xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ผวากม.ภาษีที่ดิน กระทบหนี้เสีย-เอ็นพีเอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - “แบงก์-อสังหาฯ ประสานเสียง หนุนปฏิรูปกม.ภาษีที่ดินฯ ลดปัญหาการกระจุกตัวที่ดินในมือคนรวย แนะรัฐปรับแก้อัตราจัดเก็บ รูปแบบการประเมินค่าทรัพย์สินในการคำนวณ ด้านสถาบันการเงินผวาถูกรีดภาษีอาน เหตุNPA-NPLเพียบ นายกส.ธุรกิจบ้านจัดสรรจี้ต้องนำภาษีอสังหาฯทั้งหมดมาสังคายนาใหม่ ลดความซ้ำซ้อน “กิตติพล ” ห่วงผู้อยู่อาศัยถูกรีดภาษีหลายทาง ด้านนักการเมืองท้องถิ่น จวกเอื้อคนรวยจ่ายภาษีน้อยลง

นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่…ใครได้ใครเสีย” ว่า โดยหลักการแล้วเห็นด้วยและสนับสนุนให้มีการปฏิรูปกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ เนื่องจากใช้มานานและระบบการจัดเก็บเดิม มีความซ้ำซ้อนกับการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำมาใช้อยู่

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาโครงร่างกฎหมายภาษีของรัฐบาลนั้น ควรนำภาษีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาพิจารณาร่วมกัน แต่กฎหมายฉบับใหม่กลับนำเฉพาะภาษีบางตัวเข้ามาพิจารณาเท่านั้น

โดยภาษีที่นำเข้ามาร่วมพิจารณาคือ ภาษีค่าธรรมการโอน ซึ่งในความเป็นจริง รัฐบาลควรหยิบกฎหมายการจัดเก็บภาษีทุกประเภท ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาฯเข้ามาพิจารณาร่วมกัน โดยการปฏิรูปกฎหมายครั้งนี้ ในฐานะของตัวแทนสถาบันการเงิน อยากให้รัฐบาลมีการปรับแก้กฎหมายและอัตราการจัดเก็บแบบบูรณาการให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ในฐานะตัวแทนสถาบันการเงิน อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายจัดเก็บภาษี และอัตราการจัดเก็บภาษี เนื่องจากสถาบันการเงินมีทรัพย์สินรอการขาย (NPA) และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวนมาก ซึ่งในส่วนนี้ หากมีการประกาศใช้ภาษีใหม่ จะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินอย่างไร

“ เช่น กรณีของที่ดินรกร้างไม่มีการใช้ประโยชน์ จะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า โดยเก็บเพิ่มเป็นเท่าตัวในทุกๆ 3 ปีนั้น หากมีการเปลี่ยนมือแล้ว จะยกเลิกอัตราการจัดเก็บเดิมหลังมีการโอนหรือไม่ ขณะที่ภาษีโรงเรือนเดิม แทบไม่มีการจัดเก็บ หากมีการใช้ภาษีใหม่แล้วจะสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีรายได้ส่วนบุคคลได้หรือไม่”

**สังคายนาภาษีอสังหาฯ ทั้งหมด

นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปฏิรูปกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ เพราะเป็นการกระจายอำนาจการคลังให้แก่ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บรายได้และพัฒนาท้องถิ่นได้โดยตรง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม นอกจากนี้ยังเป็นการกระจายที่ดิน ซึ่งกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มคนบางกลุ่มให้เข้ามาอยู่ในมือของประชาชนมากขึ้น

แต่ทั้งนี้ อยากให้มีการนำอัตราการจัดเก็บภาษีต่างๆ มาบูรณาการร่วมกัน โดยคำนึงถึงผลได้ ผลเสียที่จะเกิดกับประชาชนส่วนรวม เพราะการประกาศใช้ภาษีใหม่ จะมีทั้งกลุ่มที่ได้ประโยชน์และกลุ่มเสียประโยชน์ เช่นกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้ประกอบการพาณิชย์ ควรมีความชัดเจนในเรื่องของการกำหนดพื้นที่ให้เหมาะสมกับราคาประเมิน เพื่อกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษี

**รีดภาษีกลุ่มผู้อยู่อาศัย!

นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ตามหัวข้อการเสวนา ที่ถามว่าใครได้ใครเสียนั้น แน่นอนว่าผู้เสียประโยชน์ คือ กลุ่มที่อยู่อาศัยแน่นอน เพราะก่อนหน้านั้น ยังไม่เคยมีการเสียภาษีมาก่อน ส่วนกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ คือ กลุ่มที่เคยเสียภาษีอยู่แล้ว เช่น กลุ่มธุรกิจค้าปลีก เมื่อคิดอัตราการจัดเก็บภาษีใหม่ตามที่กฎหมายกำหนด จะเสียภาษีน้อยลง เช่น กลุ่มห้างสรรสินค้า อาคารพาณิชย์ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีการประเมินราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดมากขึ้น

