xs
xsm
sm
md
lg

พลิกแฟ้มอัลไพน์ เชคบิล“แก๊งแม้ว”โกงที่ธรณีสงฆ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ โดย ..... ทีมข่าวพิเศษ


****คำสั่งของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่มีไปถึงนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน หมู่บ้าน และสนามกอล์ฟอัลไพน์ ให้กลับคืนสู่สภาพที่ธรณีสงฆ์ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา นอกจากจะเป็นการ “ปลุกผี” คดีเก่าตามเชคบิล “แก๊งนช.ทักษิณ” แล้ว ยังเป็นการกระทบชิ่งที่ไปถึงพรรคภูมิใจไทย และไล่บี้ “วิชัย ศรีขวัญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย เด็กในคาถาของ “เทพเทือก” ที่ใส่เกียร์ว่างให้เดินหน้าจัดการตามสั่ง

ถือเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว ที่สำคัญคือการกระชับอำนาจของนายกฯหนุ่มในห้วงเวลาที่เกมต่อรองระหว่างพรรคพวกเดียวกันกำลังเข้มข้น ขณะศัตรูทางการเมืองรุกไล่ตีขนาบอย่างไม่ลดละ

กรณีการโกงที่ธรณีสงฆ์ เป็นข่าวอื้อฉาวโด่งดัง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังเซ็งแซ่ พอๆ กับกระแสความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีผู้ชูสโลแกน “คิดใหม่ ทำใหม่” ที่เพิ่งผันตัวเองจากนักธุรกิจโทรคมนาคมกระโจนเข้าสู่แวดวงการเมืองในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

****ประเด็นนี้ร้อนแรงจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลทักษิณ 1 เมื่อปี 2545 โดยมีนายหัว “ชวน หลีกภัย” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นผู้เปิดเกมนำร่องคู่กับ “เฉลิม อยู่บำรุง” ขุนพลฝีปากกล้าแห่งพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงนั้น

ขบวนการโกงที่ธรณีสงฆ์ของแก๊งทักษิณ ซึ่งเถลิงอำนาจเป็นฝ่ายรัฐบาลขณะนั้น ถูกเปิดโปงกลางสภาอย่างล่อนจ้อน โดยรัฐมนตรีที่ถูกจับขึ้นเขียงเชือดในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 45 ก็คือ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รมว.กระทรวงมหาดไทย และ สมบัติ อุทัยสาง รมช.กระทรวงมหาดไทย

ลีลาของ ชวน หลีกภัย ที่แฉขบวนการปล้นที่วัดได้ลำดับปัญหาตั้งแต่พินัยกรรมของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ที่ได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2512 ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดเลขที่ 20 ตำบลคลองซอยที่ 5 ฝั่งตะวันออก (บึงตะเคียน) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 730 ไร่ 1 งาน 51 ตารางวา และที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1446 ตำบลบึงอ้ายเสียบ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 194 ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา ให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ต่อมา นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๒ พ.ค. ๒๕๑๔ ได้มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก และมีการโอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมาได้มีการจดทะเบียนขายให้แก่นิติบุคคลอื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

ผู้นำฝ่ายค้าน ขณะนั้น อภิปรายว่า เจ้าอาวาสวัดองค์ที่ 4 วัดธรรมิการามวรวิหาร ซึ่งเป็นผู้แสดงเจตจำนงจะขายที่ดินดังกล่าวของวัดในช่วงปี 2522 – 2544 ได้วิ่งเต้นโอนที่ดินเข้ามูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย จนพระผู้ใหญ่หลายรูปตั้งข้อสังเกตว่าทำผิดเจตนารมย์ของเจ้าของมรดก การโอนที่ดินไปให้มูลนิธิฯ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องน่าจะจบลง แต่เจ้าอาวาสกลับไปเรียกประชุมพระลูกวัดเพื่อให้มีมติว่าต้องการขายที่ดินเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเอง

จากนั้น ศาลได้แต่งตั้งผู้จัดการมรดก จำนวน 3 คน แต่ผู้จัดการมรดก ซึ่งยืนยันว่าพยายามโอนที่ให้กับวัดแต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าอาวาส ถูกกดดันจนต้องลาออกไปเมื่อปี 2533 และมีการจัดตั้งผู้จัดการมรดกใหม่ คือ มูลนิธิมหามกุฎฯ จากนั้นมูลนิธิฯ ก็โอนที่ดินมาเป็นของมูลนิธิฯเอง

