ระยองเป็นเมืองชายทะเลที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ สองร้อยกว่ากิโลเมตร สมัยก่อนมีทางสายเก่าสองเลน ระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงตัวเมืองประมาณ 222 กิโลเมตร เวลานี้มีบายพาส และมอเตอร์เวย์ทำให้ไปสะดวกมากขึ้น
ระยองเป็นจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก เมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว มีโครงการอุตสาหกรรมหลายโครงการ เช่น โครงการโซดาแอช และโครงการปิโตรเคมี เป็นต้น
โครงการเหล่านี้ ทำให้คนในชลบุรี และระยองเกิดความตื่นตัวทางด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ลึกไปกว่านั้นเป็นครั้งแรกที่ในสังคมเกิดความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ระหว่างการท่องเที่ยว การประมง และโรงงานอุตสาหกรรม
ชาวบ้านที่เป็นชาวประมงส่วนใหญ่หากินตามชายฝั่งจึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสีย และน้ำที่ใช้ระบายความร้อน เมื่อน้ำร้อนลงทะเล พวกแพลงตอน คือ กุ้ง หอย ปู ปลา ตัวเล็กๆ ก็ตายหมด ชาวประมงน้ำตื้นจึงมีปฏิกิริยาต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรมอยู่นาน
ผลกระทบอีกประการหนึ่งก็คือ ทางด้านความมั่นคงบริเวณชายฝั่งทะเลมีสถานที่ที่กองทัพเรือใช้ฝึกยกพลขึ้นบกอยู่สองจุด คือ ที่ศรีราชา และที่บ้านเพ แต่ปรากฏว่า ทั้งสองแห่งมีท่าเรือซึ่งตอกท่าเทียบเรือยาวออกไป ทำให้ยกพลขึ้นบกไม่ได้ ทหารเรือเหล่านาวิกโยธินที่ระยองจึงไม่พอใจที่มีโรงงานปิโตรเคมี และมีท่าเทียบเรือไปอยู่ที่นั่น
เมื่อมีถนนตัดใหม่ ความเจริญจึงกระจายไปตามถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ระยองมีตัวเมืองเล็ก มีถนนสายเดียวคือ ถนนหลักเมืองลงไปที่ปากน้ำประแส ตลาดระยองก็เหมือนชุมชนขนาดเล็ก พ่อค้าแม่ขายรู้จักกัน หลายคนเป็นญาติกัน
มาบัดนี้ ระยองมีทั้งโรงงานอุตสาหกรรม และมีสวนผลไม้ที่ผลิตเพื่อการส่งออก การรักษาสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนการประมงก็ยังทำอยู่ กะปิ น้ำปลาที่นี่มีชื่อเสียงมาก
คนเมืองระยองเป็นคนตรง คนเก่าคนแก่มักพูดว่าตนเป็น “เลือดระยอง” อาหารการกินที่นี่ก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น แกงหมูต้มใบชะมวง ทอดมัน ซึ่งออกรสหวาน ก๋วยเตี๋ยวระยองที่ไม่เหมือนผัดไทยเพราะไม่ใส่ถั่วลิสงผัดกับปูม้า และรสออกหวานนิดๆ ส่วนคนระยองแท้ๆ จะชอบกินแมงกะพรุนที่ไม่เหมือนแมงกะพรุนเส้นๆ ที่ร้านอาหารจีนทำ แต่เป็นแมงกะพรุนที่เอามาแช่น้ำปูนกินกับน้ำจิ้มถั่วตัด หากใครกินไม่เป็นจะรู้สึกแหยงๆ เพราะแมงกะพรุนเป็นชิ้นๆ เนื้อสีแดง ไม่ค่อยน่าดูเท่าไรนัก
