xs
xsm
sm
md
lg

ศรีลังกาจับผู้นำกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬคนใหม่ ไทย-มาเลเซียปฏิเสธวุ่นไม่ได้จับในปท.ตน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการรายวัน – “ศรีลังกา” ยืนยันวานนี้(7) กำลังสอบสวนหัวหน้ากลุ่มกบฎพยัคฆ์ทมิฬคนใหม่ แต่ไม่ระบุจับกุมตัวได้ที่ไหน ขณะที่รัฐบาลไทยและมาเลเซียต่างปฏิเสธ ไม่ได้จับจากประเทศของตน ด้านหน่วยข่าวกรองไทยระบุประวัติ มีเมียคนไทยอาชีพพยาบาลที่ลำพูน และเคยเข้ามาเคลื่อนไหวด้านค้าอาวุธ

ภายหลังมีรายงานข่าวตามสื่อมวลชนของศรีลังกา เมื่อวานนี้ พล.จ.อุทัย นานายักรา โฆษกกองทัพศรีลังกาได้ออกมาแถลงยืนยันว่า เวลานี้ นายเซลวาราสา ปัทมานาธาน หัวหน้าคนใหม่ของกลุ่มกบฎพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (แอลทีทีอี) กำลังถูกกักตัวอยู่ในกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา และเจ้าหน้าที่กำลังสอบสวนเขาอยู่ แต่เขาปฏิเสธไม่ตอบคำถามว่า บุคคลผู้นี้ถูกจับกุมตัวได้ที่ไหน

นายปัทมานาธานเป็นคนสำคัญระดับสูงสุดของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ที่ยังมีชีวิตอยู่หลังจากที่รัฐบาลศรีลังกาใช้กำลังทหารเข้าถล่มที่มั่นของกลุ่มกบฏดังกล่าวถึงขั้นแตกหัก จนกระทั่งนายเวลลุพิไล ประภาการัน ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าคนก่อนของกลุ่ม เสียชีวิตลงในระหว่างสู้รบที่บริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนในศรีลังการายงานในวันพฤหัสบดี(6)ว่า เขาถูกจับกุมที่ประเทศไทย และ พล.จ.นานายักราก็แถลงคืนวันเดียวกันว่า นายปัทมานาธาน ซึ่งนิยมเรียกชื่อกันเป็นตัวย่อว่า เคพี ถูกจับตัวจากประเทศไทยเช่นกัน ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กลุ่มกบฎพยัคฆ์ทมิฬได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งผ่านทางอีเมล์ ระบุว่าหัวหน้าใหม่ของพวกเขาถูกพวกเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองมาเลเซียจับที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันพุธ(5)

อย่างไรก็ตาม ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ต่างแถลงวานนี้ ปฏิเสธว่านายปัทมานาธานไม่ได้ถูกจับกุมในประเทศไทย แต่เข้าใจว่าถูกจับกุมที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ แล้วจึงถูกนำตัวกลับไปยังศรีลังกา โดยผ่านทางกรุงเทพฯ เนื่องจากเที่ยวบินโดยสารที่จะเดินทางไปศรีลังกานั้น ต้องพักเครื่องที่ประเทศไทย

แต่ทางด้านนายมูซา ฮัสซัน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของมาเลเซีย ก็แถลงจากกัวลาลัมเปอร์ว่า เขาไม่ทราบเลยว่ามีการจับกุมตัวบุคคลผู้นี้ในแดนเสือเหลือง

พวกเจ้าหน้าที่ศรีลังกาหลายคนยอมรับว่า ไม่สามารถบอกได้ว่าจับกุมคนร้ายสำคัญรายนี้ได้ที่ใด เนื่องจากมีความจำเป็นด้านการทูต โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ไม่เปิดเผยชื่อผู้หนึ่งระบุว่า “เรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวและรัฐบาลต้องการเคารพในความปรารถนาดีของบรรดาผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือทั้งหมด”

ขณะที่นักการทูตหลายคนที่ทราบเรื่องดีเล่าว่า ก่อนหน้านี้คือในปี 2550 ทางการไทยเคยจับกุมตัวนายปัทมานาธานได้ครั้งหนึ่งแล้ว และเตรียมการส่งตัวกลับศรีลังกาโดยมีเงื่อนไขว่าศรีลังกาจะไม่เปิดเผยเรื่องที่ไทยมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่แล้วนายปัทมานาธานก็กลับหลบหนีไปได้ หลังจากที่ศรีลังกาเผยแพร่ข่าวการจับกุมตัว และไทยก็ปฏิเสธแข็งขันว่าไม่เคยจับกุมตัวเขา

ภายหลังจากที่เขาได้เป็นผู้นำคนใหม่ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ ทางการศรีลังกาก็ยิ่งเพิ่มความพยายามติดตามตัวนายปัทมานาธานทั้งในด้านการทูตและด้านข่าวกรอง

