xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:ประเทศไทยควรมีภาษีทรัพย์สินที่ทันสมัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในอดีตรัฐบาลหลายชุดได้มีความพยายามจะนำระบบภาษีทรัพย์สินทีที่ทันสมัยมาใช้ในประเทศไทยแต่ก็ยังไม่สำเร็จ จนถึงครั้งนี้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้แสดงเจตนาอย่างชัดเจนในการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินภายใต้ชื่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจัดเก็บจากฐานมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมเครื่องจักรอุปกรณ) ที่ครอบครองและถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบภาษีทรัพย์สิน

ผู้สนับสนุนให้เก็บภาษีนี้ให้เหตุผลไว้ว่าเป็นภาษีที่เก็บจากความมั่งคั่งของคนโดยยึดหลักความสามารถในการชำระภาษีนั่นคือคนมีทรัพย์สินมากก็ควรต้องจ่ายภาษีมาก และหลักการของการได้รับประโยชน์จากภาครัฐเนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินได้รับการดูแลจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะ (ถนน น้ำ ไฟ เก็บขยะ คุ้มครองความปลอดภัย) ให้โดยรัฐ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าทรัพย์สินจำนวนไม่น้อยได้มาจากการนำรายได้ที่อาจเล็ดรอดภาษีเงินได้มาซื้อ ดังนั้น การเก็บภาษีทรัพย์สินก็เพื่ออุดช่องโหว่ของภาษีเงินได้บางส่วน แม้จะมีประเด็นว่าภาษีทรัพย์สินเป็นการเก็บที่ซ้ำซ้อนหรือไม่เนื่องจากบางคนก็เสียภาษีเงินได้ไปแล้ว พอจะครอบครองที่ดินก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอน และยังโดนภาษีที่ดินอีก ถ้าตอบแบบนักวิชาการภาษีก็คือภาษีเงินได้เก็บจากฐานเงินได้สุทธิที่ผู้เสียภาษีได้รับมาในช่วงปี หากนำเงินได้ที่บางส่วนไปใช้สอยก็มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินได้ที่เหลือหากเปลี่ยนรูปไปซื้อทรัพย์สินก็จะเข้าสู่ระบบภาษีทรัพย์สิน (ที่ดิน) นั่นคือแม้จะอธิบายว่าเป็นการเก็บกันคนละฐาน แต่ผู้เขียนก็อดคิดไม่ได้ว่ากว่าจะมาเป็นที่ทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ไม่รู้ว่าโดนเก็บภาษีมาแล้วเท่าไร

ระบบภาษีทรัพย์สินแบบเต็มรูปแบบมีตั้งแต่ภาษีการถือครองทรัพย์สินซึ่งส่วนมากเป็นอสังหาริมทรัพย์เพราะการประเมินการถือครองสังหาริมทรัพย์ทำได้ยาก ไปจนถึงการเก็บภาษีเมื่อมีการโอนเปลี่ยนมือเจ้าของ หากเป็นการโอนเมื่อเจ้าของตายลงเราก็เรียกเก็บภาษีมรดก ส่วนการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินทั่วไปก็มีภาษีการโอนและภาษีการให้ และหากการขายนั้นมีกำไรเกิดขึ้นก็อาจมีการเก็บภาษีจากส่วนกำไรนั้นโดยเรียกว่าภาษีผลได้จากทุน (capital gains tax) ประเทศพัฒนาแล้วจะมีระบบภาษีทรัพย์สินทุกรูปแบบดังที่กล่าวมา

