ประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง และผลประโยชน์ต่อตัวเอง กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ต่อกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ รับโครงสร้างใหม่ ในช่วงรอยต่อเกษียนอายุราชการของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)ที่ถูกกล่าวขานมากที่สุด ในขณะนี้ ว่าสิ่งที่เขากระทำลงไปนั้น ถูกต้อง ตามครรลอง คลองธรรม และสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายหรือไม่
จากคำพูดของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ตอบคำถามสื่อในครั้งที่ถูกถามเรื่องผลประโยชน์ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจภายใต้อำนาจของ พล.ต.อ.พัชรวาท ว่า"ผมสั่งระงับหมดแล้ว" รวมทั้งคำพูดว่า "มอบให้ ผบ.ตร.คนใหม่ มาทำหน้าที่แทน" นั่นคือ สิ่งที่มีคำตอบอยู่ในตัว เหมือนกับว่า นายกรัฐมนตรี ก็ยอมรับว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ มันเป็นเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ส่วนใครจะมีส่วนได้ ส่วนเสีย ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในยุคนี้ กันเท่าไหร่ ถือเป็นเรื่องที่ต้องไปถาม บุคคลคนนั้นเอาเอง แต่หากย้อนไปในอดีต ยุคที่ผ่านๆมา และมีการพูดกันปากต่อปาก ของเหล่าข้าราชการสีกากี เหล่านักวิ่ง ว่าเขาจ่ายกันด้วย"ตัวเลข"หลักใด!?!
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า โรงพักแต่ละโรงพักนั้น มีจุดเด่น และศักยภาพไม่เท่ากัน และเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ จึงสามารถจัดอันดับ หรือจัดเกรดของโรงพักได้ดังนี้
โรงพักเกรด เอ = ในท้องที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โรงพักเกรดเอ ส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่ บก.น.5 และ บก.น.6 อาทิ สน.บางรัก สน.พลับพลาไชย 1 สน.พลับพลาไชย 2 สน.ทองหล่อ เป็นต้น ส่วนท้องที่ต่างจังหวัด มักเป็นหัวเมืองใหญ่ เช่น สภ.เมืองจังหวัดใหญ่ๆ สภ.หาดใหญ่ สภ.พัทยา เป็นต้น
โรงพักเกรด บี = ในท้องที่ บช.น. มักมีอยู่ทั่วทุกกองบังคับการ โดยส่วนใหญ่ จะตั้งอยู่เขตพื้นที่ชั้นนอก ในต่างจังหวัดก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่ ไม่ได้ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง
โรงพักเกรด ซี = หรือโรงพักไร้เกรด ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท หรือเป็นแค่สถานีตำรวจภูธรประจำตำบล หรือ สภ.ต.เดิม หรือโรงพักที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ มีแต่ป่าแต่เขา ไม่มีสถานบันเทิงเริงรมย์
การจัดเกรดโรงพักต่างๆนั้น มิใช่ขึ้นอยู่กับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก แต่การจัดอันดับเกรดดังกล่าว กลับขึ้นอยู่กับ"ผลประโยชน์" ในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สถานบันเทิง" ทั้งที่ถูกกฎหมายและหลีกเลี่ยงกฎหมาย หรือแม้แต่ผิดกฎหมาย อันเป็นที่มาของระบบ "ส่วย" และนอกเหนือจากระดับ "โรงพัก" แล้ว ยังมีระดับกองบังคับการ เช่น ตำรวจทางหลวง ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจน้ำ และกองปราบปราม ที่มีอำนาจทั่วทุกพื้นที่ ตำแหน่งในกองบังคับการเหล่านี้ จึงเปรียบเสมือน "เกรดเอบวก" ไปโดยปริยาย
การที่นายตำรวจสัญญาบัตร ระดับรองสารวัตร จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง สารวัตร (สว.) นั้น เมื่อผ่านโรงเรียนสารวัตรแล้ว ในสมัยก่อนนั้น ต้องยอมรับว่า เป็นการยากที่จะขึ้นดำรงตำแหน่ง สว. หากพูดเป็นตัวเลขกลมๆ ก็ต้องใช้เงิน 6 หลักขึ้นไป นี่เฉพาะการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง สว.ทั่วไป แต่หาก ต้องการอยู่โรงพักเกรดเอ ต้องใช้ตัวเลขประมาณ 5- 7 แสน โรงพักเกรดบี ประมาณ 3 แสน แต่ปัจจุบัน ตำแหน่ง สว.นั้นขึ้นกันค่อนข้างง่าย และไม่ต้องใช้เงินมากเหมือนสมัยก่อนอย่างที่ได้กล่าวไว้ เพียงแต่แค่มี "ตั๋ว" ไม่ว่าจากของ "นาย" หรือของนักการเมือง ก็ล้วนได้เติบโตในตำแหน่งหน้าที่เสมือนหนึ่ง"ไหลเลื่อน"ไปตามลำดับ โรงพักหลายโรงพักในปัจจุบัน "สารวัตร"จึงแทบจะเดินชนกันตาย!
