู้อ่านที่เคารพ นัยนา จากเชียงใหม่ หลานดร.เจตนา นาควัชระเพื่อนรัก เขียนมาอาลัย พร้อมทั้งเขียน “เอ่ยปากจะอำลา ถึงเวลาน้ำตารินร่วง” ที่เป็นเพลงขนานแท้ดั้งเดิมจนจบมาให้ เธอไม่รู้ว่าผมแผลงหรือชอบเปลี่ยนแปลง

และเธอคงจะหลงลืมว่า ของเก่าต้องยอมเปิดหนทางให้ของใหม่ที่ดีกว่าเสมอ จึงจะดี

“คิดถึงเมืองไทย” โดย ดร.ไสว บุญมาและคณะย่อมจะดียิ่งขึ้นแน่นอน

ผมขอฝากคิดถึงเมืองไทยไว้กับทุกท่านด้วย

“เอ่ยปากว่าจะลา ถึงเวลาน้ำตารินร่วง แสนรัก แสนหวง และห่วงใย ใจไม่อยากจะลา”

สวัสดีครับ

ปราโมทย์ นาครทรรพ
กำลังโหลดความคิดเห็น