นครพนม-เอกชนไทย บ.เนาวรัตน์ฯลงนามร่วมรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว ลงทุนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ “เขื่อนน้ำติกสะเมา”เขตเวียงจันทน์ มูลค่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อขายกระแสไฟฟ้าให้รัฐบาลลาว เผยลาววางแผนงานสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้ามากถึง 79 แห่งหวังเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย
นายพลพัฒน์ กรรณสูต ประธานกรรมการบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการจำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ ที่สำนักงานรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ตนและท่านคำมะณี อินธิราช ผู้อำนวยการใหญ่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว ได้ทำพิธีเซ็นสัญญาลงนามในเอ็มโอยูอย่างเป็นทางการระหว่างบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการจำกัด(มหาชน)กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว เพื่อลงทุนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหรือ”เขื่อนน้ำติกสะเมา”ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่นครเวียงจันทน์ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนราว 35 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผลิตไฟฟ้าขนาด 75 เมกะวัตต์ ขายให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว
ขั้นตอนต่อไปทางบริษัทก็จะส่งทีมเข้าพื้นที่ลงมือศึกษาเพื่อออกแบบแปลน ซึ่งการลงทุนของบริษัทครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินทุนจากธนาคารกรุงไทยเป็นฐานการเงิน
สำหรับการลงทุนของบริษัทเนาวรัตน์ฯจะอยู่ในหลายประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นงานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ เช่น ที่ ดูไบจะเป็นอาคารสำนักงาน ประเทศเวียดนามก่อสร้างระบบน้ำเสีย,ประเทศกัมพูชาเป็นการก่อสร้างถนน ในประเทศพม่า ก่อสร้างโรงแรม
นายพลพัฒน์ระบุว่า ในส่วนการลงทุนในสปป.ลาว บริษัทเริ่มเข้าไปรับงานลงทุนตั้งแต่ปี 1988 ทำการก่อสร้างถนนระยะทาง 76.8 กิโลเมตร(กม.)เส้นบ้านช้อนน้ำลัง มูลค่า 28 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นเงินกู้เอดีบี ส่วนการลงทุนก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนน้ำติกสะเมา ถือเป็นโครงการแรกที่ทางบริษัทสนใจลงทุน เพราะในปัจจุบันการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจใน สปป.ลาว มีแนวโน้มสูงขึ้น
“ในหลายๆแขวงมีกลุ่มบริษัทในต่างประเทศและในไทยมาลงทุนจำนวนมาก และความต้องการไฟฟ้าก็สูงขึ้นในขณะที่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวเป็นผู้รับซื้อกระแสไฟฟ้าทั้งหมด”
ด้านท่านคำมะณี อินธิราช ผู้อำนวยการใหญ่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวเปิดเผยว่า จากการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจมีนักธุรกิจจากหลายประเทศเข้ามาลงทุนในหลายโครงการตลอดจนการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลลาวมีนโยบายผลิตกระแสไฟฟ้ารองรับในอนาคต นอกจากนี้รัฐบาลลาวยังมีนโยบายพัฒนาลาวให้เป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย เพราะมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ
ตามแผนโครงการพัฒนา มีจำนวน 79 เขื่อน ขณะนี้ดำเนินการลงมือแล้วประมาณ 10 เขื่อนซึ่งมีทั้งเขื่อนขนาดเล็กและขนาดใหญ่และมีการเปิดให้นักลงทุนจากต่างประเทศทั่วโลกเข้ามาลงทุนในลาวด้วย