xs
xsm
sm
md
lg

ขรก.ซื้อตำแหน่ง : เหตุแห่งทุจริตดุจการเมืองซื้อเสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมไทยจะได้ยินได้ฟังเรื่องนักการเมืองซื้อเสียงเพื่อหวังชัยชนะการเลือกตั้งในตำแหน่งทางการเมืองเกือบจะทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับชาติ หรือแม้กระทั่งการเมืองท้องถิ่น ส่วนว่าจะซื้อมากหรือซื้อน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1. ความพร้อมที่จะเป็นนักการเมืองของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

ถ้าผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคนที่มีชื่อเสียง และทำคุณประโยชน์แก่ผู้คนทั้งในแง่ส่วนตัว และในแง่ส่วนรวมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานก่อนจะลงรับสมัครเลือกตั้ง อาจไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อเสียงเลยก็มีโอกาสได้รับเลือกตั้ง โดยอาศัยทุนทางสังคมที่มีอยู่ ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประเภทนี้ถือว่ามีความพร้อมในการลงรับเลือกตั้ง ซึ่งถ้าลงสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากมีผู้คนในเขตเลือกตั้งเรียกร้องให้ลงสมัครด้วยแล้ว รับรองได้แน่นอนว่าไม่ต้องจ่ายเงินซื้อเสียง หรือแม้กระทั่งเลี้ยงดูก็นอนมาได้ แต่คนประเภทนี้ถ้าดูแล้วคงจะมีอยู่ในวงการเมืองไทยไม่มากนัก

ในทางกลับกัน ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคนมีฐานะทางการเงินดี หรือไม่มีเงินมากแต่เป็นผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่นมากจนผู้คนในสังคมเกรงกลัว แต่ไม่เคยอุทิศตนเพื่อเป็นคนทำประโยชน์ให้แก่บุคคลในสังคม และไม่ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน คนประเภทนี้ถ้าเมื่อใดก้าวลงสู่สนามเลือกตั้งก็ใช้เงินซื้อเสียงควบคู่ไปกับใช้อิทธิพลข่มขู่บรรดาหัวคะแนนฝ่ายตรงกันข้าม และเท่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเลือกตั้งที่ห่างไกลความเจริญ จะได้รับเลือกยากกว่าคนดีที่ไม่ยอมใช้เงินซื้อเสียงควบคู่ไปกับใช้อิทธิพล

2. การศึกษาและความเข้าใจการเมืองของผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งเกือบทุกครั้งที่ผ่านมา จะสังเกตได้ชัดเจนว่าในเขตเลือกตั้งที่ห่างไกลความเจริญ หรือที่เรียกว่าเขตชนบท ผู้ที่ได้รับเลือกล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีฐานะและมีอิทธิพลต่อผู้คนในท้องถิ่น หรือไม่ก็มีผู้มีฐานะทางด้านการเงิน และมีอิทธิพลในท้องถิ่นส่งลงสมัครเป็นส่วนใหญ่ ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยผล 2 ประการ ประกอบกัน คือ ตัวผู้ลงสมัครใช้เงินซื้อควบคู่ไปกับใช้อิทธิพลข่มขู่แข่ง และผู้ลงคะแนนเลือกตั้งส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจในหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยดีพอ

โดยสรุป ผู้ลงสมัครจะได้รับเลือกเข้ามาเป็นนักการเมืองในทุกระดับมีอยู่เพียง 2 ประเภท คือ

1. เป็นคนดีมีคุณธรรม และได้รับการยอมรับจากประชาชน แต่ผู้ที่ได้รับเลือกประเภทนี้จะอยู่ในพื้นที่เลือกตั้งที่เป็นเขตเมือง ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มีการศึกษาและมีฐานะทางเศรษฐกิจพอเลี้ยงตนเองได้ โดยไม่ถูกครอบงำด้วยเงินจำนวนเล็กน้อยเพื่อแลกกับการลงคะแนน

2. เป็นคนมีฐานะการเงินดี และมีอิทธิพลต่อผู้คนในเขตเลือกตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งในลักษณะนี้จะอยู่ในเขตนอกเมืองหรือเขตห่างไกลความเจริญ ซึ่งผู้คนยังมีการศึกษาน้อย ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยดีพอ จึงถูกชี้นำด้วยการจ่ายเงินให้เพื่อแลกกับการลงคะแนน