พวกนักวิเคราะห์ระบุว่า นายปัทมานาธานก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬได้หลังจากที่เขาต้องสู้กับแกนนำของกลุ่มคนอื่นๆ ในต่างประเทศ และมีอำนาจควบคุมสินทรัพย์เป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯของกลุ่มซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลก

สำหรับประวัติความเป็นมาของนายปัทมานาธานก่อนหน้านี้นั้น เขาถูกออกหมายจับจากตำรวจสากลในข้อหาค้าอาวุธ และถูกออกหมายจับจากรัฐบาลอินเดีย ในข้อหาพัวพันกับการลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีราจิบ คานธี เมื่อปี 2534

ระยะเวลาร่วม 30 ปีที่ผ่านมา เขาเป็นบุคคลสำคัญในการปฏิบัติการในต่างแดนของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ โดยต้องคอยหลบเลี่ยงการจับกุมของทางการ ขณะเดียวกันก็หาทางระดมทุนและซื้ออาวุธให้กับทางกลุ่ม ทั้งนี้เขาสามารถสร้างเครือข่ายในการค้าของเถื่อน, ซื้อหาอาวุธ, และระดมเงินทุน ให้แก่พยัคฆ์ทมิฬ จนเหมือนกับเป็นกิจการมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ ซึ่งรู้จักกันในนาม "เคพี ดีพาร์ตเมนต์"

ช่วงที่เขาเรืองอำนาจถึงขีดสุดนั้น เคพีมีกองเรือสินค้าสำหรับการขนของเถื่อน, ติดต่อซื้อขายกับตลาดค้าอาวุธในเอริเทรีย ไปจนถึงอัฟกานิสถาน และยูเครน รวมทั้งหาเงินทุนเป็นล้านๆ ดอลลาร์ทั้งด้วยการขอบริจาคและด้วยการบังคับข่มขู่ จากชาวทมิฬที่ไปอยู่ในต่างแดน

เชื่อกันว่านายปัทมานาธานหลบซ่อนตัวอยู่ในพม่า มาเลเซีย และไทย โดยเขามีหนังสือเดินทางหลายสิบเล่มและมีเงินมากพอที่จะแก้ปัญหายุ่งยากทั้งหลายได้ ทั้งนี้พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬสามารถทำรายได้ถึงปีละ 200-300 ล้านดอลลาร์ทีเดียว

สำหรับพฤติการณ์และความเคลื่อนไหวในไทย ตามประวัติที่หน่วยข่าวกรองไทยรวบรวมมาได้นั้น ระบุว่า นายปัทมานาธาน มีอายุ 57 ปี มีภรรยาเป็นคนไทยอาชีพพยาบาลอยู่ที่จังหวัดลำพูน

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 หลังจากนายกรัฐมนตรีอินเดีย นายราจิบ คานธี ถูกสังหารแล้ว ได้หลบหนีเข้าไทยมาพักที่กรุงเทพฯ ต่อมาก็ได้ทำการติดต่อซื้ออาวุธและวัตถุระเบิด จากนั้นวันที่ 1 กรกฎาคม ปีเดียว ไปปรากฏตัวที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อติดต่อซื้ออาวุธจากกลุ่ม เคพีเอ็นแอลเอฟ

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2534 ทางการอินเดียจับกุมเรือสินค้าชื่อ “ทองนาวา” พบอาวุธในเรือที่เตรียมนำไปส่งให้กลุ่มกบฎ โดยอาวุธทั้งหมดมาจากไทย แต่ต่อมาทราบว่ามีการปลอมลายมือชื่อซื้ออาวุธจากกองทะเบียน กรมตำรวจ จนมีการตั้งกรรมการสอบสวน ปัจจุบัน นายตำรวจที่ถูกสอบสวนขึ้นเป็นนายพลตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สอบสวนมีมติให้ออกจากราชการ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังเก็บเรื่องไว้อยู่ เนื่องจากนายพลผู้นี้จะเกษียณอายุในปี 2552 นี้

ต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 นายปัทมานาธานได้เปิดบริษัท ปาลแม็กซ์ จำกัด มีสาขาทั้งที่จังหวัดลำพูน และจังหวัดระยอง โดยเปิดเป็นบริษัทค้าอาหารบังหน้า แต่คาดว่าใช้สำหรับติดต่อเรื่องการค้าและส่งอาวุธ ต่อมาในวันที่ 2 กันยายน 2544 ยังได้เปิดบริษัทเดลตามารีนเอเยนซี่ เพื่อใช้ในการส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นอาวุธ

จากความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของบุคคลผู้นี้ พนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด จึงได้ขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับนายปัทมานาธานเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 ในข้อหาเป็นผู้ร้ายข้ามแดน และศาลอาญาได้อนุมัติตามหมายจับที่ 1054/49
กำลังโหลดความคิดเห็น