xs
xsm
sm
md
lg

ส่องปัญหา"เอ็นบีที"นอนรอเป็นมหาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ส่องปัญหาหมักหมมในช่องเอ็นบีที ที่รอวันแก้ไขชนิดต้องล้างไพ่ใหม่หมด ชี้ต้องหลุดจากการครอบงำจากการเมือง จี้เร่งแก้จุดอ่อน กำลังคน-งบประมาณ

ปัญหาหลายๆ อย่างในช่อง 11 หรือ เอ็นบีที สถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ตามจะเข้ามาบริหารประเทศและควบคุมช่องเอ็นบีทีโดยตรง ก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง ตลอดจนปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เพราะหากไม่แก้ให้ตรงจุด ล้างให้ตรงประเด็นแล้ว ช่องเอ็นบีทีก็ยังคงเป็น “สถานีลูกเต๋า” อยู่วันยังค่ำ

ที่เปรียบเสมือนเป็น “สถานีลูกเต๋า” ที่ถูกรัฐบาลทุกชุดโยนไปโยนมาตลอดเวลา โดยไม่รู้อนาคตของตัวเอง ทั้งกับตัวองค์กรช่องเอ็นบีทีเองกับผู้บริหารด้วย

ล่าสุดกับค่ำสั่งของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สั่งปลด นายสุริยงค์ หุณฑสาร ที่วันนี้กลายเป็นอดีต “ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที” ไปเสียแล้ว กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกอภิสิทธิ์ฯ” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ไม่สามารถออกอากาศสดตามเวลาได้ ซึงอยู่ระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผอ.สุริยงค์ก็ไม่อาจปฎิเสธความรับผิดชอบได้แน่นอนว่านี่คงไม่ใช่กรณีสุดท้าย แต่เป็นเพียงกรณีล่าสุดเท่านั้นเอง

แหล่งข่าวจากวงการมีเดีย กล่าวให้ความเห็นว่า ความจริงแล้ว ช่องเอ็นบีทีก็มีศักยภาพไม่แพ้ฟรีทีวีช่องอื่น เพียงแต่ว่าสถานภาพของเอ็นบีทีที่อยู่ในกรมประชาสัมพันธ์ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีอิสระในการจัดการตัวเองเท่าที่ควร สิ่งที่ต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วนนั้น มีมากมาย แต่ปัญหาคือว่า จะเริ่มเมื่อไร เพราะไม่เช่นนั้น เรื่องแย่ๆก็ยังเกิดขึ้นที่ช่องเอ็นบีทีไม่เลิกรา

ปมปัญหาหลักๆ ของช่องเอ็นบีที ที่ทุกวันนี้ยังไม่สามารถเดินหน้าไปได้ไกลแค่ไหน มีเพียงไม่กี่ประเด็น แต่ล้วนเป็นประเด็นใหญ่ทั้งสิ้น และเป็นปัญหาที่ ผอ.คนใหม่ ที่ชื่อว่า นางสาวรัตนา เจริญศักดิ์ ที่ย้ายมาจากผู้อำนวยการ สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 5 จังหวัดสุราษฎร์ธานีต้องเร่งสะสาง โดยสรุปคือ

1.ความเป็นอิสระในการทำงานและบริหารของ เอ็นบีที

ไม่ผิดเลยหากจะกล่าวว่า คนของเอ็นบีทีแทบจะไม่เคยได้สัมผัสกับ ความเป็นตัวของตัวเองในการทำงานที่เอ็นบีทีเลยก็ว่าได้

เพราะทุกครั้งจะต้องถูกฝ่ายการเมืองเข้ามาครอบงำและครอบคลุมการทำงาน ซึ่งไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

อย่างไรก็ตามช่องเอ็นบีทีควรจะมีอิสระในการจัดการระดับหนึ่งพอสมควร แม้ว่าจะไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับฟรีทีวีช่องอื่นก็ตาม เพราะสู้ไม่ได้อยู่แล้ว แต่อย่างน้อยที่สุดก็ควรมีอิสระในการจัดการได้บ้าง

เอ็นบีทีต้องสลัดให้หลุดจาก การถูกครอบงำจากการเมือง แม้ว่าจะต้องเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองก็ตาม

ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อแบรนด์ของเอ็นบีทีอีกด้วย ว่าไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร จำเป็นอย่างยิ่งที่ช่องเอ็นบีทีต้องมีอิสระในการทำงาน และต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสังคมวงกว้างด้วย

