xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายนิรโทษกรรม : เงื่อนงำที่ซ่อนเร้น

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในท่ามกลางความสับสนวุ่นวายทางการเมือง และความแตกแยกของผู้คนในสังคมไทยตั้งแต่ปลายปี 2548 มาจนถึงปัจจุบัน คำพูดสองคำที่มีการนำมากล่าวอ้างทุกครั้งที่มีการพูดถึงปัญหาความแตกแยก และแนวทางแก้ไขปัญหาที่ว่านี้

คำสองคำที่ว่านี้ ก็คือ

1. สมานฉันท์ คำนี้มาจากภาษามคธ หรือที่ภาษาชาวบ้านทั่วๆ ไปรู้จักกันในชื่อภาษาบาลีหมายถึงความพอใจที่เกิดขึ้นเสมอภาคกัน หรือพร้อมกัน เหมือนกันในสิ่งเดียวกัน และในเวลาเดียวกัน

แต่ที่นำมาใช้ในความหมายของภาษาไทยเป็นความหมายโดยอรรถ ก็คือ ความปรองดอง หรือรอมชอมกันเพื่อยุติความขัดแย้ง โดยที่ผู้ขัดแย้งกันไม่ติดใจเอาความแก่กันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางคดีความ

ส่วนว่าความปรองดองที่ว่านี้จะเกิดขึ้นโดยที่ผู้ขัดแย้งตกลงกันได้เองหรือมีคนกลางมาไกล่เกลี่ยนั้น มิใช่ประเด็นหลักในการแก้ไขความขัดแย้งด้วยใช้หลักแห่งความสมานฉันท์

2. นิรโทษกรรม เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต แปลตามตัวอักษรว่า กรรมที่ไม่มีโทษ

แต่ความหมายที่นำมาใช้ในภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาของกฎหมายหมายถึงว่า ยกโทษหรืออภัยโทษ คือไม่ถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมายอีกต่อไป และการจะนิรโทษกรรมได้ก็ด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ หรือถ้าถูกลงโทษจำขังแล้ว ต่อมาผู้ได้รับโทษยื่นถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามขั้นตอนที่กฎหมายและประเพณีปฏิบัติ เมื่อได้รับอภัยโทษแล้วก็ถือว่าพ้นผิดเช่นเดียวกัน

ตามนัยแห่งคำสองคำที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้มีการพูดถึงอย่างดาษดื่นในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการดังต่อไปนี้

1. คนเสื้อแดงชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวง และยื่นถวายฎีกาขออภัยโทษให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีซื้อขายที่ดินรัชดาฯ และหนีคุกไปอยู่ต่างประเทศ

2. ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยโดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ได้ออกมาแถลงข่าวว่า ทางพรรคภูมิใจไทยได้เสนออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ออกมาเดินขบวนประท้วง ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง และรวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหาทำร้ายประชาชนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ด้วย

ทั้งเหตุปัจจัยในข้อ 1 และข้อ 2 ผู้ยื่นขออภัยโทษและเสนอออกกฎหมายต่างอ้างความสามัคคี ความปรองดองของคนในชาติ ทั้งๆ ที่โดยเนื้อแท้แล้วการกระทำทั้ง 2 กรณีไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนในสังคมโดยรวม และไม่สอดคล้องกับเนื้อหาและเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เริ่มด้วยการยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษของคนเสื้อแดงไม่ถูกต้องตามขั้นตอน และประเพณีปฏิบัติที่ระบุให้ผู้ขอพระราชทานอภัยโทษจะต้องเป็นผู้ต้องโทษเอง หรือญาติพี่น้องที่ใกล้ชิด และตามขั้นตอนแล้วจะยื่นขอได้ต่อเมื่อถูกจำคุกไปแล้วระยะหนึ่ง ทั้งผู้ถูกจำคุกเกิดความสำนึกผิดในการกระทำของตนเองแล้วด้วย