ปู่ทวดผมเป็นคนระยอง ท่านเป็นเจ้าเมือง เป็นผู้สร้างพระเจดีย์กลางน้ำ และเป็นเจ้าของหนังตะลุงชุดใหญ่ ซึ่งเวลานี้อยู่ที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพล ผมจึงมีญาติอยู่เต็มเมือง เป็นพวกยมจินดา ส่วนพวกเปี่ยมพงศ์สานต์ก็เป็นญาติกัน สมัยก่อนญาติๆ ผมเป็นนายกเทศมนตรี และเป็น ส.ส.ด้วย มาสมัยนี้ไม่มีใครสืบทอดต่อ แต่มีนักธุรกิจสมัยใหม่มาแทน ผู้แทนเก่าๆ ไม่ได้รับเลือกมาหลายสมัยแล้ว
ผู้นำท้องถิ่นของระยองเป็นคนหนุ่มคนสาวที่ให้ความสำคัญแก่การศึกษา อยากให้ระยองมีโรงเรียนดีๆ โดยเฉพาะท้องถิ่น อบจ.มีงบประมาณที่ให้กับการศึกษามากพอควร เวลานี้ อบจ.ได้สถานที่ที่เป็นคุกเก่า เนื้อที่เกือบร้อยไร่ พอจะทำโรงเรียนได้
การที่ อบจ.จะมีโรงเรียนดีๆ ได้นั้น ก็ต้องอาศัยครู และการจัดการศึกษาให้แตกต่างไปจากโรงเรียนสังกัด สพฐ. ครูยังชินกับการอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น อบจ.จึงต้องหาทางจัดสวัสดิการ และค่าตอบแทนให้ครูที่ดีกว่าครูทั่วไป
เนื่องจากระยองมีโรงงานอุตสาหกรรมมาก ทางโรงเรียนจึงควรขอความร่วมมือจากธุรกิจเอกชนเหล่านี้ให้เข้ามาสนับสนุน โดยตั้งเป็นกองทุนไว้เพื่อนำเงินมาตอบแทนครูนอกเหนือไปจากเงินเดือน และสามารถช่วยในการฝึกอบรมครู ตลอดจนมีโครงการฝึกงานให้นักเรียนด้วย
การที่จังหวัดจะเจริญได้นั้น ท้องถิ่นจะต้องมีเงินเพียงพอที่จะบำรุงการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ท้องถิ่นมีบทบาทก็จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น
เวลานี้ ท้องถิ่นยังไม่ได้รับประโยชน์จากการมีโรงงานอุตสาหกรรมมากเท่าใดนัก โรงงานอุตสาหกรรมเพียงแต่ไปอาศัยพื้นที่จังหวัดผลิตสินค้าป้อนให้กับทั่วประเทศ เพราะโรงงานมักจะจดทะเบียนที่กรุงเทพฯ จึงไม่ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ องค์กรปกครองท้องถิ่นควรจะได้ภาษีโรงเรือนมากกว่านี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่องค์กรปกครองท้องถิ่นควรเรียกร้อง
ในเมืองไทยมี อบจ.และเทศบาลที่ก้าวหน้าหลายแห่ง ผู้นำท้องถิ่นส่วนใหญ่มีการศึกษาสูง หลายคนจบปริญญาโทจากต่างประเทศ และต่างให้ความสนใจทางการศึกษามากขึ้น แทนที่จะนิยมสร้างถนนหนทางแต่เพียงอย่างเดียว
ในระยะยาวท้องถิ่นจะได้งบประมาณเพิ่มมากขึ้น องค์กรปกครองท้องถิ่นจึงต้องคิดวางแผนการใช้เงินให้คุ้มค่า สำหรับระยองแล้ว การพัฒนาการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญเหลือแต่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น
ในการพัฒนาท้องถิ่น นอกจากคนที่อยู่ในจังหวัดแล้ว เวลานี้ยังมีความพยายามที่จะเสาะหาเชื้อสายคนระยองไปช่วยด้วย ผู้ที่เกษียณอายุจำนวนมากที่กลับไปอยู่บ้านเดิม สำหรับตัวผมเอง บ้านคุณตา-ยายก็ขายไปแล้ว เวลาไประยองก็ต้องพักโรงแรม แต่ก็ดีใจที่คนระยองมาขอให้ผมไปช่วยตั้งโรงเรียนใหม่ให้