ใน 2 ประเภทที่ได้รับเลือกดังกล่าวแล้วข้างต้น ประเภทที่ 2 จะเป็นคนกลุ่มใหญ่ในวงการเมืองไทย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเลือกตั้งจบลง และการจัดตั้งรัฐบาลกำลังจะเริ่มขึ้นเมื่อใด จะมีข่าววิ่งเต้นเพื่อต่อรองตำแหน่งในรัฐบาล หรือแม้กระทั่งการเป็นกรรมาธิการชุดต่างๆ ในสภาฯ เพราะนั่นหมายถึงว่าถ้าใครได้มีตำแหน่งบริหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือแม้กระทั่งเป็นเลขาฯ หรือเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี โอกาสที่จะถอนทุนที่ลงไปเมื่อครั้งเลือกตั้งก็จะมาถึงในทันที และนี่เองคือบ่อเกิดแห่งทุจริตในวงการเมืองไทยที่เป็นมาตลอดจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

การจ่ายเงินเพื่อเป็นใบเบิกทางขึ้นสู่ตำแหน่งมิได้มีเฉพาะในวงการเมืองเท่านั้น แต่ในวงราชการก็มีการวิ่งเต้นจ่ายเงินเพื่อแลกกับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น หรือแม้กระทั่งเท่าเดิม แต่เป็นพื้นที่รับผิดชอบที่มีผลตอบแทนดีกว่า

ส่วนราชการที่มีการวิ่งเต้นและจ่ายเงินเพื่อซื้อตำแหน่ง เท่าที่พอจะรู้และสังเกตได้ ก็คือส่วนราชการที่มีส่วนให้คุณให้โทษแก่ประชาชนผู้มาติดต่อ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสรรพากร และกรมศุลกากร เป็นต้น เพราะผู้ที่ดำรงตำแหน่งในส่วนราชการที่ว่านี้ ถ้าไม่เป็นคนซื่อสัตย์ สุจริตแล้วรับรองได้ว่ามีโอกาสถอนทุนได้เร็ว และเหลือเป็นกำไรได้มากในระยะเวลาไม่นานด้วย

ด้วยเหตุที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงมีข่าวปรากฏออกมาเป็นระยะๆ เมื่อใกล้ถึงฤดูโยกย้ายแต่งตั้งในแต่ละปี จะเห็นได้จากข่าวการโยกย้ายตำรวจในระดับนายพันอยู่ในขณะนี้ โดยการเปิดเผยของนายศิริโชค โสภา ว่ามีการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งในระดับนี้ 2-5 ล้านบาทต่อตำแหน่ง

ถ้าข่าวนี้มีมูลความจริง ก็แปลว่าวงการตำรวจไทยในยุค พ.ศ. 2552 อันถือได้ว่าเป็นยุคที่ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ แต่คุณภาพและคุณธรรมทั้งของนักการเมือง และของข้าราชการประจำด้อยลงไม่เพิ่มขึ้นตามกาลเวลาที่ประชาธิปไตยได้พัฒนาก้าวหน้าไปแต่อย่างใด

ยิ่งกว่านี้ ถ้าย้อนไปดูในอดีตยุคที่ประเทศไทยปกครองด้วยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะพบว่าข้าราชการในยุคนั้นยึดถือความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ตั้งมากกว่าในยุคปัจจุบัน ทั้งๆ ที่การศึกษาในยุคนั้นด้อยกว่าในปัจจุบัน

อะไรทำให้ข้าราชการเปลี่ยนไป และมีแนวทางหรือวิธีการแก้ไขปรับปรุงในเรื่องนี้ได้อย่างไร?

ในอดีต ค่านิยมในการเข้ารับราชการมิได้เกิดขึ้นเพื่อมุ่งแสวงหารายได้เพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นด้วยความต้องการเป็นคนมีเกียรติยศที่ได้รับใช้ประเทศชาติ ด้วยการทำงานต่างพระเนตรพระกรรณรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระมหากษัตริย์ให้สมกับชื่อ คือ ข้าราชการ ซึ่งมีความตามอักษรว่าข้าของพระราชา

ดังนั้นข้าราชการในยุคโบราณจึงยึดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง และทำงานเต็มความสามารถเป็นส่วนใหญ่ จะเกกมะเหรกเกเรบ้างก็เป็นส่วนน้อย

แต่ในปัจจุบันค่านิยมในการเป็นข้าราชการได้เปลี่ยนไป นอกจากจะทำงานเพื่อเป็นเกียรติแก่ตนเอง และวงศ์ตระกูลแล้ว ยังมุ่งหาความก้าวหน้าในตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งที่มีผลประโยชน์ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินโดยตรง และนี่เองคือจุดให้ต้องมีการวิ่งเต้นเพื่อซื้อตำแหน่ง

ส่วนว่าจะแก้ไขอย่างไรนั้น คงจะต้องตั้งแต่การศึกษาที่มุ่งเน้นให้ความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียวเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ต้องหันกลับไปเน้นคุณธรรมควบคู่ไปกับการให้ความรู้เหมือนเมื่อก่อน และยิ่งกว่านี้การให้ตำแหน่งก็ต้องเน้นระบบคุณธรรมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น