ส่วนการเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง เกิดขึ้นเมื่อปี 2531 เพราะตามกฎหมายที่ดิน รมว.มหาดไทยต้องเป็นผู้อนุมัติ หากการถือครองที่ดินของวัดเกิน 50 ไร่

กรณีนี้เมื่อเจ้าของที่ดินตาย ที่ดินตกเป็นวัดเป็นที่ธรณีสงฆ์ ตามปกติทั่วไปรมว.มหาดไทยก็จะอนุมัติให้วัดถือครองที่ดินที่เกินไป ซึ่งตั้งแต่ใช้กฎหมายที่ดินและมีประเทศไทยมา ไม่เคยมี รมว.มหาดไทย ไม่อนุมัติเลย กรณีอัลไพน์ เป็นกรณีแรกที่ไม่อนุมัติ พร้อมกันนั้นได้มีการแสดงหลักฐานว่า เสนาะ เทียนทอง รมว.กระทรวงมหาดไทย สั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่างๆ ตามความต้องการ สร้างความอึดอัดและลำบากใจอย่างมาก

***เรื่องนี้ มีการดำเนินการไปพร้อมๆ กัน คือ ฝ่ายหนึ่งจัดการโอนที่ดินไปยังมูลนิธิฯ อีกฝ่ายหนึ่งก็เตรียมจัดตั้งบริษัทรับซื้อที่ดินขึ้นมาสองบริษัท คือ บริษัทอัลไพน์เรียลเอสเตท และบริษัทอัลไพน์กอล์ฟแอนสปอร์ตคลับ ซึ่งมีพี่น้องของนักการเมือง เช่น อุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยาของ เสนาะ เทียนทอง, วิทยา เทียนทอง, ชูชีพ หาญสวัสดิ์ เป็นผู้ถือหุ้นอยู่

จากนั้น เมื่อวันที่ 31ส.ค. 2533 เป็นวันที่มูลนิธิมหามกุฎฯ โอนที่มาเป็นของตัวเองแล้วก็ขายให้บริษัททั้งสองแห่ง ราคาไร่ละ 1.5 แสนบาท รวมเม็ดเงินทั้งสิ้น 130 ล้านบาท

เมื่อได้รับโอนที่ดินแล้ว บริษัททั้งสองก็พัฒนาผืนดินดังกล่าวให้เป็นสนามกอล์ฟ บ้านจัดสรรหรู โดยมีนักธุรกิจ นักการเมือง และข้าราชการระดับสูงที่คุ้นเคยกับ เสนาะ เทียนทอง เข้ามาร่วมหุ้น หนึ่งในนั้นคือ พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตรมว. คมนาคม ในรัฐบาลทักษิณ

***แต่อย่างไรก็ตาม กิจการที่คาดหมายว่าจะไปโลดกลับมีอันต้องสะดุด เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ธุรกิจของ เสนาะและผองเพื่อน ก็ซวนเซ จนนำไปสู่การขายบริษัทอัลไพน์ เรียลเอสเตท และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ จำกัด ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งอาณาจักรชินคอร์ป ในราวปี 2543 โดยมี พงษ์ศักดิ์ ทำหน้าที่เป็นนายหน้า

จากนั้น พวกเขาได้ร่วมพัฒนาสัมพันธ์อันแนบแน่นในสนามการเมืองในเวลาต่อมา และสนามกอล์ฟอัลไพน์ ก็กลายเป็นทรัพย์สินที่ ทักษิณ สามารถซุกซ่อนเอาไว้โดยไม่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องแสดงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปีถัดมา

กระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นอย่างหนักจากการโกงที่ธรณีสงฆ์ ทำให้กรมการศาสนา ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2543 ในสองประเด็นว่า

***(1) เมื่อนางเนื่อมฯ ถึงแก่กรรม ที่ดินซึ่งได้ทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดฯ ทั้งสองแปลง จะตกเป็นที่ธรณีสงฆ์โดยทันที หรือต้องให้รัฐมนตรีสั่งให้วัดฯ ได้มาซึ่งที่ดินตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินก่อนจึงจะเป็นที่ธรณีสงฆ์