แต่เท่าที่ปรากฏเป็นข่าว ผู้ยื่นขอได้เกิดขึ้นจากแกนนำกลุ่มเสื้อแดงล่ารายชื่อคนทั่วไป และรวบรวมยื่นโดยยึดจำนวนมากเข้าว่า ทั้งผู้ถูกพิพากษาจำคุกคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองก็ไม่เคยพูดว่ารู้สำนึกในความผิด ตรงกันข้ามพูดตลอดว่าถูกกลั่นแกล้งและไม่ยอมรับคำพิพากษาที่ว่านี้แต่ประการใด

ส่วนประเด็นของการเสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคภูมิใจไทยยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเสนอกฎหมายทั้งๆ ที่กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดคือเสื้อเหลือง และเสื้อแดงได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย และยืนยันที่จะขึ้นศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ของตนเอง ไม่หลบหนีไปไหน จึงมีปัญหาเกิดขึ้นว่า อะไรคือเหตุจูงใจให้พรรคภูมิใจไทยเสนอกฎหมายนี้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อดูลงลึกถึงเนื้อหาที่รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมแล้ว ก็พอจะคาดเดาได้ว่ายังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะเป็นเหตุจูงใจให้มีการเสนอกฎหมายนี้ นั่นก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังเป็นผู้ต้องหาของ ป.ป.ช. และกำลังจะมีการชี้มูลความผิดในเร็วๆ นี้ ว่ามีความผิดในข้อหาทำร้ายประชาชนในวันที่เกิดเหตุการณ์ปิดล้อมรัฐสภาของคนเสื้อเหลืองในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 หรือไม่

ด้วยเหตุนี้ จึงน่าจะคาดเดาได้ว่าการเสนอกฎหมายนี้คงจะมุ่งหวังนิรโทษกรรมคนกลุ่มหลังนี้เอง และที่คาดเดาเช่นนี้ก็ด้วยเหตุว่าในขณะนี้คนกลุ่มเสื้อเหลือง อาทิ ดร.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย และคนกลุ่มเสื้อแดง เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้ออกมาว่าไม่เห็นด้วยเช่นกันนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ออกมาแสดงทัศนะใดๆ เลย จึงอนุมานได้ว่ามูลเหตุจูงใจให้พรรคภูมิใจไทยเสนอกฎหมายนี้ ก็ด้วยเจตนาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจให้พ้นผิดในข้อหาทำร้ายประชาชนนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาดูจากพฤติกรรมในการเร่งรัดเพื่อเสนอกฎหมาย และเนื้อหาที่ไม่ละเอียดรอบคอบ ก็น่าจะอนุมานได้ว่าคนในพรรคภูมิใจไทยเอง ก็คงไม่คิดหวังผลจริงจัง แต่กระทำไปเพียงว่าได้กระทำแล้วเพื่อเอาใจใครสักคนที่ขอร้องหรือสั่งการเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่าหวังผลทางกฎหมาย ที่พูดเช่นนี้ก็ด้วยเหตุปัจจัยทางตรรกะดังต่อไปนี้

1. ในการเสนอกฎหมายต้องใช้เวลาทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา รวมไปถึงการเสนอเพื่อโปรดเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

2. ในขณะที่มีการเสนอออกกฎหมายตามข้อ 1 ป.ป.ช.กำลังสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องกับคดีใกล้จะจบ และคาดว่าถ้าไม่มีการดึงเรื่องใดๆ ก็คงจะมีการชี้มูลความผิดในไม่ช้านี้ และเชื่อว่าก่อนกฎหมายนิรโทษกรรมมีผลบังคับใช้แน่นอน

ดังนั้น จึงอนุมานได้ว่าเป็นการเสนอกฎหมายโดยไม่หวังผลในการออกกฎหมายดังกล่าวแล้ว

อีกประการหนึ่ง ถ้าตำรวจที่ตกเป็นผู้ต้องหามั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเอง ก็น่าจะออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเสนอออกกฎหมาย เพราะการพ้นผิดโดยคำพิพากษาของศาลย่อมสง่างามกว่าการพ้นผิดด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในลักษณะพวกมากลากไป

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงสรุปได้ว่าการเสนอกฎหมายมีเงื่อนงำที่ซ่อนเร้น
กำลังโหลดความคิดเห็น