ระยองเป็นจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก เมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว มีโครงการอุตสาหกรรมหลายโครงการ เช่น โครงการโซดาแอช และโครงการปิโตรเคมี เป็นต้น
โครงการเหล่านี้ ทำให้คนในชลบุรี และระยองเกิดความตื่นตัวทางด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ลึกไปกว่านั้นเป็นครั้งแรกที่ในสังคมเกิดความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ระหว่างการท่องเที่ยว การประมง และโรงงานอุตสาหกรรม
ชาวบ้านที่เป็นชาวประมงส่วนใหญ่หากินตามชายฝั่งจึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสีย และน้ำที่ใช้ระบายความร้อน เมื่อน้ำร้อนลงทะเล พวกแพลงตอน คือ กุ้ง หอย ปู ปลา ตัวเล็กๆ ก็ตายหมด ชาวประมงน้ำตื้นจึงมีปฏิกิริยาต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรมอยู่นาน
ผลกระทบอีกประการหนึ่งก็คือ ทางด้านความมั่นคงบริเวณชายฝั่งทะเลมีสถานที่ที่กองทัพเรือใช้ฝึกยกพลขึ้นบกอยู่สองจุด คือ ที่ศรีราชา และที่บ้านเพ แต่ปรากฏว่า ทั้งสองแห่งมีท่าเรือซึ่งตอกท่าเทียบเรือยาวออกไป ทำให้ยกพลขึ้นบกไม่ได้ ทหารเรือเหล่านาวิกโยธินที่ระยองจึงไม่พอใจที่มีโรงงานปิโตรเคมี และมีท่าเทียบเรือไปอยู่ที่นั่น
เมื่อมีถนนตัดใหม่ ความเจริญจึงกระจายไปตามถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ระยองมีตัวเมืองเล็ก มีถนนสายเดียวคือ ถนนหลักเมืองลงไปที่ปากน้ำประแส ตลาดระยองก็เหมือนชุมชนขนาดเล็ก พ่อค้าแม่ขายรู้จักกัน หลายคนเป็นญาติกัน
มาบัดนี้ ระยองมีทั้งโรงงานอุตสาหกรรม และมีสวนผลไม้ที่ผลิตเพื่อการส่งออก การรักษาสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนการประมงก็ยังทำอยู่ กะปิ น้ำปลาที่นี่มีชื่อเสียงมาก
คนเมืองระยองเป็นคนตรง คนเก่าคนแก่มักพูดว่าตนเป็น “เลือดระยอง” อาหารการกินที่นี่ก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น แกงหมูต้มใบชะมวง ทอดมัน ซึ่งออกรสหวาน ก๋วยเตี๋ยวระยองที่ไม่เหมือนผัดไทยเพราะไม่ใส่ถั่วลิสงผัดกับปูม้า และรสออกหวานนิดๆ ส่วนคนระยองแท้ๆ จะชอบกินแมงกะพรุนที่ไม่เหมือนแมงกะพรุนเส้นๆ ที่ร้านอาหารจีนทำ แต่เป็นแมงกะพรุนที่เอามาแช่น้ำปูนกินกับน้ำจิ้มถั่วตัด หากใครกินไม่เป็นจะรู้สึกแหยงๆ เพราะแมงกะพรุนเป็นชิ้นๆ เนื้อสีแดง ไม่ค่อยน่าดูเท่าไรนัก