*** (2 ) ที่ดินทั้งสองแปลงที่นางเนื่อมฯ ได้ทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดฯ ผู้จัดการมรดกจะนำที่ดินดังกล่าวไปจำหน่าย จ่าย โอน ได้หรือไม่ อย่างไร

ต่อมา ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แจ้งผลการพิจารณาข้อหารือต่อกรมการศาสนา ตามหนังสือที่ นร 0601/0.175 ลงวันที่ 9 ก.พ. 2544 โดยสรุปว่า

****“ในกรณีของวัดธรรมิการามวรวิหารนี้ วัดฯ ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกตามพินัยกรรมของนางเนื่อมฯ ทันทีที่นางเนื่อมฯ ถึงแก่กรรม และมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินไม่ใช่บทบัญญัติยกเว้นการได้มาดังกล่าว เมื่อผลทางกฎหมาย ที่ดินมรดกของนางเนื่อมฯ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดฯ แล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามมาตรา 33 (2)[13] แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งการโอนที่ธรณีสงฆ์ต้องทำโดยพระราชบัญญัติตามมาตรา 34[14] แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505[15]

และ ***“มูลนิธิฯ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อมฯ จึงต้องโอนที่ดินมรดกตามพินัยกรรมที่ระบุให้ตกแก่วัดฯ ให้แก่วัดฯ ได้เท่านั้น จะโอนให้แก่บุคคลอื่นนอกเหนือจากวัดฯ ไม่ได้ การโอนที่ดินมรดกให้แก่บุคคลอื่นนอกเหนือจากบุคคลที่ระบุให้เป็นผู้รับมรดก ตามพินัยกรรมจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของเจ้ามรดกซึ่งไม่ผูกพัน ทายาทและจะต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 (21) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

หลังจากนั้น กรมที่ดินได้มีคำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและโฉนดที่ดินเกี่ยวกับที่ดินอัลไพน์ ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ต่อมา ประชาชนเจ้าของบ้านจัดสรรในสนามกอล์ฟอัลไพน์และผู้เสียหาย ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย ตามวิธีการและขั้นตอนของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ช่วงเวลานั้น ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย ใช้อำนาจคณะกรรมการพิจารณารับอุทธรณ์ของกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของกรมที่ดิน จึงไม่มีการเพิกถอนรายการจดทะเบียนฯ และโฉนดที่ดินดังกล่าว และไม่มีผู้ใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่าได้รับความเสียหายจากคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด

***ยงยุทธ ได้รับผลตอบแทนจากพรรคไทยรักไทยอย่างงามจากผลงานข้างต้น โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยก่อนเกษียณอายุราชการไม่กี่วัน หลังจากนั้นเขาก็ทำงานเป็นกำลังสำคัญให้กับรัฐบาลไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนมาตลอด ทั้งยังได้รับปูนบำเหน็จเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

กรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2551 เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ กลับเข้ามาเป็นฝ่ายรัฐบาล โดย ถาวร เสนเนียม รมช.กระทรวงมหาดไทย สั่งการให้กรมที่ดินเข้าไปตรวจสอบนิติกรรมและกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ของบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด แม้ว่าเรื่องจะระงับไปแล้วหลังจาก ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ สั่งเพิกถอนคำสั่งของกรมที่ดิน

ขณะเดียวกัน ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ ก็รวมกลุ่มเคลื่อนไหวให้มีการเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินธรณีสงฆ์ให้บริษัททั้งสองที่นำไปพัฒนาเป็นหมู่บ้านจัดสรรและสนามกอล์ฟ

***จากนั้น อนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อธิบดีกรมที่ดิน ได้มีหนังสือไปถึง วิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถึง 3 ฉบับ คือ วันที่ 15 มิ.ย. 2552 วันที่ 8 ก.ค.2552 และวันที่ 1 ก.ย.2552 เพื่อขอให้ เร่งดำเนินการเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ธรณีสงฆ์ดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.โอนที่ธรณีสงฆ์ ตามมาตรา34 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505

นอกจากนี้ ขอให้พิจารณาดำเนินการทบทวนคำสั่งทางปกครองของ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 13 มี.ค.2545 ให้ตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกฎหมายของที่ดินดังกล่าว

****กระทั่งมาถึงคำสั่งสุดท้ายของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวโดยด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น