**”อธิป”จี้ราคาประเมินต้องมาตรฐานเดียว

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทยกล่าวยอมว่า ทางท้องถิ่นจะได้รับประโยชน์จะรายได้ใหม่จากกลุ่มที่อยู่อาศัย แต่จะเสียรายได้บางส่วนจากกลุ่มอาคารและสิ่งก่อสร้างเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะจ่ายภาษีลดลงตามอัตราการจัดเก็บภาษีใหม่ แต่ทั้งนี้รัฐบาลต้องพิจารณาในเรื่องของประสิทธิภาพการจัดเก็บและความยุติธรรมในการประเมินราคาด้วย ซึ่งในส่วนของราคาที่ดินนั้น มั่นใจว่ามีความเป็นธรรมอยู่แล้ว เนื่องจากกรมธนารักษ์เป็นผู้ดำเนินการ แต่ในส่วนของราคาประเมินสิ่งก่อสร้างและที่อยู่อาศัยนั้น จำเป็นต้องมีการเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ส่วนการจัดเก็บภาษีของโครงการที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมนั้น ควรประเมินมูลค่าทรัพย์สินจากมูลค่าการก่อสร้างและที่ดิน ไม่ใช่ประเมินมูลค่าทรัพย์กับมูลค่าโครงการในพื้นที่เดียวกันเป็นเกณฑ์ เพราะรูปแบบและราคาขายแต่ละโครงการไม่เท่ากัน

**จวกเอื้อคนรวยจ่ายภาษีน้อยลง

นายรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น เชื่อว่านโยบายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ที่รัฐบาลอ้างว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจการคลัง และรายได้ในการจัดเก็บให้แก่ อปท.นั้นในทางปฏิบัติแล้วเป็นการช่วยกลุ่มคนรวยให้เสียภาษีในเชิงพาณิชย์ลดลง และเพิ่มภาระภาษีของกลุ่มคนจนให้มากขึ้น นอกจากนี้เมื่อ อปท.มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมากขึ้นแล้วรัฐบาลก็จะดึงรายได้ส่วนอื่นของ อปท.ไป

นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัยยังส่งผลกระทบต่อลูกค้าในโครงการบ้านจัดสรร จากการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน เพราะปกติแล้วในโครงการจัดสรรผู้อยู่อาศัยต้องเสียค่าส่วนกลางให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งนิติบุคลหมู่บ้านจัดสรรก็ทำหน้าที่เสียภาษีอยู่แล้ว แต่เมื่อใช้ภาษีใหม่ รัฐบาลจะเข้ามาจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัยเพิ่ม เกิดความซ้ำซ้อนใน การจัดเก็บภาษี

“ ในเรื่องดังกล่าวรัฐบาลน่าจะเปิดให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการจัดสรรที่เสียค่าส่วนกลาง สามารถนำใบเสร็จค่าส่วนกลางไปใช้หักลดหย่อนภาษีที่อยู่อาศัยได้”

**คลังฝ่าด่านแรงต้าน!กม.ภาษีที่ดิน

"หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้เลื่อนการนำ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้า ครม.เมื่อ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่ทางกระทรวงก็ยังจะเดินหน้านำเรื่องนี้เข้า ครม. อีกครั้งในเดือนหน้า โดยพร้อมที่จะเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้ต่อไป แม้ว่าจะมีกระแสคัดค้าน แต่กฎหมายดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ” นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวและว่า ปัจจุบันกลุ่มคนที่กว้านซื้อที่ดินเก็บไว้แล้วไม่ใช้ประโยชน์มีเพียง 10% ของคนทั้งประเทศที่ครอบครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ต่อคน ตรงกันข้าม คนอีก 90% มีที่ดินเฉลี่ยไม่ถึง 1 ไร่ต่อคน แต่หากบังคับใช้ที่ดินใหม่ จะทำให้คนที่มีที่ดินเยอะ ทยอยปล่อยที่ดินออกมา เพราะที่ดินว่างเปล่า จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงมาก คือ ไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าทรัพย์สิน และจะเพิ่มขึ้นอีก 1% ทุกปี ๆ

**เพิ่มภาษีที่ดินเชิงพาณิชย์สูงสุด1.5%
 
           นายสมชัย กล่าวว่า จากที่กระทรวงการคลังจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วประเทศ ทำให้มีข้อเสนอจากภาคเอกชนและผู้เกี่ยวข้องเข้ามามาก โดยเฉพาะประเด็นของอปท. เสนอว่า อัตราภาษีที่ดินเชิงพาณิชย์ในระดับ 0.5% นั้นต่ำเกินไป ทำให้รายได้ที่จัดเก็บลดลงนั้น จึงอาจจะขยายเพดานสูงสุดเป็น 1.5% โดยให้ท้องถิ่นมีความยืดหยุ่นในการปรับเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต  เพราะในปีแรกนั้นคณะกรรมการที่กำหนดอัตราภาษี จะไม่จัดเก็บภาษีเต็มเพดานอยู่แล้ว

            “จ.ระยองเสนอว่าภาษี 0.5% นั้นทำให้รายได้ต่อปีลดลง ซึ่งจากการคำนวณดูแล้วก็พบว่าจริง เพราะ จ.ระยองมีพื้นที่เชิงพาณิชย์จำนวนมาก จึงอาจจะขยายเพดานไว้สูงสุดที่ 1.5% ส่วนที่อยู่อาศัยยังเก็บที่ 0.1% พื้นที่การเกษตรยังเก็บที่ 0.05% เท่าเดิม ซึ่งปีแรกที่อยู่อาศัยอาจเก็บที่ 0.05% ก็ได้”.
กำลังโหลดความคิดเห็น