xs
xsm
sm
md
lg

โลกยุคดิจิตอลบ่อนทำลายสมอง-ทำได้หลายอย่างแต่ไม่ดีสักอย่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเยนซีส์ - ผลศึกษาพบคนที่ทำภารกิจยุคดิจิตอลหลายอย่างในคราวเดียว เช่น เล่นอินเทอร์เน็ตขณะส่งข้อความถึงเพื่อนและฟังเพลงไปด้วย ไม่ได้มีสมองฉับไวสามารถสลับไปมาทำงานต่างๆ อย่างไร้รอยต่อได้อย่างที่ตัวเองเข้าใจ
แต่ความเป็นจริงคนเหล่านี้เสียสมาธิง่าย และมีปัญหาในการเปลี่ยนไปทำภารกิจอื่นมากกว่าคนที่ตั้งอกตั้งใจทำทีละอย่าง
การค้นพบนี้ตอกย้ำว่า ภาวะดิจิตอลโอเวอร์โหลด กำลังรบกวนวิธีคิดและพฤติกรรมมนุษย์
นักประสาทวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า สมองของคนเราถูกตั้งโปรแกรมให้ทำกิจกรรมทีละรายการ ดังนั้น เมื่อถูกบังคับให้ทำหลายอย่างพร้อมกัน (multitasks) จึงทำให้สมองเกิดความเครียด และทำภารกิจเหล่านั้นไม่ได้ดีสักอย่าง
ผลศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แคลิฟอร์เนีย แบ่งนักศึกษา 262 คนออกเป็นกลุ่มผู้ที่ทำกิจกรรมทีละหลายอย่างมากพร้อมๆ กัน กับกลุ่มผู้ที่ทำกิจกรรมทีละหลายไม่กี่อย่าง และเปรียบเทียบผลการทดสอบความจำและสมาธิด้วยคอมพิวเตอร์ของทั้งสองกลุ่ม
จากการทดสอบ นักวิจัยพบว่านักศึกษากลุ่มแรกมีปัญหาในการกรองข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากสภาพแวดล้อมและความจำ การจัดระเบียบความจำเกี่ยวกับภารกิจ และการสลับระหว่างภารกิจหนึ่งกับภารกิจอื่น และทำคะแนนทดสอบโดยรวมได้ต่ำที่สุด
ศาสตราจารย์คลิฟฟอร์ด แนสส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและเป็นผู้ร่วมจัดทำรายงานฉบับนี้ กล่าวในรายงานที่เผยแพร่ในวารสารโปรซีดดิงส์ ออฟ เนชันแนล อะคาเดมี ออฟ ไซนส์ว่า ในสภาพแวดล้อมสื่อที่อิ่มตัวเช่นนี้ การทำหลายอย่างพร้อมกัน เช่น การที่คนๆ หนึ่งบริโภคเนื้อหามากกว่าหนึ่งเนื้อหาในเวลาเดียวกัน เป็นปรากฏการณ์ที่แพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน
ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้การทำภารกิจดิจิตอลหลายอย่างพร้อมกัน มีความเกี่ยวพันกับแนวโน้มในการประมวลผลข้อมูลพื้นฐาน
"ที่น่าตกใจคือ เราพบว่าคนที่ทำภารกิจหลายอย่างมากๆ พร้อมกัน ทำพลาดในทุกสิ่งที่จำเป็น จากการมีพฤติกรรมดังกล่าว ซ้ำร้ายคนเหล่านั้นยังคิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์ที่จะทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน ขณะที่พวกที่ทำแค่ไม่กี่อย่างในเวลาเดียวกันกลับคิดว่า ตัวเองคงไม่สามารถทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้"
อย่างไรก็ตาม แนสส์สำทับว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการทำภารกิจหลายอย่างพร้อมกันทำให้คนเสียสมาธิ หรือคนที่มีแนวโน้มเสียสมาธิง่าย ชอบถูกรายล้อมด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์กันแน่
ต้นปีนี้ ซูซาน กรีนฟิลด์ นักประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และผู้อำนวยการรอยัล อินสติติวชั่น เตือนว่าเว็บไซต์เครือข่ายสังคมอย่างทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก อาจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองของเยาวชนนับล้าน จากการปล้นความไร้เดียงสาและทักษะการเข้าสังคมแบบดั้งเดิมไปจากเด็ก
ทั้งนี้ การทำภารกิจหลายอย่างพร้อมกันอาจเป็นอันตรายกับวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากสมองของวัยรุ่นยังพัฒนาไม่เต็มที่ และอาจส่งผลต่อการใช้สมาธิเมื่อโตขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น