ขอสังเกตของภาษีทรัพย์สินก็คือ ส่วนมากจะมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานบริหารจัดเก็บ ซึ่งก็เหมาะสมกว่าการให้ส่วนกลางจัดเก็บ รายได้ก็ต้องเป็นของท้องถิ่นเพื่อนำไปใช้จ่ายพัฒนาท้องถิ่นและประชาชนที่อาศัยในนั้น ในกรณีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทยตามที่เสนอก็มีหลักการคล้ายกับภาษีทรัพย์สินทั่วไป และมีจุดเด่นที่จะเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการกระจายอำนาจทางการคลังและอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นด้วย เนื่องจากปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณเจ็ดพันกว่าแห่งยังไม่สามารถมีแหล่งรายได้ของตนเองที่พอเพียงกับความต้องการใช้จ่าย จะมีที่พอจะดูแลตนเองได้ก็น่าจะเป็นเมืองใหญ่ๆ เช่น กทม. และพัทยา ที่เหลือก็ต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากรัฐบาลส่วนกลางปีละไม่ต่ำกว่าสองแสนล้านบาท ดังนั้นในมุมของรัฐบาลย่อมได้ประโยชน์เพราะจะได้งบประมาณที่เคยจ่ายอุดหนุนท้องถิ่นกลับมาใช้เองได้ ทั้งนี้ขึ้นกับความสำเร็จในการจัดเก็บรายได้ภาษีที่ดินใหม่นี้ ซึ่งทราบมาว่ากฎหมายกำหนดไว้ 3 อัตราด้วยกันคือ 0.05% ของมูลค่าสำหรับที่ดินการเกษตร 0.1% สำหรับที่ดินอยู่อาศัย และ 0.5% ในกรณีที่ดินใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทั้งนี้จะมีคณะกรรมการพิจารณากำหนดอัตราที่บังคับจริงซึ่งต่ำกว่าอัตราตามกฎหมายได้

ประเด็นที่จะถูกหยิบยกมากต่อต้านก็คือ ขณะนี้ภาษีที่รัฐบาลเก็บอยู่หลายประเภทก็ยังเก็บได้ไม่เต็มที่ มีการรั่วไหลไม่น้อย ควรเก็บภาษีที่มีอยู่ให้ได้ดีกว่านี้แล้วค่อยเพิ่มภาษีชนิดใหม่ แน่นอนการเก็บภาษีให้ได้เต็มประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่หน่วยงานจัดเก็บต้องทำเป็นหน้าที่อยู่แล้ว ส่วนที่จะทำให้ระบบภาษีโดยรวมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก็ต้องทำคู่ขนานกันไป แม้ว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะนำมาใช้ทดแทนภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้น เจ้าของที่ดินอยู่อาศัยซึ่งเดิมได้รับยกเว้นภาษีบำรุงท้องที่หรือไม่ก็เสียน้อยมากตามกฎหมายปัจจุบันจะพบว่าตนเองจะรับภาระภาษีเพิ่มขึ้น ในขณะที่ที่ดินที่ใช้เชิงพาณิชย์โดยเฉลี่ยอาจรับภาระต่ำลงกว่าการเสียภาษีโรงเรือนที่ดิน และกลุ่มผู้ใช้เพื่อการอยู่อาศัยซึ่งมีจำนวนมากกว่ากลุ่มผู้ใช้เพื่อการพาณิชย์ย่อมมีปฏิกิริยาอย่างแน่นอน

ประเด็นนี้กระทรวงการคลังก็ได้เตรียมมาตรการบรรเทาภาระไว้ให้แล้วโดยประการแรกภาษีที่ดินฯ ใหม่นี้จะมีผลใช้บังคบในอย่างเร็วก็ในปี 2555 และหากรายใดต้องรับภาระภาษีเพิ่มกว่าเดิมก็ให้ทยอยรับภาระเพิ่มขึ้นได้ถึง 3 ปี ไม่ต้องรับเต็มจำนวนในปีแรกที่จัดเก็บ อีกทั้งจะมีการพิจารณาให้ยกเว้นแก่มูลค่าที่ดินที่มีราคาไม่สูงเพื่อช่วยเหลือเจ้าของที่ดินซึ่งมีรายได้น้อย รวมทั้งอาจมีการให้ยกเว้นในกรณีที่ดินเพื่อการเกษตรรายย่อยที่มีที่ดินไม่มากก็ได้ แต่สิ่งที่เศรษฐีที่ดินต้องกลัวก็คือที่ดินใดที่ปล่อยให้ว่างเปล่าไม่นำไปใช้ให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทุกๆ 3 ปี ผลที่คาดว่าจะเกิดคือที่ดินเหล่านี้จะถูกใช้ประโยชน์มากขึ้นหรือไม่ก็ต้องขายกระจายออกไปเป็นการลดการเก็งกำไรและการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินซึ่งอาจนำมาซึ่งการหมดยุคของเศรษฐีที่ดินหมื่นๆ ไร่ในท้ายที่สุดก็ได้

                                                                      warotai@fpo.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น