2.ปัญหาเรื่องของ งบประมาณ เอ็นบีที ได้รับงบประมาณจากภาครัฐ เพียงแค่ 30 กว่าล้านบาทต่อปี คำถามคือว่า เงินจำนวนเท่านี้เอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง กับการที่ต้องปรับปรุงอุปกรณ์ หรือซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ หรือการลงทุนต่างๆที่ต้องใช้ในการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางศึกฟรีทีวีที่แข่งขันรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน

อย่างไรก็ตามยังถือว่าโชคดีอยุ่นิดตรงที่ งบประมาณก้อนน้อยนิดนี้ ไม่รวมถึงอัตราเงินเดือน ที่บุคลากรต่างต้องไปรับที่กรมประชาสัมพันธ์

งบที่ได้น้อยนิด แต่เอ็นบีทีเปรียบเสมือนตัวแม่ในการทำรายได้หลักให้กับกรมประชาสัมพันธ์ที่มากถึง 300 กว่าล้านบาทต่อปี ที่ต้องเอาไปหล่อเลี้ยงองค์กรกรมประชาสัมพันธ์

ขณะที่ช่องไทยพีบีเอสเองยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐสูงถึง 1,800 – 2,000 ล้านบาทต่อปีด้วยซ้ำไป

3.บุคลากร ซึ่งว่ากันว่า เอ็นบีทีเป็นช่องที่มีบุคลากรน้อยที่สุด เมี่อเทียบกับสถานีฟรีทีวีอื่นด้วยกัน

กำลังคนทั้งหมดที่เอ็นบีทีมีอยู่ ไม่นับรวมของกรมประชาสัมพันธ์ มีประมาณ 400 กว่าคนทั้งสถานี แบ่งเป็นข้าราชการประจำประมา 90 กว่าคน นอกนั้นเป็นลูกจ้างประจำกับชั่วคราวมากกว่า 300 คน และที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า บุคลากรฝีมืดี ถูกดึงไปอยู่ที่ค่ายอื่นไม่น้อย เพราะแรงจูงใจดีกว่า

เมื่อเทียบกับแค่สถานีไอทีวีเดิมนั้น ฝ่ายข่าวอย่างเดียวไอทีวีเดิมก็มีมากกว่า 300 คนแล้ว หรือแม้แต่ช่องไทยพีบีเอส ที่เปิดรับสมัครคนก็รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ทั้งๆที่ยังออกอากาศไม่ถึง 24 ชั่วโมงด้วยซ้ำไป

หากมองเฉพาะสัดส่วนรายการข่าวของเอ็นบีทีแล้วมีประมาณ 40% ของผังรายการทั้งหมด แต่ทว่า บุคลากรฝ่ายข่าวที่เป็นข้าราชการมีไม่ถึง 30 กว่าคนเท่านั้นเอง

ทั้งหมดนี้คือ ปมปัญหาที่หมักหมมอยู่ในช่องเอ็นบีทีมานาน ที่รอวันสะสาง ด้วยความตั้งใจจริงทั้งจากฟากรัฐบาลและคนในองค์กรเอ็นบีทีเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคณะกรรมการปฎิรูปสื่อ ซึ่งได้ทำการศึกษาแนวทางในการปฎิรูปสื่อต่างๆก่อนหน้านี้ ซึ่งเอ็นบีทีรวมทั้งกรมประชาสัมพันธ์ด้วยก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของการศึกษาด้วย

ผลการศึกษาเบื้องต้นโดยสรุปแล้ว ก็คือ จะต้องสร้างหน่วยงานนี้คือ ช่องเอ็นบีที ให้ปลอดจากการเมืองโดยสิ้นเชิง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว แต่ปัญหา คือ เมื่อไรจะเริ่มเสียที

คณะกรรมการฯชุดดังกล่าวมองว่า ต้องทำให้ช่องเอ็นบีทีมีความเป็นอิสระ โดยกระบวนการต้องออกฎหมายเพื่อนำไปสู่การปฎิรูปครั้งใหญ่ เพื่อให้ช่องเอ็นบีที เป็นองค์การมหาชนให้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ช่องเอ็นบีทีเป็นตัวของตัวเอง บริหารจัดการแบบอิสระ สามารถพัฒนาองค์กรไปสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น