ปู่ทวดผมเป็นคนระยอง ท่านเป็นเจ้าเมือง เป็นผู้สร้างพระเจดีย์กลางน้ำ และเป็นเจ้าของหนังตะลุงชุดใหญ่ ซึ่งเวลานี้อยู่ที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพล ผมจึงมีญาติอยู่เต็มเมือง เป็นพวกยมจินดา ส่วนพวกเปี่ยมพงศ์สานต์ก็เป็นญาติกัน สมัยก่อนญาติๆ ผมเป็นนายกเทศมนตรี และเป็น ส.ส.ด้วย มาสมัยนี้ไม่มีใครสืบทอดต่อ แต่มีนักธุรกิจสมัยใหม่มาแทน ผู้แทนเก่าๆ ไม่ได้รับเลือกมาหลายสมัยแล้ว
ผู้นำท้องถิ่นของระยองเป็นคนหนุ่มคนสาวที่ให้ความสำคัญแก่การศึกษา อยากให้ระยองมีโรงเรียนดีๆ โดยเฉพาะท้องถิ่น อบจ.มีงบประมาณที่ให้กับการศึกษามากพอควร เวลานี้ อบจ.ได้สถานที่ที่เป็นคุกเก่า เนื้อที่เกือบร้อยไร่ พอจะทำโรงเรียนได้
การที่ อบจ.จะมีโรงเรียนดีๆ ได้นั้น ก็ต้องอาศัยครู และการจัดการศึกษาให้แตกต่างไปจากโรงเรียนสังกัด สพฐ. ครูยังชินกับการอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น อบจ.จึงต้องหาทางจัดสวัสดิการ และค่าตอบแทนให้ครูที่ดีกว่าครูทั่วไป
เนื่องจากระยองมีโรงงานอุตสาหกรรมมาก ทางโรงเรียนจึงควรขอความร่วมมือจากธุรกิจเอกชนเหล่านี้ให้เข้ามาสนับสนุน โดยตั้งเป็นกองทุนไว้เพื่อนำเงินมาตอบแทนครูนอกเหนือไปจากเงินเดือน และสามารถช่วยในการฝึกอบรมครู ตลอดจนมีโครงการฝึกงานให้นักเรียนด้วย
การที่จังหวัดจะเจริญได้นั้น ท้องถิ่นจะต้องมีเงินเพียงพอที่จะบำรุงการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ท้องถิ่นมีบทบาทก็จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น
เวลานี้ ท้องถิ่นยังไม่ได้รับประโยชน์จากการมีโรงงานอุตสาหกรรมมากเท่าใดนัก โรงงานอุตสาหกรรมเพียงแต่ไปอาศัยพื้นที่จังหวัดผลิตสินค้าป้อนให้กับทั่วประเทศ เพราะโรงงานมักจะจดทะเบียนที่กรุงเทพฯ จึงไม่ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ องค์กรปกครองท้องถิ่นควรจะได้ภาษีโรงเรือนมากกว่านี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่องค์กรปกครองท้องถิ่นควรเรียกร้อง
ในเมืองไทยมี อบจ.และเทศบาลที่ก้าวหน้าหลายแห่ง ผู้นำท้องถิ่นส่วนใหญ่มีการศึกษาสูง หลายคนจบปริญญาโทจากต่างประเทศ และต่างให้ความสนใจทางการศึกษามากขึ้น แทนที่จะนิยมสร้างถนนหนทางแต่เพียงอย่างเดียว
ในระยะยาวท้องถิ่นจะได้งบประมาณเพิ่มมากขึ้น องค์กรปกครองท้องถิ่นจึงต้องคิดวางแผนการใช้เงินให้คุ้มค่า สำหรับระยองแล้ว การพัฒนาการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญเหลือแต่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น
ในการพัฒนาท้องถิ่น นอกจากคนที่อยู่ในจังหวัดแล้ว เวลานี้ยังมีความพยายามที่จะเสาะหาเชื้อสายคนระยองไปช่วยด้วย ผู้ที่เกษียณอายุจำนวนมากที่กลับไปอยู่บ้านเดิม สำหรับตัวผมเอง บ้านคุณตา-ยายก็ขายไปแล้ว เวลาไประยองก็ต้องพักโรงแรม แต่ก็ดีใจที่คนระยองมาขอให้ผมไปช่วยตั้งโรงเรียนใหม่ให้