ตำแหน่งสำคัญผู้กำกับการ "ผกก."นั้น ว่ากันด้วยตัวเลข 6 หลักปลายๆ ถึง 7 หลัก เช่นรองผกก.จะขึ้นผกก. อย่างน้อยต้องมี 7 แสน - 1 ล้านบาท มากน้อยว่ากันไปตามพื้นที่ และหากใจถึงจ่าย 1-2 ล้าน ก็สามารถเลือกระดับเกรดของโรงพักที่จะไปลงได้ตามต้องการ และจาก ผกก.ขึ้นเป็นรองผู้บังคับการ (รองผบก.) หรือรองผู้การนั้น ต้องมีอย่างน้อย 2-3 ล้าน ในขณะที่การจะขึ้นชั้นเป็นระดับผู้บังคับการ (ผบก.) นั้น ว่ากันว่า อย่างต่ำ 3 ล้านขึ้นไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มิใช่ว่า มีเงินอย่างเดียวจะขึ้นเป็นผู้การได้ ต้องมีปัจจัยรอบด้านที่สำคัญประกอบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การเมือง" จะเข้ามามีบทบาทสูง ในการส่งผู้หนึ่งผู้ใดไปดำรงตำแหน่งผู้การ
การแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจทุกระดับชั้นทุกครั้งนั้น จึงหนีไม่พ้นคำครหา ที่ว่า"เด็กนาย-เด็กนักการเมือง"ล้วนได้ดิบได้ดี ซึ่งทุกอย่างนั้นมี"ตัวเงิน"มาเป็นตัวกำหนดหลัก ขึ้นอยู่กับที่ว่า ใคร มีสายป่านดีและยาวกว่ากัน ส่วนเรื่อง"ผลงาน"นั้น กลับถูกมองกันว่า เป็นแค่เรื่อง"ขำขำ"เท่านั้น
ขณะที่เส้นทางเดินของเงิน ในการแต่งตั้งโยกย้าย เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป ว่า คนสุดท้าย ไม่ได้ทั้งหมด อาทิ นาย ก.ต้องการขึ้นสู่ตำแหน่ง ผกก.โรงพัก โดยที่นาย ก.รู้จักกับนาย ข.ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของ รัฐมนตรี ค.และหากนาย ก.จ่ายเงิน 3 ล้าน เส้นทางเงินก็จะถูกแบ่งไปตามสัดส่วน ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของสายวิ่งเต้น และหากทุกคนพอใจ การวิ่งเต้นก็จะเริ่มขึ้น โดยจบที่ นาย ก.ได้รับการแต่งตั้ง ตามที่ตกลงกันไว้ และหาก เกิดความผิดพลาด จ่ายเงินไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการแต่งตั้ง โอกาสที่จะได้รับเงินคืนทั้งหมด หรือ บางส่วน จึงเป็นไปได้ยาก
ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายในระดับนายพล 152 ตำแหน่ง ที่ผ่านคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)เป็นที่เรียบร้อยไปแล้วนั้น ตัวเงินการวิ่งเต้น ก็จะสูงเป็น 2 เท่าตัว ขึ้นอยู่กับ ใครนั่งตำแหน่งสำคัญ คุมกำลังหลัก
ดังนั้น การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุเกี่ยวกับโผการแต่งตั้งโยกย้ายซึ่งผ่านความเห็นชอบของ ก.ตร.ไปแล้วว่า "ผมสั่งระงับหมดแล้ว"นั้น จึงทำให้ทั้งนักการเมืองเองก็ดี อดีตนายตำรวจหลายนายก็ดี ออกมากล่าวเป็นทำนองเตือนนายกรัฐมนตรีว่า อย่าได้เข้าไปแตะต้องเรื่องโผ ที่ถือเป็นของร้อน ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกฟ้องร้องได้
แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ล้วนเป็นเรื่อง"ผลประโยชน์"เป็นหลักเสียมากกว่า ก็ใครเล่า จะยอมเสียเงินด้วยตัวเลขตั้ง 6-7 หลักไปฟรีๆ โดยไม่มีการขยับหรือเปลี่ยนแปลง โดย 152 นายพลวงเงินสะพัดพันกว่าล้าน!!! เหตุผลสำคัญในการห้ามนายกรัฐมนตรีเข้าไปแตะต้อง"โผ" แท้ที่จริงแล้ว ได้มีการประทับตรายางในโผทุกระดับชั้นไว้แล้วว่า "จ่ายแล้ว-รับแล้ว"ต่างหาก!